Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 2 ก.ย. 48 "นันทขว้าง" ชี้ กรณี "แหม่มท้อง"สะท้อน สังคมไทยติด "วัฒนธรรมภาพลักษณ์" สนใจสิ่งฉาบฉวย หวือหวา   จากเรื่องธรรมดาโลกกลายเป็นกระแสที่ "สื่อ"ต้อง "ขาย"


นายนันทขว้าง สิรสุนทร  นักวิจารณ์ผู้ศึกษาวัฒนธรรมกระแสนิยม มองมิติการนำเสนอข่าว กรณีการตั้งครรภ์ของ น.ส. คัทลียา แมคอินทอช นักแสดงสาวชื่อดัง และเจ้าของฉายา "เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง" ว่า เป็นประเด็นที่ สื่อในเรื่องการขาย โดยมีสังคมเป็นผู้กำหนด แต่สังคมเองก็ถูกหล่อหลอมจากสื่อให้ชอบรับความฉาบฉวยแบบนี้ จนกลายเป็นเหมือนการทำปฏิกิริยาเคมี ระหว่างกันไปแล้ว


"เหตุที่สังคมชอบข่าวแบบนี้ เพราะถูกสื่อในวัฒนธรรมฉาบฉวย หล่อหลอมให้สนใจสิ่งที่วูบวาบ หวือหวา เช่น วัยรุ่นจะสนใจว่าส่งภาพมือถือยังไง โทรทัศน์ ก็จะสอนว่า โชว์ต่างๆ ทั้งเรียลลิตี้โชว์ เกมโชว์ จะเป็นผู้ชนะอย่างไร ประเด็นก็คือเมื่อถูกความคิดในสังคมสมัยใหม่สอนว่า เราแพ้ไม่ได้ จึงทำให้คนสนแต่ความฉาบฉวย ความลึกไม่มี " นายนันทขว้าง กล่าว


นายนันทขว้างกล่าวต่อว่า  ความฉาบฉวยนำมาสู่ความสนใจภาพลักษณ์ เป็นหลัก ในกรณีของ
 น.ส.คัทลียา เมื่อเข้าสู่วัฒนธรรมภาพลักษณ์ดังกล่าว จากเรื่องการท้องของผู้หญิงซึ่งปกติเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอต้องออกมาบอกกับสังคม เพราะเธอมีภาพลักษณ์สูงทางสังคม


ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของปัจเจก และสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้น นักแสดงคนอื่นๆ อาจมองกรณีของ เธอเป็นกรณีศึกษาก็ได้ ว่า การมีภาพลักษณ์ทางสังคมไม่ได้มีแต่ "รายรับ" แต่มี "รายจ่าย" ด้วย โดย  "รายจ่าย" ของ น.ส.คัทลียา ก็คือ การที่คนอยากรู้นั่นเอง


นอกจากนี้ นายนันทขว้าง ยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า ความฉาบฉวยดังกล่าว จะนำมาสู่การสร้างทัศนคติแบบใหม่ ของเด็กยุคใหม่ โดยยกตัวอย่างการที่สื่อนำเสนอข่าว ของ น.ส.เกศริน ชัยเฉลิมพล หรือ "น้องแนท" ซึ่งเป็นนักแสดงภาพยนต์ลามก อนาจาร แต่สื่อนำมาตีเป็นประเด็นจนมีชื่อเสียง ทำให้ช่วงหลัง เด็กยุคใหม่มองเรื่องดังกล่าวเป็นแนวทางที่นำมาสู่การมีมีชื่อเสียง หลายคนอยากเอาอย่าง โดยไม่คิดในเชิงลึกว่า ชื่อเสียงดังกล่าวมาโดยวิธีการอย่างไร


"สิ่งที่กลัวไม่ใช่ท้องหรือไม่ท้อง แต่เป็นห่วงว่าเด็กยุคใหม่ที่ชอบคุณแหม่ม คือยึดถือ มายาคติ ต่อเจ้าหญิง เมื่อท้องก่อนแต่ง จะคิดอย่างไร ดังนั้นเมื่อมีกรณีดังกล่าว กับเจ้าหญิงในเทพนิยาย จะทำให้เด็กคิดอย่างไรต่อกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิดนะ แค่ขอตั้งคำถามเอาไว้"


นายนันทขว้างให้ความเห็นต่อว่าการจะอยู่กับสังคมที่นิยมความฉาบฉวยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมภาพลักษณ์ คืออย่าไปสนใจกับปรากฏการณ์ต่างๆที่มีการเสนอออกมาอย่างมากมายให้มากเกินไป และต้องถอยออกมามองทำความเข้าใจให้ได้ ส่วนสื่อก็ควรหาจุดพอดีที่เหมาะสม


อย่างไรก็ตาม นายนันทขว้าง กล่าวว่า สื่อในปัจจุบันน่าสงสารมาก เพราะคนรับสื่อก็คือสังคม ซึ่งยังชอบที่จะรับข่าวลักษณะดังกล่าวอยู่


ทั้งนี้ นายนันทขว้าง ได้แบ่งกลุ่มผู้รับสื่อได้เป็นสามกลุ่ม โดยกลุ่มที่ใหญ่สุด ก็คือชอบที่จะรับข่าวแบบฉาบฉวย ขายภาพลักษณ์ ส่วนอีกกลุ่มก็โดนทำให้เชื่อง เช่น เด็กมากๆ  เลยไม่รู้ว่าจะปฏิเสธข่าวแบบฉาบฉวยอย่างไร จึงเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏทางสื่อคือจริงทั้งหมด วิเคราะห์สังคมไม่ได้ โดยคนในสองกลุ่มนี้มีเยอะมากจนกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางสื่อ


ส่วนกลุ่มที่เล็กที่สุด คือต้องการรับสื่อที่ลึกกว่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนามากกว่า แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มเหล่านี้ยังมีจำกัดพอสมควร



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net