Skip to main content
sharethis


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในจำนวนรัฐมนตรี - รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ลงไปร่วมคลี่คลายแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "จาตุรนต์ ฉายแสง" ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ สูงสุด ถึงแม้ความคิด ความเห็น ของนักการเมืองผู้นี้ จะได้รับการตอบสนองจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอัตราค่อนข้างน้อยอย่างยิ่งก็ตาม


          


พลันที่นักการเมืองที่กล่าวได้ว่า เป็นขวัญใจของคนชายแดนใต้ในยามนี้ ผันกายจากตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรี" พ้นจากหน้าที่กำกับดูแล มาดำรงตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ" จะมีอะไรบ้างเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการศึกษา ใน 3 จังหวัดชายแดนแห่งนี้ ที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับการเรียนการสอนในโรงเรียนปอเนาะ


           


บรรทัดต่อไปนี้ คือ คำตอบเบื้องต้น


 


ขอทราบรายละเอียดยุทธศาสตร์การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


            การจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักใหญ่ ก็คือ การจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคสังคม โดยเฉพาะให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง


            ตรงนี้ มันสอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ ต้องการเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง


การจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องดูว่าประชาชนใน 3 จังหวัดนี้ ต้องการอะไร ประชาชนก็ต้องการการศึกษาสายสามัญทั่วไป เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้มีความรู้ในวิชาหลักๆ ทั้งหลาย ที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ เรียนต่อได้ มีความก้าวหน้าต่อไปได้


ขณะเดียวกันในพื้นที่ 3 จังหวัด ยังต้องการศึกษาทางศาสนา ต้องการเรียนรู้คำสอนทางศาสนามากกว่า หรือแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ขณะที่การศึกษาด้านภาษา ก็จะมีลักษณะเฉพาะ คือ  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก จึงต้องให้การศึกษาทั้งภาษามลายูท้องถิ่น และการศึกษาภาษามลายูกลาง และศึกษาภาษาต่างประเทศอื่น เป็นภาษาที่ 3 เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น


ที่สำคัญ ก็คือ การศึกษาภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน หรือภาษาอื่นๆ อาจจะแตกต่างกับการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ทั้งหมดจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนภาษาไทย ของโรงเรียนใน 3 จังหวัดนี้


            การสอนภาษาไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายมลายู ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น เช่น การสอนภาษา ถ้าสอนเหมือนจังหวัดต่างๆ ทั่วไป จะไม่ได้ผล เราพบว่าการเรียนการสอนเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งต่ำ จึงต้องมาคิดหลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่นี้


ถ้าเราปรับปรุงการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลสัมฤทธิ์ก็จะดีขึ้น จะช่วยให้การเรียนการสอนวิชาอื่นๆ ประสบความสำเร็จมากขึ้น ถ้าปรับปรุงหลักสูตรของการเรียนการสอนวิชาต่างๆ รวมทั้งหลักสูตรของท้องถิ่นให้ดีขึ้น ก็จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนสูงขึ้น


เมื่อถึงเวลานั้น เราเชื่อว่านักเรียนจะอยู่ในระบบการศึกษา ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ขีดความสามารถในการเข้าถึงการประกอบอาชีพ  เข้าถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น


            ในส่วนของการคำนึงถึงลักษณะเฉพาะ ถ้าในแง่ศาสนาก็มีเรื่องการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษา ซึ่งมีการทำกันไปแล้ว ทั้งในปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ต่อไปเราจะเพิ่มการเรียนการสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐ หลักสูตรเนื้อหาจะมาจากความร่วมมือกับผู้นำศาสนาในพื้นที่


แน่นอนเราจะมีการเทียบโอนวิชา และวุฒิการศึกษาให้ จะทำให้เด็กสามารถโอนหน่วยกิตจากที่หนึ่งไปเรียนยังอีกที่หนึ่งได้


           


ในส่วนของผู้ไปเรียนต่างประเทศ จะมีการรับรองหรือเทียบวุฒิการศึกษาให้หรือไม่


            นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่จะต้องคิดแก้ปัญหาให้กับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน แต่บางสาขาอาจจะยากหน่อย เช่น สาขาแพทย์  ส่วนในสาขาอื่นๆ กำลังคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะดึงเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ เพื่อจบจากต่างประเทศมาแล้ว สามารถกลับมาทำงานได้ มีงานทำ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม


 


หมายความว่า ต่อไปจะมีการสอนภาษายาวีในโรงเรียน


            ปัจจุบันมีการสอนภาษามลายูท้องถิ่น  ภาษายาวี ภาษามลายูกลางในโรงเรียนจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว เราจะสอนภาษามลายูกลาง ซึ่งก็มีการสอนอยู่บ้างแล้ว แต่จะมีโครงการสอนภาษามลายูกลางที่ได้มาตรฐาน ทั้งโดยมหาวิทยาลัย โดยสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน และโดยบางโรงเรียน ซึ่งจะพัฒนาโครงการเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น


            ในเรื่องภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่เด็กใช้ประจำวัน ตอนนี้ก็มีการเรียนอยู่ในโรงเรียนตาดีกา เรียนอยู่ในโรงเรียนปอเนาะ สิ่งที่จะเป็นเรื่องใหม่เลยทีเดียว ก็คือ จะมีการคิดโครงการสอน 2 ภาษา คือ ภาษาไทย - มลายูท้องถิ่น


เริ่มต้นให้เขาเรียนภาษามลายูท้องถิ่นก่อน จะโดดมาเรียนมลายูกลางเลยไม่ได้ โดยจะให้เรียนภาษามลายูท้องถิ่นกับไทย เป็นหลักสูตร 2 ภาษา ซึ่งต้องมาคิดรายละเอียดในการพัฒนาหลักสูตรกันพอสมควร เพราะจะไม่แยกขาดจากกันว่า เมื่อไปเรียนโรงเรียนตาดีกาได้เรียนภาษายาวี พูดคุยกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่น จากนั้นก็เรียนภาษาอาหรับ เสร็จแล้วพอมาโรงเรียนในระบบก็สอนเฉพาะแต่ภาษาไทย การศึกษาแบบนี้ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น ก็ส่งเสริมเสียให้มีการเรียนการสอน 2 ภาษา ทั้งในโรงเรียนของรัฐ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา


 


เรื่องมหาวิทยาลัยนราธิวาสคืบหน้าไปถึงไหน


            คืบหน้าไปแล้วพอสมควร ตอนนี้มหาวิทยาลัยนราธิวาสมีกฎหมายออกมาแล้ว มีการเตรียมเปิดคณะต่างๆ หลายคณะ มีคณะอิสลามศึกษาด้วย ขณะนี้กำลังขอให้เพิ่มคณะที่มีการศึกษาเชื่อมโยงกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่ใช่อิสลามศึกษา แต่หมายถึงหลักสูตรการเงิน การธนาคารอิสลาม เป็นต้น


สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ กับมหาวิทยาลัยนราธิวาสก็ยังมีอยู่ จะพยายามขอความร่วมมือในสาขาวิชาอื่นๆ ที่มิใช่ศาสนาด้วย


            ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แยกออกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นอีกมหาวิทยาลัย ขณะนี้มีการยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาแล้ว อยู่ในระหว่างการนำร่างมาดูกันอยู่ จากนั้น จะนำร่างไปขอความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย เสร็จแล้วส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอคณะรัฐมนตรี นำเข้าพิจารณาในสภาต่อไป โดยจะพยายามนำเข้าสภา ภายในสมัยประชุมนี้


 


งานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


            การเยียวยาส่วนใหญ่ เข้าที่เข้าทางไปมาก มีการวางกฎกติกากันไว้หมดแล้ว มีการวางระบบให้จังหวัดดำเนินการได้เองโดยเร็ว มีการโอนเงินให้มาทดรองจ่าย และนำไปใช้จ่ายได้เลย ที่ยังมีปัญหาในรายละเอียด คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ ยังชี้แจงต่อประชาชนไม่ค่อยถูก และยังมีช่องว่าง บางทีเกิดเหตุการณ์แล้วความช่วยเหลือยังไปถึงช้าอยู่ เรื่องนี้ต้องอาศัยคนเข้ามาช่วยกันดู มีระบบติดตามประเมินผล


            นอกนั้น ที่ยังมีเรื่องค้างอยู่ เช่น การทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ การทำบุญให้ผู้เสียชีวิตในกรณีกรือเซะ ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2548 ก่อนถึงช่วงเดือนรอมฎอน หรือถือศีลอด


            ส่วนเรื่องที่กำลังทำอยู่ ซึ่งยังคืบหน้าไม่มากนัก แต่มีเครือข่ายในการทำงาน และคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ก็คือ การค้นหาคนหาย เพื่อช่วยครอบครัวผู้ที่สูญเสียญาติพี่น้อง ไม่ใช่ไปค้นหาเอง แต่หมายถึงว่า สืบค้นหาครอบครัวไหน มีใครสูญหายบ้าง ส่วนรายละเอียดการที่จะไปตามหาคนหาย คงต้องอาศัยหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ


 


การติดตามหาคนหายมีปัญหาหรือไม่ เพราะนายสตอปาร์ อาแว ซึ่งอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ของท่าน ยังถูกลอบยิง


            อันนี้ยังไม่ทราบว่า เกิดจากกรณีอะไร ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไรกันแน่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้กับคนทำงานในพื้นที่ ก็น่าจะมีผลกระทบในการทำงานอยู่บ้าง แต่คิดว่าคงต้องมีการทำความเข้าใจกัน ในแง่ของผู้ที่รับผิดชอบงานทางด้านความมั่นคง ก็ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีนโยบายที่จะให้ใครดำเนินการอะไรนอกกฎหมาย เมื่อมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น ก็ต้องหาข้อเท็จจริงให้ชัดเจน จะต้องซักซ้อมทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก


 


ในฐานะคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้มีส่วนดำเนินการอะไรไปมากน้อยแค่ไหน


            ผมไปร่วมประชุมเป็นประจำ ในส่วนของผมได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนไปแล้วหลายเรื่อง บางส่วนก็เป็นเรื่องที่คณะกรรกมาอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้นำไปเสนอต่อรัฐบาล


            ในส่วนที่ผมเสนอไป ก็คือ การใช้กระบวนการยุติธรรมให้ถูกหลักนิติธรรม และการนำกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ซึ่งอันนี้ได้นำมาใช้ไปแล้ว เรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการอำนวยการยุติธรรมระดับชาติ ไว้ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยกร่างคำสั่งขึ้นมาแล้ว ในเร็วๆ นี้ คงเสนอรัฐบาลได้


            นอกนั้น ก็จะมีเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย การติดตามคดีตากใบ การติดตามให้ความเป็นธรรมกับคดีต่างๆ แล้วนำมารวบรวมให้เป็นระบบ อันนี้ทำเป็นข้อเสนอในเชิงยุทธศาสตร์ ต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net