Skip to main content
sharethis


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-13  ก.ย.48                  ชาวบ้านแม่อายโต้สร้างฝายกั้นน้ำแม่ฮ่าง  ไม่โปร่งใส  ระบุ มีการแอบอ้างรายชื่อชาวบ้านว่าต้องการฝาย  แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนสวนส้มโดยการต่อท่อดูดน้ำไปใช้ในสวนส้ม  จนเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกันอย่างหนัก


 


ตามที่มีชาวบ้านแม่อาย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.) ให้ทำการตรวจสอบกรณีมีการสร้างฝายคอนกรีตกั้นต้นน้ำแม่ฮ่าง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำ  แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นสร้างฝายขึ้น เพื่อผันน้ำไปใช้ในสวนส้มขนาดใหญ่นั้น 


 


ล่าสุด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.) ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อสอบหาข้อเท็จจริง ขึ้นที่ห้องประชุมปู่หมื่น  ที่ว่าการอำเภอแม่อาย  จ.เชียงใหม่  โดยมีตัวแทนของจังหวัด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่  อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง  ตัวแทนนายอำเภอแม่อาย และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาทางออกร่วมกัน


 


นายพงษ์พันธ์  ตติยา  คณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง  3  อำเภอ ภาคประชาชน  กล่าวว่าในเอกสารขออนุญาตสร้างฝายกั้นลำน้ำแม่ฮ่าง  ที่ทางอำเภอและอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ระบุไว้ว่าเพื่อเป็นการแก้ ไขปัญหาภัยแล้ง  รวมทั้งในพื้นที่การสร้างฝายนั้นไม่มีต้นไม้ใหญ่นั้นถือว่าเป็นข้อเท็จทั้งสิ้น  เพราะเมื่อเข้าไปดูแล้วจะเห็นว่า ได้มีการนำท่อดึงเข้าไปในสวนส้ม ซึ่งเป็นการแย่งน้ำชาวบ้าน  นอกจากนั้น ยังมีการทำลายพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง  และดูเหมือนว่ามีการรุกพื้นที่ป่าเข้าไปคาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ถัดไปอีกด้วย


 


"ทำไมถึงต้องมีการอนุญาตให้สร้างฝายในเขตพื้นที่อุทยานฯได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นนายสุวัฒน์  ตันติพิพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งมาที่อำเภอแล้วว่า  พื้นที่ที่ขอก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนั้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ซึ่งในทางปฏิบัติ การดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือทำให้น้ำในลำน้ำ  ลำห้วย หนองบึงท่วมท้น หรือเหือดแห้ง  ไม่สามารถกระทำได้  แต่ทางอำเภอกับอุทยานฯ ก็ยังมีการอนุญาตให้มีการสร้างฝายดังกล่าว" นายพงษ์พันธ์  กล่าว


 


ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 7 อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง กล่าวว่า  กรณีที่มีการสร้างฝายบริเวณต้นน้ำแม่ฮ่าง  ในส่วนของอุทยานฯ นั้นมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียงการรวบรวมเอกสารข้อมูลขออนุญาตก่อสร้างฝาย  ก่อนส่งให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติพิจารณา  ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2536 เท่านั้น ซึ่งในระเบียบสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด  และก่อนหน้านั้น  ก็ได้มีการพูดคุยกับนายอำเภอ  ซึ่งตนบอกกับนายอำเภอว่า หากโครงการสร้างฝายกั้นน้ำแม่ฮ่าง นั้นเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ป่า  และทางอุทยานฯ สามารถใช้น้ำจากการสร้างฝาย  ก็สามารถทำได้


 


นายสมชาย  ประทุมเมศ  ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ  ต.แม่สาว อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่  ได้โต้แย้งว่าโครงการสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำแม่ฮ่าง นั้นมีการเสนออนุมัติ และเร่งสร้างอย่างรีบด่วน  ซึ่งสาเหตุนั้นก็เพราะว่า  มีการปลอมเอกสาร  ปลอมรายชื่อผู้ใหญ่บ้าน และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่สาว แม่ฮ่าง  กาวีละ  รวมทั้งชาวบ้านที่เป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด  เข้ายื่นขอเสนอโครงการให้มีการสร้างฝายผ่านทางอำเภอ และอุทยานฯ  โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ใดๆ  ทั้งสิ้น


 


"ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้  ถือว่าไม่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว  เนื่องจากไม่มีการทำประชาพิจารณ์ร่วมกับชาวบ้านก่อน  โดยมีการแอบอ้างชื่อชาวบ้านว่าต้องการฝาย  โดยรับเงินงบประมาณจากกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้มไปสร้าง  อีกทั้งเมื่อสร้างฝายเสร็จแล้ว  ก็มีการแย่งน้ำชาวบ้าน  ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่า  น้ำในลำห้วยจะไหลลงท่อของนายทุนสวนส้มก่อน  ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ข้างล่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  ดังนั้น  ปัญหานี้จะต้องมีการตรวจสอบต้นตอของปัญหาและทำการแก้ไขโดยเร็ว  เพราะมิฉะนั้น  ก็จะมีการเสนอโครงการอย่างนี้เข้าไปสร้างในพื้นที่อื่นๆ  เรื่อยๆ" นายสมชาย  กล่าว


 


ในขณะที่ นายสมศักดิ์  เขื่อนแก้ว เลขานุการสิ่งแวดล้อม ต.แม่สาว  กล่าวว่า ตั้งแต่มีการสร้างฝายๆ แม่ฮ่างขึ้น  มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะในการประชุมเพื่อหาข้อสรุปกันในวันนั้น  ทางกลุ่มนายทุนสวนส้มได้พยายามแสดงการความเจ้าพ่อข่มขู่และใช้อิทธิพลกับตน  ซึ่งฝ่ายปกครองอำเภอก็นั่งอยู่ตรงนั้น  และตนอาจจะถูกคุกคามชีวิตในวันข้างหน้าก็ได้  ดังนั้น  จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้


 


อย่างไรก็ตาม นางสุนี  ไชยรส  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอทางออกว่า ให้ทางอำเภอแม่อาย และอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง  ทำบันทึกข้อเท็จจริง ลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการ ตรวจสอบความเป็นมาของการสร้างฝาย  การตัดถนนเข้าไปในผืนป่า  การบุกรุกป่าของนายทุนสวนส้ม  และการต่อท่อดึงน้ำจากลำห้วยต้นน้ำในเขตอุทยานฯ และป่าสงวน  ซึ่งชาวบ้านรายงานว่ายังมีอีกหลายพื้นที่   ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว  ดังนั้นจะต้องเข้าไปตรวจสอบและรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net