Skip to main content
sharethis

วันที่ 9 กันยายน 2548 สำนักข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ หรือ UNHCR ที่มาเลเซียแถลงว่า การสอบถามข้อมูลเบื้องต้นคนไทย 131 คน ที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย ดำเนินการเสร็จแล้ว คาดว่า จะใ้ช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 10 วันในการพิจารณว่า คนเหล่านี้เป็นใคร ข้ามไปมาเลย์เพราะอะไร


นางเจนิเฟอร์ พาโกนิส โฆษก UNHCR สำนักโฆษกเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บอกกับBBCว่า การตรวจสอบของUNHCR ไม่ได้เป็นการสรุปสถานภาพว่า คนเหล่้านี้ควรรับสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ และยังไม่ให้ข้อมูลเพิ่้มเติม จนกว่าจะสรุปข้อมูลเสร็จ


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ดูว่าคนเหล่านี้เป็นใคร หนีออกจากประเทศไทยด้วยเหตุผลใด


แถลงการณ์ยังให้ตัวเลขด้วยว่า ในจำนวน 131 คนนี้ 61 คนเป็นผู้ชาย ที่เหลือเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยเป็นเด็กถึง 49 คน อายุตั้งแต่ 5 เดือนถึง 17 ปี นอกจากนี้ ในหมู่สตรี ก็มีสองคนที่เป็นม่าย และสตรีอีกคนตั้งท้องได้ห้าเดือน


เจ้าหน้าที่ UN ทั้งที่กัวลาลัมเปอร์และที่เจนีวายังขอไม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ในขณะนี้


วันเดียวกัน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มยุวชนของพรรคปาส พรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียก็ออกมาชุมนุมประท้วง ที่หน้าสถานทูตไทย


นายซาลาฮุดิน อายุป หัวหน้ากลุ่มยุวชนของปาส ซึ่ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคปาส จากรัฐกลันตัน บอกว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยคลี่คลายสถานการณ์ภาคใต้อย่างมีมนุษยธรรม


เขาชี้ว่า การเดินทางออกจากพื้นที่ของคนกลุ่มใหญ่ ก็เป็นตัวชี้ชัดว่า มีความหวาดกลัวต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน


นายซาลาฮุดินขอให้รัฐบาลไทยทบทวนพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเปิดให้มีการเจรจาคลี่คลายเหตุรุนแรงโดยสันติ


นอกจากนี้ เขายังต้องการให้รัฐบาลให้หลักประกันความปลอดภัยกับประชาชนในพื้นที่


สำหรับชาวไทย 131 คนที่ถูกกักตัวอยู่นั้น นายซาลาฮุดินต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียให้ที่พักพิง ไม่ผลักดันออกนอกประเทศ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาด้านมนุษยธรรม


ด้านอาจารย์พี รามาซามี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียบอกว่า กรณีคนไทยกลุ่มนี้ ทำให้รัฐบาลมาเลเซียตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก


อาจารย์พี รามาซามี ชี้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันคนกลุ่มนี้ออกจากประเทศ เพราะรัฐบาลมาเลเซีย นอกจากจะเป็นประธานองค์การการประชุมอิสลามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเห็นอกเห็นใจของประชาชนต่อชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วย


"แต่ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน ในการที่รัฐบาลจะตัดสินใจให้ที่พักพิงกับคนไทย 131 คนนี้ จนถึงขณะนี้มาเลเซียไม่เคยให้สถานภาพผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการกับใคร"


อาจารย์พี รามาซามี บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเลือกทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ชาวอาเจะห์หลายหมื่นคน ที่หลบหนีภัยการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เข้ามาพักพิงในประเทศ เช่นเดียวกับชาวมุสลิมจากพม่าอีกจำนวนมาก


อาจารย์พี รามาซามี ชี้ว่าถ้าหากว่า มาเลเซียยอมรับคนไทยเหล่านี้อย่างเป็นทางการ ด้วยการให้สถานภาพผู้ลี้ภัย นอกจากจะถูกมองว่าก้าวก่ายกิจการของไทยได้แล้ว


"ยังอาจทำให้มีผู้อพยพทะลักเข้ามา พร้อมๆ กับเจอข้อกล่าวหาจากมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ที่มาพึ่งพิงว่าเลือกปฏิบัติ "


ส่วนการให้ที่พักพิงชั่วคราวนั้น หากมาเลเซียให้คงทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจเป็นแน่ เพราะทางการไทยดูเหมือนจะเชื่อว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบรวมอยู่ด้วย


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/thai/news/story/2005/09/050909_1235g090905tx.shtml

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net