Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลาประมาณ 1.00 น. เศษ วันที่ 20 กันยายน 2548 ตามเวลาในประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐ ที่ทำเนียบไวท์เฮาส์ มีการหารือด้านทวิภาคีหลายประเด็น แต่ผู้นำสหรัฐไม่ได้กดดันไทยเรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรื่องพม่า ตามที่สมาชิกสภาคองเกรส 11 คน เรียกร้อง


นี่เป็นการเยือนสหรัฐเป็นครั้งที่สามของผู้นำไทย ในการพบหารือกันครั้งนี้ มีการหยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นมาหารือกันหลายประเด็น เช่น เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ การเปิดการค้าเสรี การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก สถานการณ์ในเกาหลีเหนือและพม่า


ก่อนหน้าการพบกันครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐถูกแรงกดดันจากสมาชิกสภาคองเกรส 11 คนที่ ส่งจดหมายถึงนายบุช เรียกร้องให้เขากดดันให้รัฐบาลไทยเลิกหนุนรัฐบาลทหารพม่า และให้ไทยฟื้นฟูเสรีภาพการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทย เพื่อไม่ให้ไทยอ้างได้ว่า การพบกันครั้งนี้เท่ากับสหรัฐเห็นชอบกับนโยบายของไทย


นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกรัฐบาล บอกกับบีบีซีมาจากกรุงวอชิงตัน ดีซีว่า ผู้นำสหรัฐไม่ได้หยิบยกเรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรื่องภาคใต้ขึ้นมาหารือ


ในข่าวจากเวบไซต์ของทำเนียบไวท์เฮาส์รายงานว่า ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนของมิตรที่ดี และเรื่องหนึ่งที่ผู้นำสหรัฐสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องไข้หวัดนก แต่โฆษกรัฐบาลไทยบอกว่า ไม่ได้มีการเสนอความช่วยเหลือเป็นพิเศษ


ให้ไทยช่วยพัฒนาประชาธิปไตยพม่า


ส่วนในเรื่องพม่านั้น ถึงแม้จะมีการหารือ แต่ผู้นำสหรัฐไม่ได้กดดันไทย


"ท่านประธานาธิบดีบุชได้หยิบยกขึ้นมา ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณเองก็ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนของประเทศไทยว่า เราก็อยากให้แนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศพม่าได้ก้าวรุดหน้าต่อไป…


"ทางประธานาธิบดีอยากให้ไทยมีส่วนร่วม ในการช่วยที่จะให้แนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าบรรลุผลสำเร็จ ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีการพูดว่า จะให้ไทยได้ใช้มาตรการอื่นๆ แต่อย่างใด"


ฮิวแมนไรท์ วอช เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่พยายามผลักดันให้ผู้นำสหรัฐหยิบยกเรื่องพม่า กับเรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นมาพูดคุยกับผู้นำไทย


นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการด้านเอเชียของฮิวแมน ไรท์ วอช บอกว่า แม้จะมีการหารือเรื่องพม่า แต่ผิดหวังที่ผู้นำสหรัฐไม่ได้กดดันไทย


เขาบอกว่า เป็นเรื่องดีที่ มีการพูดถึงเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง แต่ประเด็นที่คุยกันนั้น เขาเห็นว่า เป็นประเด็นรอง ไม่ใช่ประเด็นหลัก


เขามองว่า ผู้นำสหรัฐดำเนินนโยบายที่แปลกแยกไปจากประชาคมโลก ด้านผู้นำไทยไม่ได้เป็นชาติที่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐ


ในทางตรงข้ามกลับเข้าไปเสนอให้ความช่วยเหลือ เช่น ส่งทหารไปช่วยในอิรัก ช่วยจับนายฮัมบาลีส่งตัวไปให้สหรัฐ ส่งสัญญาณให้เห็นว่า ไทยร่วมมือกับสหรัฐในสงครามปราบปรามการก่อการร้าย


ตรงนี้ทำให้สหรัฐมองข้ามปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิเสรีภาพในไทย รวมทั้งนโยบายของไทยที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า


ผู้อำนวยการด้านเอเชียของฮิวแมน ไรท์ วอช มองว่า ผู้นำไทยเดินเกมการทูตได้อย่างชาญฉลาด และนี่นับเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จของไทย


ในการเยือนสหรัฐครั้งนี้ ผู้นำไทยยังได้พบหารือกับนายโดนัลด์ รัมสเฟล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ


เปิดน่านฟ้าเสรีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น


นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกรัฐบาลไทย บอกว่า สหรัฐไม่ได้เสนอความช่วยเหลือต่อปัญหาภาคใต้ ในเรื่องของกำลังทหารแต่อย่างใด


สหรัฐยังคงมองว่า ปัญหาภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่มีการหารือกันในประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงอื่นๆ


"มีการพูดคุยเรื่องความร่วมมือฝึกอบรมความรู้ด้านการทหารสมัยใหม่ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมมือปรึกษาหารือต่อไป….


"เรื่องอาวุธเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมไทยสนใจ ในแง่การพัฒนาประสิทธิภาพของกองทัพ แต่ในชั้นนี้ยังไม่มีการเจรจาซื้อขายอาวุธใดๆ"


ผลพวงหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทยสหรัฐ ระหว่างการเยือนครั้งนี้ คือ การลงนามในข้อตกลงเปิดเสรีการบินระหว่างไทยสหรัฐ ซึ่งผู้นำไทยบอกว่า มีผลดีหลายๆ ด้าน แต่นักสังเกตการณ์บอกว่า สายการบินในไทยกับสหรัฐต้องเตรียมปรับตัว เพราะการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้น


 


ที่มา : http://www.bbc.co.uk/thai/news/story/2005/09/050920_2330g190905tx.shtml


     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net