Skip to main content
sharethis


ผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน


ธุรกิจพลังงาน ไม่เพียงแต่มีมูลค่ามหาศาล (เฉพาะกลุ่มปตท. มี Market Cap กว่า 1 ใน 4 ของตลาดหุ้นไทย) ทว่า ยังมีความเกี่ยวโยงซับซ้อนสูง การบริหาร/กำหนดนโยบายและราคา ยังมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อีกด้วย


ภายใต้โครงสร้างที่ผูกขาดเป็นทอดๆ (การจัดหาและส่งเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้า การส่งและจำหน่ายไฟฟ้า) บริษัทในธุรกิจพลังงานใช้ผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือก เป็นฐานในการทำรายได้ และใช้บริษัทลูกเป็นช่องทางในการทำกำไร โดยขายไฟฟ้าในราคาสูงให้บริษัทแม่ ซึ่งผูกขาดและสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภค


เนื่องจากธุรกิจมีความเกี่ยวพันสูง โอกาสที่จะเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง จึงเป็นไปได้น้อย ธุรกิจอยู่ในสภาพ "ฮั้ว" กัน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ราคารับซื้อไฟฟ้า จากบริษัทลูกของกฟผ. (EGCO และRATCH) สูงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าของ IPP ถึง 20%


เดิมที IPP มีความอิสระมากกว่านี้ แต่ธุรกิจผูกขาดได้เริ่มแทรกซึม และขยายฐานเข้าไปยังบริษัทเหล่านี้ แนวโน้มดังกล่าวคาดว่า จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดกิจการส่วนใหญ่จะถูกควบรวม ดังที่ปตท.กำลังทำอยู่ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี


ในอนาคตต้องจับตามอง เพราะการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าถือเป็นเค้กชิ้นโต ที่จะต้องมีการจัดสรรกันต่อไป จะมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการ "ลูกปล้นประชาชนผ่านแม่" เพื่อทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้หรือไม่


 


กำไร"อัปลักษณ์"ของปตท.


งบการเงินปตท.ครึ่งแรกของปี 2548 สินทรัพย์รวม 480,245 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 211,696 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44,351 ล้านบาท หากครึ่งหลังไม่มีกำไรเลย ROE ทั้งปีก็ยังสูงถึง 21% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย


ดังนั้น กำไรเกินควรที่ปตท.จะได้ในครึ่งหลัง น่าจะนำมาใช้ลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระของประชาชน หากกำไรครึ่งหลังปี 2548 ได้เท่ากับครึ่งแรก และนำมาลดค่าไฟฟ้า ก็จะสามารถลดค่า Ft จากปัจจุบัน 0.4683 เป็น 0 บาท/หน่วย ได้ถึง 9.5 เดือน ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องรับภาระ Ft อันหนักอึ้ง จากการที่ปตท.ขูดรีด เอากำไรจากประชาชนจนเกินไป


กำไรประมาณ 90% ของปตท.มาจากธุรกิจก๊าซ ซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาด ทั้งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกคน เพราะก๊าซเกือบ 80% ที่ใช้ในประเทศ นำมาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า และอีกกว่า 10% นำมาใช้ในรูปแบบของก๊าซหุงต้ม


ดังนั้น กำไรของปตท.ที่สูงแบบ "อัปลักษณ์" นั้น เป็นผลมาจากการขูดรีดประชาชนโดยตรง ผู้บริโภคจึงควรร่วมกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม


ที่ผ่านมาเราไว้วางใจรัฐบาล และข้าราชการ ให้ทำหน้าที่ดูแลประโยชน์ของส่วนรวม


ทว่า สิ่งที่ปรากฏ คือ รัฐปล่อยปละละเลยดูแลแต่ผลประโยชน์ของนักลงทุน


 


 


 


 


ที่มา: http://thaifriendforum.blogspot.com/2005/09/blog-post_112682261129338158.html


 


     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net