ไม่รอแล้ว!กม.ป่าชุมชน ท้องถิ่นเดินหน้าออกบัญญัติดูแล ดิน-น้ำ-ป่า

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-16 ก.ย.48             นักวิชาการ ม.มหิดล-มช.จับมือ อบต. เตรียมดันร่างข้อบัญญัติเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน และป่าโดยชุมชน

 

"ทำอย่างไร  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงจะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนได้  เหมือนกับกรณีที่ชาวบ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงาได้ลุกขึ้นร้องเรียนที่มีกลุ่มนายทุนบุกรุกป่า 30,000 ไร่ เมื่อไม่นานมานี้"  นายไพสิฐ  พาณิชย์กุล  อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าว

 

วานนี้( 15 ก.ย.) ที่ห้องมัณฑะเลย์  สถานบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กรมส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  และสาขาวิชานิติศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ  เรื่อง แนวทางในการจัดทำข้อบัญญัติขององค์กรปกครองท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดินและป่าโดยชุมชนขึ้น  โดยมีผู้นำท้องถิ่น ทั้งกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลในเขต จ.เชียงใหม่เข้าร่วม

 

นายไพสิฐ  กล่าวว่า  แนวคิดที่เสนอแนวทางให้มีการร่างข้อบัญญัติเรื่อง การจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน และป่าโดยชุมชนในครั้งนี้  เคยมีมาก่อน  เมื่อครั้งสมัยที่ นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนายจาตุรนต์  ฉายแสง  เป็นรองนายกรัฐมนตรี  โดยมีเป้าหมาย  ก็เพื่อต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาจัดการดูแลทรัพยากรดิน  น้ำ ป่า โดยชุมชนได้อย่างไร 

 

นายสัญชัย  สูติพันธ์วิหาร  รองคณบดีฝ่ายวิจัย  คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา เราจะเห็นข้อจำกัดของระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเมืองไทยกันดีว่า  ในปัจจุบัน  ยังคงมีการใช้กฎหมายที่รัฐกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด  ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาดูในเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่น   จะเห็นว่ายังมีช่องทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการร่างข้อบัญญัติในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนได้

 

ด้านนายไตรภพ  แซ่ย่าง  แกนนำชาวบ้านม้งดอยสุเทพ-ปุย อ.เมือง  จ.เชียงใหม่   ได้แสดงความคิดเห็นว่า  ที่ผ่านมาในชุมชนของตนก็มีการออกกฎระเบียบในการจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่นกันอยู่แล้ว  เช่น  ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในชุมชน   ซึ่งหากมีการออกกฎระเบียบในแต่ละตำบล  ในแต่ละอบต. ให้เป็นข้อบังคับท้องถิ่นเพื่อจัดการดูแลทรัพยากรดิน  น้ำ ป่าได้  ก็จะเกิดผลตามอัตโนมัติ  โดยไม่ต้องไปรอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

 

นายเฉลิม  อันวิเศษ  ตัวแทนลุ่มน้ำแม่ตาช้าง  อดีตกำนัน และประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปง  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า  ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้น  มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนเข้ากว้านซื้อที่ดิน  เพื่อทำรีสอร์ตกันหลายราย  และที่สำคัญแย่งน้ำจากลำห้วยเขียดกับลำห้วยแม่ฮะไปใช้เพื่อธุรกิจของตัวเอง

 

"ซึ่งในขณะนั้น  ตนเป็นประธานสภา อบต. ได้ร่างข้อระเบียบในการจัดการดูแลทรัพยากรทั้ง  7  ข้อ เสนอให้ทางนายอำเภอหางดงอนุมัติใช้  แต่ก็เงียบหาย  แต่กลับถูกกลุ่มนายทุนที่เสียผลประโยชน์จากการแย่งชิงน้ำ  มากดดันและข่มขู่ตนเสียอีก อีกทั้งกฎหมายของรัฐในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย  เนื่องจากโดนนายทุนครอบงำหมด  ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมาใช้บังคับ  มิฉะนั้น  ทรัพยากรท้องถิ่นจะต้องเจ๊งแน่ในอนาคต"นายเฉลิม กล่าว

 

ในขณะที่นายกนกศักดิ์  ดวงแก้วเรือน  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ออน  กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า  ขณะนี้ในเขตพื้นที่ของตนซึ่งอยู่ติดกับ ต.ทาเหนือ  และ ต.ทาปลาดุก ของ จ.ลำพูน  ได้มีนายทุนผู้ใกล้ชิดกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง กว้านซื้อที่ดินบริเวณต้นน้ำแม่ทา  เพื่อทำสนามกอล์ฟ  ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำจากกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชรอบๆ นั้น   ซึ่งคาดว่าภายใน 4-5 ปีข้างน้ำ  ปัญหาเรื่องที่ดิน  น้ำ ป่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

"ที่ผ่านมา  ตนพยายามทำข้อบัญญัติของ อบต.เพื่อนำมาใช้กับการจัดการทรัพยากรเหล่านี้  แต่ก็ยังติดขัดที่อำเภอกันอยู่  ดังนั้น  ทำอย่างไรจึงเสนอทางออกให้กับชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า เหล่านี้เอาไว้ได้"  นายกนกศักดิ์  กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม  นายเดโช  ไชยทัพ  ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาเพื่อการยั่งยืน  กล่าวว่า  จริงๆ  แล้ว  การที่จะให้ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดินและป่านั้น  เห็นว่ามีหลายแนวทาง  คืออาจจะต้องเลือกชุมชน  ชาวบ้านที่มีความพร้อม  และ องค์กรปกครองท้องถิ่นมีความตั้งใจจริง  ซึ่งในขณะนี้ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่  เชื่อว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า  50  อบต. ที่มีความพร้อมจะเข้ามาจัดทำข้อบัญญัติดังกล่าว

 

"การจะร่างเสนอตั้งข้อบัญญัติการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน และป่าโดยชุมชนนั้น  ขณะนี้ขึ้นอยู่กับว่า ทางอำเภอ  หน่วยอุทยานแห่งชาติ  หน่วยจัดการต้นน้ำฯ กรมชลประทาน  กรมที่ดินจะเอาด้วยหรือไม่  เพราะที่ผ่านมา  ชาวบ้านและองค์กรปกครองท้องถิ่น  จะติดตรงที่ไม่ค่อยกล้าที่จะดำเนินการตั้งข้อบัญญัติขึ้นมา  เพราะยังหวั่นเกรงกันว่าจะขัดกับกฎหมายของรัฐที่วางไว้หรือไม่" นายเดโช  กล่าว

 

ทั้งนี้  หลังการประชุม  ได้มีการเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน  ได้ร่วมกันร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น  เพื่อหาทางออกว่า  จะทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ร่างข้อบัญญัติกันขึ้นมา  ให้มีสถานะในทางกฎหมายนำร่องได้  ซึ่งมีแนวความคิดว่า  อาจจะมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการทรัพยากรดิน  น้ำ ป่า ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมกัน เพื่อปกป้องรักษาและจัดการดูแลทรัพยากรดิน น้ำ  ป่า ร่วมกันได้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท