Skip to main content
sharethis

ประชาไท—7 ก.ย. 48       ชาวแม่อายรอลุ้นคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดคดีถอนสัญชาติ   ขณะที่นักกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ชี้ ไม่ว่าแพ้หรือชนะชาวแม่อายก็ยังมีหวัง  เพียงต้องเดินให้ถูกช่องกฎหมาย


 


หลังจากกลุ่มนักวิชาการและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านแม่อาย กรณีปัญหาชาวบ้านถูกถอนสัญชาติ  เพื่อเตรียมคดีก่อนที่จะมีคำตัดสินชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด จ.เชียงใหม่  ในวันพรุ่งนี้  ได้ชี้แนะแนวทางเพื่อให้ชาวบ้านมีช่องทางกฎหมายต่อสู้ต่อไป


 


ทั้งนี้  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา  สายสุนทร  อาจารย์คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องคดีกับชาวบ้านแม่อายดังกล่าวว่า  เนื่องจากในวันพรุ่งนี้จะมีได้เพียง 2 ทางออกเท่านั้นแพ้กับชนะ


 


อย่างไรก็ตาม  การเตรียมคดีสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปของชาวบ้านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยขั้น ตอนกระบวนการตามกฎหมาย  โดยเฉพาะหากชาวบ้านถูกตัดสินให้แพ้คดีขึ้นมา  ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยว ข้องโดยตรงคือ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้


 


พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535


หมวด 1 การได้สัญชาติไทย  ในมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 


 


มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมือง


ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตาม วรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด



ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


 


เดินหน้าต่อแม้ชนะคดี


ทั้งนี้  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กล่าวว่า "สมมติว่าหากชาวบ้านชนะคดีก็อาจจะไม่ชนะทั้งหมด  เพราะผู้ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองมีโจทย์เพียง 800 กว่าคนเท่านั้น  ในขณะที่มีคนถูกถอนสัญชาติทั้งสิ้น 1,243 คน  แต่ถ้าศาลเขียนเพิกถอนคำสั่งทั้งหมดก็จะเป็นผลดีต่อชาวบ้านทั้งหมด"  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กล่าว


 


สำหรับอีก 400 กว่าคนที่ไม่ได้ลงชื่อเป็นโจทย์ฟ้องคดีกรมการปกครองนั้น  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ มองว่าจะไม่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญชะตากรรมเอง  คงจะต้องมีการล่าลายเซ็นทั้งหมด  โดยจะต้องเพิ่มชื่อชาวบ้านเหล่านี้เข้าไปด้วย  และจะต้องเตรียมคำฟ้องไว้ในส่วนนี้ด้วยเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้กลับสู่สถานะเดิม


 


อย่างก็ตาม ถ้าหาก 800 กว่าคน  ชนะคดีในวันพรุ่งนี้  การดำเนินการขั้นต่อไปก็คือจะต้องทำบัตรประชาชนใหม่  ทำทะเบียนราษฎรใหม่  เพราะตอนนี้ถูกพวกเขาได้ถูกถอนรายชื่อไปอยู่ในทะเบียน ทร.13 จึงต้องทำใหม่เป็นแบบ ทร.14 ตามเดิม  หลังจากที่พวกเขาถูกถอนชื่อไปเมื่อปี 2542  โดยจะเวลาในการทำทะเบียนใหม่ประมาณ 1-2 เดือน  แต่ถ้าไม่มีการเตรียมคดีให้รอบคอบรัดกุมก็อาจจะต้องใช้เวลานับปีเลยทีเดียว


 


แพ้คดี  ก็ยังมีหวัง


สำหรับหากผลตัดสินวันพรุ่งนี้  หากปรากฏว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายแพ้คดี  ชาวบ้านก็จะยังคงมีชื่อในทร.13  คือเป็นคนต่างด้าวเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายทั้งหมด  จึงจะต้องดำเนินการฟ้องคดีทะเบียนสัญชาติเป็นแบบเฉพาะกรณีต่อไป  ซึ่งก็ต้องเตรียมคดีตรงส่วนนี้ไว้ให้พร้อมด้วย


 


อย่างไรก็ดี  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  เห็นว่าหากพรุ่งนี้ชาวบ้านแพ้คดี  อย่างแรกชาวบ้านก็จะเสียใจและต้องเตรียมต่อสู้คดีกันใหม่ ซึ่งชาวบ้านบางคนเขียนภาษาไทยยังไม่เป็นก็ต้องเตรียมนักกฎหมายเข้าไปช่วย  อีกประการหนึ่งสำหรับชาวบ้านบางคนที่เกิดในประเทศไทย  พ่อและแม่เกิดที่ประเทศไทย ก็สามารถเพิ่มชื่อลงรายการได้ตามขั้นตอน  แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยปะปนอยู่ด้วยเหมือนกัน


 


กล่าวโดยสรุปก็คือ  ต้องสำรวจว่าชาวบ้านมีสัญชาติไทยหรือไม่  ถ้าพบว่ามีสัญชาติไทยก็ต้องเขียนคำฟ้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยตามกฎหมายต่อไป  แต่ถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์ คือไม่มีสัญชาติไทย ก็ต้องร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ของพ.ร.บ.สัญชาติ กันต่อไป


 


นั่นหมายความว่า หากชาวบ้านแพ้คดี  ก็ต้องฟ้องให้ศาลเชื่อว่าเป็นคนไทยต่อไปอีกยกหนึ่ง


 


อาจารย์คณะนิติศาสตร์  มธ. กล่าวต่อไปว่า  "เราฟ้องให้ทุกคนไม่ได้  เพราะถ้าพิสูจน์แล้วปรากฏว่าบางคนไม่ได้เกิดในประเทศไทยก็ต้องรับใบต่างด้าวเพื่อไปแปลงสัญชาติในภายหลัง  ซึ่งชาวแม่อายก็อยู่ในยุทธศาสตร์อยู่แล้ว เพราะมีบัตรสีชมพูที่แสดงถึงมีความกลมกลืนกับสังคมไทยอยู่แล้ว"


 


สำหรับชาวบ้านที่ยังไม่มีสัญชาติใดแน่ชัดก็ต้องมีระบบพิสูจน์สำรวจเพื่อช่วยทำให้ชัดเจนขึ้น  โดยจะต้องระดมนักกฎหมายลงไปช่วยชาวบ้าน  เพราะว่าบางคนพ่อแม่ไม่ได้เกิดในโรงพยาบาลไทย  ไม่มีหลักฐานใดๆ ก็ต้องมีการเตรียมให้ชาวบ้านพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้


 


ทั้งนี้  การแปลงสัญชาติ  หากว่าชาวบ้านเกิดในประเทศไทยแต่พ่อแม่เกิดนอกประเทศไทย  ก็จะใช้มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ยื่นคำร้องขอสัญชาติ  ส่วนชาวบ้านแม่อายซึ่งถือบัตรสีชมพูมาก่อน ก็สามารถใช้มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง สามารถฟ้องศาลเพื่อขอสัญชาติได้เลย


 


"กรณีดังกล่าวต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ  เนื่องจากชาวบ้านมีจำนวนมาก และบางคนรู้สึกกลัวที่จะรู้ว่าตนเป็นคนไทยจริงหรือไม่จริง  จึงต้องหาคนลงไปสอบปากคำจำนวนมากพอสมควร"  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กล่าวแสดงความเป็นห่วง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net