Skip to main content
sharethis


"ที่น่าห่วงที่สุดคือ หากฝ่ายการเมืองคือนายกรัฐมนตรีไปเยือนสหรัฐคราวนี้ แล้วต้องการเร่งให้การเจรจาเสร็จโดยเร็วก่อนฤดูใบไม้ผลิปีหน้า จะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย" ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวในการสัมมนา ""ข้อเสนอแนะก่อนหายนะ"การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-สหรัฐฯ"


ดร.สมเกียรติระบุสาเหตุแนวโน้มการเร่งเจรจาครั้งนี้ว่า ขณะนี้การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐไปยังไม่ถึงครึ่งทาง และสหรัฐไม่พอใจความล่าช้าดังกล่าว จึงมีการอ้างเรื่อง Trade Promotion Authority (TPA) ของสหรัฐว่ากำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้รัฐสภาสหรัฐอาจเลือกแก้ไขความตกลงที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละมาตรา  แทนที่จะพิจารณารับทั้งหมดหรือไม่รับทั้งหมดตามที่ TPA กำหนด ซึ่งในเรื่องนี้หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย (นายนิตย์ พิบูลสงคราม)ได้แสดงท่าทีที่เหมาะสม โดยระบุชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ควรเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องภายในของสหรัฐ แต่การทำงานของคณะเจรจาทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับบัญชาของฝ่ายการเมือง


 


"ผมอยากให้นายกฯ ยืนจุดยืนเดิม คือ การเจรจาจะไม่มีเงื่อนตายของเวลา" นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอกล่าว


 


ทั้งนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ในวันที่ 19 ก.ย.นี้นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งคาดว่าจะได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสหประชาชาติ นโยบาย Open Skies และความร่วมมือในด้านต่างๆ 


 


นอกจากนี้ดร.สมเกียรติ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเจราจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐด้วยว่า ประเทศไทยคงไม่สามารถนำบทเรียนจากการเจรจากับประเทศต่างๆ มาเป็นบทเรียนได้ เพราะอำนาจในการต่อรองของสหรัฐนั้นสูงกว่าประเทศไทยมาก และมากกว่าทุกประเทศที่ไทยเคยเจรจาด้วย อีกทั้งกรณีของสหรัฐนั้นคาดว่าจะต้องมีการแก้กฎหมายหลายสิบฉบับ


 


ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า การผูกขาดที่มาในนามความตกลงการค้าเสรี ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาน่าเป็นห่วงมาก เพราะเอฟทีเอจะขยายสิทธิผูกขาดไปเกินขอบเขตของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก (TRIP Plus) และไปไกลกว่ากฎหมายของสหรัฐเองด้วย (US Plus) ขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ในไทยก็ยังคงผูกขาดอย่างเหนียวแน่น ตัวอย่างเช่น การทำเอฟทีเอที่ผ่านมาไม่เคยเปิดเสรีโทรคมนาคมในไทยเลย


 


"แม้ว่าในที่สุดเราจะเจรจากันได้แล้ว และดูเหมือนได้ประโยชน์บ้าง แต่การบังคับใช้ก็ยังขึ้นอยู่กับอำนาจที่แท้จริงทางเศรษฐกิจ การเมือง"ดร.สมเกียรติกล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีสหรัฐ-แคนาดาที่มีข้อพิพาทกันเรื่องภาษีการส่งออกไม้สนกว่า 10 ปี ซึ่งแม้ศาลจะพิพากษาให้สหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว และจ่ายเงินคืนให้แคนาดาเป็นเงิน 4 พันล้าน แต่สหรัฐก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม แม้จะมีการอุทธรณ์แล้วก็ตาม


 


ประเด็นสุดท้ายที่นักวิชาการจาก TDRI กล่าวถึงคือเรื่องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการเจรจา โดยเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดการมีส่วนร่วมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้สะท้อนโอกาสและความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงรัฐบาลควรตีความมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญว่าเอฟทีเอมีผลต่อเขตอำนาจของรัฐ จึงควรให้รัฐสภามีส่วนร่วม ไม่ใช่เปิดรับฟังความคิดเห็นเพียง 3 องค์กรหลัก คือ  สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


 


"สหรัฐเป็นตัวอย่างที่แย่มาก ที่ขอร้องให้คณะเจรจาไทยไม่เปิดเผยข้อมูลระหว่างขั้นตอนเจรจา แม้เราจะไม่ได้ยอมรับตรงนั้น แต่กระนั้นก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่ควร" ดร.สมเกียรติกล่าว


 


ด้านศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ประธานสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม กล่าวถึงสถานการณ์สังคมไทยหลังยุคเปิดเสรีการค้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตั้งคำถาม 4 คำถามว่า 1.เชื่อได้หรือไม่ว่าไทยมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ การเมืองเท่ากับสหรัฐ  2.เชื่อได้หรือไม่ว่าผู้เจรจาฝ่ายไทยมีข้อมูลเทียบได้กับสหรัฐ 3.เชื่อได้หรือไม่ว่าผู้เจรจาฝ่ายไทยเชี่ยวชาญกฎหมายดีเท่าหรือดีกว่าสหรัฐ และ4.เชื่อได้หรือไม่ว่าคณะผู้บริหารไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและจะเจรจาเพื่อประโยชน์คนไทย


 


"หากตอบคำตอบหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นว่า "ไม่เชื่อ" ก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวเองแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าในระยะเริ่มต้นจะผลิตมากขึ้นแต่จะเกิดแย่งชิงทรัพยากร ผู้ที่อ่อนด้อยจะเสียเปรียบที่สุดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง ขอย้ำว่า แทนที่จะโทษบุคคล ควรโทษความโลภของมนุษย์ที่ถูกกระตุ้นตลอดเวลา และความเสื่อมทางด้านจริยธรรมของวิชาเศรษฐศาสตร์ อันเนื่องมาจากเราได้เลือกทางเดินที่มีกระบวนการในการทำลายตัวเอง"ดร.อภิชัยกล่าว


 


 


 


 อ่านข่าวประกอบ ภาคประชาชนรุกสื่อสาร 2 ทาง ถ่ายทอดสดชำแหละ "เอฟทีเอ" ผ่านเว็บไซต์


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=700&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net