Skip to main content
sharethis

ที่พิเศษ 3/2548                                                   ที่ทำการสมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ


                                                                        เลขที่ 559 หมู่ที่ 9 ตำบลข่วงเปา


                                                                        อำเภอจอม จังหวัดเชียงใหม่ 50160


                                            โทรศัพท์/โทรสาร 053-341325,09-8523242


                                               


                                                15 กันยายน  2548


 


เรื่อง                  ขอคัดค้านการจัดทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธาร


การเรียน             ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน


อ้างถึง                1. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... (ฉบับผ่านสภาผู้แทนราษฎร)


                        2. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... (ฉบับวุฒิสภาแก้ไขและผ่านวุฒิสภา)


สิ่งที่ส่งมาด้วย      1. การวิเคราะห์ความเหมาะสมของพระราชบัญญัติป่าชุมชน


                        2. ข้อมูลและข้อคิดเห็นเพื่อพิจารณา


 


            ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ... และจากการติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่ม NGOs ที่เรียกร้องต้องการทำป่าชุมชน (ป่าใช้สอยของชุมชน) ในป่าทุกประเภท  แม้ในเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศ และแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งสุดท้ายของสัตว์ป่า รวมทั้งป่าต้นน้ำลำธาร อันเป็นแหล่งน้ำซึมน้ำซับซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่าและอากาศ) ซึ่งเหลือน้อยเกินไปแล้วและไม่ควรมีใครเข้าไปใช้ประโยชน์โดยตรงอีก


 


สมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) ชมรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม อำเภอจอมทอง ชมรมเหมืองฝายอำเภอจอมทอง เครือข่ายองค์กรนักอนุรักษ์ป่าต้นน้ำทุกภาคของประเทศ รวม 31 องค์กร นักวิชาการด้านนิเวศวิทยา สังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมกันคัดค้านการทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธารมาโดยตลอดกว่า 10 ปี


 


กลุ่มผู้คัดค้านข้างต้นนี้ คือ กลุ่มเกษตรกรพื้นราบที่ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเสื่อมโทรมและการหมดไปของป่าต้นน้ำลำธารที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วภาคเหนือ เราคือเกษตรกรพื้นราบทั่วภาคเหนือที่ได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน แผ่นดินถล่ม  นาล่ม พืชผลเสียหายในฤดูฝน และเผชิญกบความแห้งแล้ง สัตว์เลี้ยง พืชผลเสียหาย เพราะขาดแคลนน้ำในฤดูร้อนทุกปี ปัญหาที่เกิดดังกล่าวนับวันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น


 


ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรพื้นราบทั่วภาคเหนือ และทั่วประเทศมันสวนทางกับแนวคิดของกลุ่มผู้เรียกร้องให้ทำป่าชุมชนในป่าทุกประเภท แม้ในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งเกษตรกรพื้นราบผู้ได้รับความเสียหายได้พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมาตลอด แม้การเซ็นชื่อ 76,000 ชื่อ (เจ็ดหมื่นหกพัน) เพื่อร่วมกันคัดค้านพระราชบัญญัติป่าชุมชนเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือ ขอไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์ เราขอให้ยกเว้นเพียงป่าประเภทเดียวเท่านั้น คือ ป่าอนุรักษ์ เพื่อความอยู่รอดของเรา ซึ่งเป็นเกษตรกรพื้นราบ เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว และชุมชนของเกษตรกรพื้นราบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องการรักษาป่าอนุรักษ์ไว้เป็นป่าต้นน้ำลำธารเพื่อประโยชน์ที่จะได้รับ คือ "น้ำ" อันจะเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับการเกษตร


 


NGOs และกลุ่มผู้เรียกร้องให้ทำป่าชุมชนในป่าทุกประเภท ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่าอนุรักษ์อยู่อย่างเข้มข้น ทั้งในรูปของการทำไร่เลื่อนลอย การใช้ไม้ฟืน การล่าสัตว์ การขยายพื้นที่ทำกิน การบุกรุกป่า ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างความเสียหาย และความเสื่อมโทรมโดยตรงให้กับป่าอนุรักษ์ตลอดเวลา กลุ่มผุ้เรียกร้องต้องการขยายการใช้ประโยชน์จากป่าอนุรักษ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย (พ.ร.บ.ป่าชุมชุนฯ) เพื่อแลกกับ "การสัญญา" ว่าจะช่วยดูแลรักษาป่า แต่ในมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติฯ ที่ผู้เรียกร้องร่วมกันร่างขึ้น ล้วนสะท้อนอันตรายต่างๆ  ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้ และธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น การทำไม้ การล่าสัตว์ในป่าชุมชนได้ เป็นต้น


 


ทรัพยากรป่าไม้เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ไม่ควรที่จะมีสิทธิ์เข้าไปใช้ประโยชน์โดยตรง เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับประชาชนทั้งประเทศแล้ว ยังเสี่ยงต่อความเสียหายต่อระบบนิเวศของป่า  และหากมีคำถามว่า "หากไม่อนุญาตให้ทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์แล้วชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์จะอยู่กันอย่างไร" คำตอบคือ "พระราชบัญญัติป่าชุมชนฯ มิได้มีขอบเขตครอบคลุมการอยู่ในป่าของชุมชนใดๆ"


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรพื้นราบซึ่งรวมตัวกันเป็น สมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ พร้อมองค์กรเครือข่าย และประชาชน จึงมีมติร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ดังนี้


1)     ขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ... ( ฉบับผ่านวุฒิสภา)


2)     ขอคัดค้านการจัดทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์และทั้งมิให้มีบทเฉพาะกาลใดๆ ที่จะเปิดโอกาสให้มีการทำป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธารโดยเด็ดขาด


 


หากคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมทางสมาพันธ์ฯ ยินดีจะมาพบและให้ข้อมูลทันที


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


 


ขอแสดงความนับถือ


นายประพัฒน์ เรือนคำฟู


ประธานสมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน)


 


 


                       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net