Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 29 ก.ย.48 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ประจำปี 2548 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน


 


นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ อดีตนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และอดีตจำเลยคดีเจ.ไอ. กล่าวในการอภิปรายแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การสร้างความสมานฉันท์ การจัดการความขัดแย้งและร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้ว่า ความขัดแย้งในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมานานแล้ว มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยหลายอย่าง แต่ทำไมความรุนแรงจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ ความแตกต่างที่มีอยู่หลายประเด็นประกอบด้วย เรื่องศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา แต่ในมุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกับรัฐไทยคือ ประวัติศาสตร์พื้นที่และความเข้าใจเรื่องเชื้อชาติที่ผิด จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดด้วย


 


"ถามว่าผมเป็นคนไทยหรือเปล่า ผมตอบว่าผมเป็นคนถือสัญชาติไทย นับถือศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าคนในพื้นที่เป็นคนมลายู ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและคนใต้ชินกับความหลากหลาย ยกตัวอย่างการทำสวนผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งเรียกว่า ดูซง ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชไม้ผล หลักการคือการสร้างความสมดุลทั้งทางด้านชีวภาพและทางเศรษฐกิจ เช่น เมื่อผลเงาะขายไมได้ มะพร้าวก็ยังมีราคาสูงอยู่ เป็นต้น แต่ความหลากหลายดังกล่าวกำลังถูกทำลายด้วยพืชจีเอ็มโอ มีการใช้ปุ๋ยเคมี วัชพืชต่างๆ ก็ต้องทำลายเพื่อนำไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว"นายแพทย์แวมา หะดี กล่าว


 


นายแพทย์แวมาหะดี กล่าวต่อว่า คนในพื้นที่กำลังเรียกร้องดูซงกลับคือมา ปกติดูซงไม่มีการทวงโฉนด แต่เมื่อมีพืชจีเอ็มโอเข้า ก็มีการขอแบ่งโฉนดจนเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการขอโฉนดต่างกับการทวงโฉนดคืน


"ผมว่าชาวบ้านขัดแย้งกับรัฐในเรื่องของความยุติธรรม แม้แต่ฝ่ายรัฐเองก็มีความขัดแย้งกันระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ เหมือกับว่าข้างบนมีการเติมน้ำเข้าไปในภาชนะแต่ข้างล่างกลับมีคนเจาะรู้ ทำให้น้ำไม่เต็มซักที เรื่องความสามัคคีแตกต่างกับการผสมผสาน แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เราอยู่ด้วยกันได้"นายแพทย์แว มาหะดี กล่าว


 


นายแพทย์แวมาหะดี กล่าวต่อว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้คือเรื่องมวลชน จากข้อมูลภาค


รัฐที่เคยบอกว่า มีแนวร่วมอยู่ประมาณ 20,000 คน ที่เหลืออีก 150,000 คน แต่การทำสงครามชิงมวล รัฐแพ้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะเข้าไปอยู่ฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่การให้ความร่วมมือกับรัฐน้อยลง


 


นายปิยะ กิจถาวร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกความกลัวเข้าชักนำความคิด ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่มีการระบุว่า ในพื้นที่มีความหวาดระแวงสูง แต่จากการลงไปสัมผัสกับชาวบ้านพบว่า ชาวบ้านมีความกลัวมากกว่า สิ่งที่จะเป็นอันตรายในขณะนี้คือการเหมารวมว่าว่าชาวบ้านเป็นโจรทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือศัตรูของประชาชน การแก้ปัญหาคือ ต้องยอมรับความจริงและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือให้ประชาชนเป็นเจ้าของปัญหาโดยตรง ซึ่งเขาจะร่วมกันแก้ปัญหา


 


"ความสมานฉันท์และการฟื้นฟูเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ต้องให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสงบสันติจึงจะเกิดขึ้น สิ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ ความรักชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่ความคลั่งชาติได้ ไม่ใช่ความไม่รักชาติชาวบ้านเขาก็รักชาติที่หมายถึงความรักต่อมาตุภูมิของเขา ชาวบ้านบอกไม่ต้องรักชาติก็ได้เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เราไม่ต้องรักชาติก็ได้ แต่ให้มาร่วมกันรักความยุติธรรม"นายปิยะกล่าว   


 


นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกบทความของตนที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 30 กันยายน 2548 ขึ้นมากล่าวว่า การเสียสละชีวิตอย่างกล้าหาญของนาวาเอกวินัย นาคะบุตร กับนาวาตรีคำธร ทองเอียด 2 นาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาได้ปฏิบัติหน้าที่จริงในยามคับขัน พยายามเข้าใจ เข้าถึง และรับใช้ประชาชนในพื้นที่ คืนเกิดเหตุยังเสี่ยงขับรถจะไปช่วยชาวบ้าน  เมื่อถูกล้อมก็ไม่ได้ขัดขืน ยอมให้ชาวบ้านคุมตัวไป จะมองอย่างไรทั้งสองก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่แล้วก็ต้องตายสังเวยให้กับสงคราม ความหวาดระแวงและความไม่เชื่อถือ หมดศรัทธา ระหว่างคนไทยร่วมแผ่นดินเดียวกันอีก


 


นายเกษียร กล่าวว่า ความหวาดระแวงไม่ไว้ใจราชการของชาวบ้าน และความไม่ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมอีกแล้ว ความรู้สึกว่ารัฐอ่อนแอและล้มเหลวในการปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของชาวบ้าน จนชาวบ้านต้องหันมาพึ่งกำลังของชุมชนในการปกป้องตัวเองซึ่งอยู่นอกกรอบกฎหมาย และมักจะเชื่อข่าวลือของผู้ก่อความไม่สงบมากกว่าข่าวสารราชการ หรือแม้แต่สื่อมวลชนไทย


 


นายเกษียร กล่าวว่า จุดอ่อนคือเกิดช่องโหว่ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สังคมไทยกับชาวบ้านชายแดนภาคใต้มาก เพียงผู้ก่อความไม่สงบปล่อยข่าวลือก็ปั่นหัวชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจผิดกัน แล้วหันมาใช้ความรุนแรงต่อกันได้ง่าย การแก้ไขต้องใช้ความพยายามสูง อดกลั้นอดทน เสียสละ ใช้สติปัญญา และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ฉลาด


 


"ที่จริงในวันนั้นเจ้าหน้าที่ใช้การเมืองนำการทหาร ความสมานฉันท์และสันติวิธีแล้ว อย่างที่เราเห็นว่ามีการเจรจาต่อรองกันอย่างสันติเพื่อหาเอาทหารทั้ง 2 คนออกมาถึง 19 ชั่วโมง ทั้งที่มันง่าย ถ้าจะใช้กำลังชิงตัวออกมา แต่เราก็ทำไม่สำเร็จ เราต้องสูญเสียนักสู้เพื่อสันติทั้งสองอย่างเจ็บปวดและน่าเสียดายที่สุดๆ" นายเกษียรกล่าว


 


นายเกษียร กล่าวว่า สันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนน แต่คือวิธีการต่อสู้ในสงครามการเมืองที่เดิมพันคือการชนะใจประชาชน ย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้และไม่ได้ บางทีความไว้ใจและศรัทธาระหว่างกันที่ถูกทำลายไปเพราะผู้บริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าตายอย่างง่ายๆ แล้วก็ต้องมาเสียทรัพยากรมากเพื่อเรียกคืนมา ถ้าหันหลังให้สันติวิธี ก็คือความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดในสงครามการเมือง ที่สำคัญยิ่งในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือ มาตรฐานทางศีลธรรม หมายความว่า หลักเกณฑ์ หลักการทางศีลธรรมที่เราเรียกร้องจากคนอื่น เราเองต้องปฏิบัติด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่คู่ควรกับแนวทางนี้


 


ส่วนในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มความสมานฉันท์และความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่ม 2 การเมือง การบริหารและการกระจายอำนาจในท้องถิ่นภาคใต้ กลุ่ม 3 การจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวของภาคใต้ และสุกท้ายกลุ่มที่ 4 การเสนอผลงานทางวิชาการของนักศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในสถาบัน


อุดมศึกษาเครือข่ายภาคใต้


 


ในกลุ่มที่ 1 ผู้เข้าร่วมสัมมนารายหนึ่งจากจังหวัดยะลาได้เปิดเผยว่า ตนเคยคลุกคลีอยู่กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในต่างๆประเทศอยู่หลายปี จึงรู้จักกันดี และเมื่อตนกลับมาอยู่ประเทศ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้รับโทรศัพท์จากสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่า ขอให้ย้ายไปที่ประเทศมาเลเซีย ตนเลยถามกลับไปว่า เหตุการณ์ครั้งนี้หนักแค่ไหน ได้รับคำตอบว่า อาจะถึง 2 ปี ตนถามอีกว่าแล้วใครเป็นคนปล้นปืน เขาตอบว่าไม่ทราบแต่นี่เป็นโอกาสของเรา


 


ผู้เข้าร่วมสัมมนารายเดิม กล่าวอีกว่า ต่อมาตนได้เจอกับเขา ก็ถกเถียงกันมาก เนื่องจากตนเห็นว่าวิธีการที่ใช้ต่อสู้มันไม่น่าจะถูกต้อง เช่นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เขาตอบว่าคนที่จะถูกฆ่าตาย มีรายชื่อหมดแล้ว ตนถามต่อว่า สมมุติว่าสามารถแบ่งแยกดินแดนได้ แล้วจะนำประชาชนไปในทางใด เขาบอกว่ายังไม่ต้องรู้ ยังไม่ถึงเวลาเปิดตัว เหมือนที่ปาเลสไตน์ ตนถามต่อว่า แล้วจะให้อยู่อย่างไรถึงจะปลอดภัย เขาบอกว่าให้อยู่กลางๆ เข้าไว้ อย่างขาวหรือดำ ตนถามอีกว่าแล้วกรณี 2 ทหารนาวิกโยธินที่ถูกฆ่าตายที่บ้านตันหยงลีมอคิดอย่างไร เขาตอบว่าเหมาะสมแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนพวกนี้ไม่ยอมรับแนวทางสันติวิธี แต่อย่างไรก็ตามเขาก็มีวิธีการต่อสู้ในทางการเมืองด้วย


 


ผู้เข้าร่วมสัมมนารายนี้ยังแสดงความเห็นอีกว่า ตนเกลียดราชการของไทยมาก แต่ไม่ใช่เกลียดประเทศไทย เพราะทุกครั้งที่ผู้ใหญ่ลงไปในพื้นที่ ชาวบ้านจะต้องจัดเตรียมของต้อนรับ รวมทั้งอาหารที่ดีมาต้อนรับ ทั้งที่ชาวบ้านจะต้องลงทุนเอง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมาก


 


ส่วนในกลุ่มที่ 2 นายสุกรี หลังปูเต๊ะ อาจารย์จากวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่องความต้องการที่แท้จริงของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม พบว่า ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมี 4 ประการ คือ 1.ต้องการในการมีส่วนร่วม 2.ต้องการให้มีการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3.ต้องการความยุตธรรมและความเท่าเทียมกัน และ4.ต้องการมีส่วนในการยอมรับ ความเป็นอัตลักษณ์พิเศษของคนในพื้นที่


 


ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความเป็นอยู่ตามวิถีชีวิตผูกพันกับหลักศาสนา ดังนั้น การเข้าถึงของรัฐเพื่อการสร้างสมานฉันท์ ก็ต้องศึกษาถึงความแตกต่างซึ่งมีความละเอียดอ่อนเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ที่จะเป็นพื้นฐานของเยาวชนและการพัฒนาในด้านอื่นๆ


"UNDP ได้สำรวจระดับมาตรฐานในด้านต่างๆ ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สตูล, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส พบว่า นราธิวาสได้คะแนนด้านมาตรฐานการศึกษาเพียง 1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน จึงอยากให้รัฐจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น" นายสุกรีกล่าว


 


นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสหพันธ์ครูจังหวัดยะลา กล่าวว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องให้ประชาชนเกิดความยอมรับใน 2 เรื่องคือ 1.ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งทั้งรัฐและประชาชนจะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และ2.ความเชื่อมั่นของประชาชนในกลไกของรัฐ ที่จะใช้แก้ปัญหาและปกครองประชาชน


 


"การสร้างความเชื่อมั่นในกลไกรัฐนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งจะต้องเป็นคนที่มีคำพูดเชื่อถือได้ พูดจริง โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นศูนย์กลางของคำสั่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสับสน และไม่กล้าที่จะโต้แย้งเพื่อความถูกต้อง เพราะเกรงว่าจะมีผลต่อตำแหน่งหน้าที่" นายประสิทธิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net