Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลซึ่งกำหนดให้มีการจัดทำแผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ  เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์เฉพาะ  และมีความจำเป็นเร่งด่วนในส่วนของยุทธศาสตร์งานด้านการวิจัย  โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการรวบรวมแผนเสนองบประมาณของหน่วยงานวิจัยต่างๆ  ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล


            ด้วยเหตุนี้ วช.  จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดในภูมิภาคต่างๆของประเทศ  โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การวิจัยของกลุ่มจังหวัดแต่ละภูมิภาค  ซึ่งจะเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด  ที่สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลและแผนบริหารราชการแผ่นดิน  ที่ผ่านมา  วช.  ได้จัดทำนโยบายและแนวทางการวิจัยชองชาติมาแล้ว 6 ฉบับ  ตั้งแต่ปี 2545-2549  และตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา  คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 17  ธันวาคม  2545  ให้ วช.  เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนงบประมาณการวิจัยของประเทศในเชิงบูรณาการ 


            วช.  ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะปานกลาง  (2548-2550)  และได้เผยแพร่ไปยังหน่วยงานวิจัยต่างๆ  ในส่วนของภาคเหนือ  ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ศึกษาจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ  และเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น  จึงจัดให้มีการการประชุมเพื่อประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์ดังกล่าว  ผลจากการประชาพิจารณ์จะทำให้ได้รับยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดในภูมิภาค  นำผลจากการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยไปใช้สำหรับเป็นยุทธศาสตร์ปี 2550-2552  เกิดการกระจายงบประมาณการวิจัยไปยังภูมิภาคเพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยในทุกส่วนและทุกระดับของประเทศ  ตลอดจนส่งเสริมให้งานวิจัยตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น


            กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ  มีประเด็นปัญหาหลายด้านที่ต้องนำมาอภิปราย  ด้านทรัพยากรมนุษย์ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่มีอัตราการเพอ่มประชากรต่ำ  กลุ่มประชากรวัยแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานต่ำลง  ซึ่งต้องเร่งพัฒนาประชากรกลุ่มนี้เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ด้านทรัพยากรธรรมชาติประสบปัญหาความเสื่อมโทรม  ความขัดแย้งในการบริหารจัดการ  ด้านเศรษฐกิจต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  ในด้านสังคมนั้นพื้นที่เป็นเส้นทางผ่านของยาเสพติดตามแนวชายแดน  รวมทั้งการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว  และในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน  แม้ในเชิงกว้างจะได้รับการแก้ไขไปแล้วระดับหนึ่ง  แต่ในเชิงลึกยังมีกลุ่มคนยากจนเฉพาะที่ควรกำหนดเป็นเป้าหมายเพราะขาดโอกาสและอยู่ห่างไกล


            ในร่างยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ  สรุปผลการวิเคราะห์ออกมาว่า  จุดแข็งของภาคเหนือ  ได้แก่  ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์  ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  และกลุ่มประเทศเอเชียใต้  และภายในประเทศยังเป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (สี่แยกอินโดจีน)  ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน  ในส่วนของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม  ระบบครอบครัว  ชุมชน  และวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้อง  มีความแข็งแกร่งในหลายพื้นที่  และมีแนวโน้มศักยภาพความเข้มแข็งของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายพื้นที่ช่วยในการพัฒนาเพิ่มขึ้น  เศรษฐกิจมีการกระจายและความหลากหลายทั้งภาคเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  การท่องเที่ยว  การค้าชายแดน  มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากซึ่งเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้


            โอกาสในอนาคตของภาคเหนือ  ได้แก่  ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าต่างประเทศ  ผลสำเร็จของนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน  โครงข่ายด้านคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก  และแนวเหนือ-ใต้  ผ่านพื้นที่เข้าสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  และกลุ่มประเทศเอเชียใต้  ประกอบกับจีนเข้าสู่  WTO  และนโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นการเปิดตลาดขนาดใหญ่ของเอเชีย  เช่น  บังคลาเทศ  และอินเดีย  ทำให้ตลาดขยายเปิดกว้างขึ้น  นอกจากนี้ข้อตกลงทวิภาคีด้านการค้าระหว่างประเทศไทย-จีน  จะเพิ่มศักยภาพการตลาดของสินค้าเกษตร  เช่น  ลำไย  ผลไม้สด  และข้าวหอมมะลิ  เป็นต้น  การใช้ฐานเศรษฐกิจที่รัฐลงทุนไว้ปรับสู่การค้าที่เปิดกว้าง  ได้แก่  การปรับเปลี่ยนพันธุ์และการปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทานให้มีคุณภาพดีเพื่อส่งออกตลาดจีน  รวมถึงการส่งออกผลไม้  และทั้งนี้ควรใช้ผลจากการลงทุนพัฒนาเมืองหลัก  เชียงใหม่  พิษณุโลก  นครสวรรค์  อย่างต่อเนื่อง 


            อนึ่ง  ข้อมูลจากการประชาพิจารณ์  จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ  (2550-2552)  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2548  และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานต่างๆนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการวิจัย  และเสนอของบประมาณการวิจัยต่อไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net