Skip to main content
sharethis

นาตยา แวววีรคุปต์ และ ธนพล เลิศธนาผล


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


...................


     


เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดซึ่งปกคลุมทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้  หมายถึงความวิตกกังวล  คืนนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ใครจะเป็นคนที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความไม่สงบ  ตัวฉันเอง  หรือว่าเธอ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยข้ามคืนนี้ไปได้หรือไม่


 


เป็นคำถามของคนหลายคนที่ใช้ชีวิตใน 3 จังหวัด !!!


 


แต่สำหรับหมอหนุ่มวัย 30 ปี มีคำถามในใจมากกว่านั้น


 


"คืนนี้บ้านพักเจ้าหน้าที่จะโดนทำอะไรหรือเปล่า ?"


"พยาบาลขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน คงไม่เป็นอะไรนะ ?"


"พ่อ  แม่  น้อง และพี่....  ลูก  สามี  ภรรยา ของเจ้าหน้าที่ทุกคน จะอยู่รอดปลอดภัย จนถึงวันที่เหตุการณ์เลวร้ายสงบลงหรือไม่ ? "


"กำลังใจจะอยู่กับพวกเราได้นานถึงวันนั้นมั๊ย ? " 


 


ความหวาดวิตกเป็นสิ่งที่ไม่อาจกำหนดได้  แต่กำลังใจของผู้ปฏิบัติงานทุกคน เป็นที่สิ่งนายแพทย์เดชา  แซ่หลี  ผู้อำนวยงานโรงพยาบาลกะพ้อ  จังหวัดปัตตานี  กำลังพยายามกำหนดมันด้วยตำแหน่งหน้าที่ผู้บริหาร


 


ภายในรั้วโรงพยาบาลกะพ้อ  ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่แทนรั้วลวดหนาม  หลายชีวิตในโรงพยาบาล กำลังดำเนินภารกิจของตัวเองอย่างปกติ   รั้วคอนกรีตที่มีอยู่ในขณะนี้ อาจจะไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่า โรงพยาบาลจะรอดพ้นจากเป้าหมายของการก่อเหตุไม่สงบเหมือนกับช่วงหลายเดือนก่อนหน้าที่มีการข่มขู่หลายครั้งเกิดขึ้นกับคนในโรงพยาบาล  แต่แนวกำแพงที่เพิ่งสร้างเสร็จ ก็ยังทำให้คนที่ต้องใช้ชีวิตทำงานที่นั่นหลายคนรู้สึกอุ่นใจขึ้นได้บ้าง


 


สำหรับยามเย็น ย่างเข้าหัวค่ำ  ความเงียบกำลังคืบคลานเข้าแทนที่ถนนทุกสาย ของพื้นที่ 3 จังหวัด แต่ภายในรั้วโรงพยาบาล ความสนุกสนานกำลังจะเริ่มขึ้นที่ลานกีฬาด้านหลังของโรงพยาบาลกะพ้อ ราวกับว่าเป็นการปลอบใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ต้องทำงานอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยในภาวะเช่นนี้


 


นอกจากภารกิจในการทำหน้าที่รักษาพยาบาล ตามทักษะวิชาชีพแล้ว  แพทย์หนุ่มจากครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอหาดใหญ่  ต้องเรียนรู้ทั้งการนำพาบุคคลากรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ภายใต้ภาวะการณ์พิเศษซึ่งแตกต่างจากที่อื่นๆ  รวมทั้งยังต้องปรับความต่าง ระหว่างตัวเอง กับชุมชนชาวไทยมุสลิม ให้ผสานกันได้อย่างกลมกลืน


 


เสียงสนทนา  ภาษามาลายู  ส่งรอดออกจากห้องตรวจโรคให้คนที่เดินผ่านมาได้ยินชัดถ้อยชัดคำ  เจ้าของเสียงทุ้ม คือ นายแพทย์เดชา นั่นเอง  ภายใต้ความแตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม เขาสามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับชาวบ้านได้อย่างดี 


 


ทันทีที่จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เดชาก็เดินเข้าสู่วงจรของแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลปัตตานีเป็นเวลา 1 ปีพร้อมๆ กับความคิดที่จะเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง แต่ด้วยความขาดแคลนแพทย์ในจังหวัดปัตตานีทำให้ต้องไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานีอีก 1 ปี โดยที่ไม่รู้ตัวความสนุกกับหน้าที่แพทย์ประจำก็ทำให้นายแพทย์เดชาได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี


 


1 ปีให้หลัง แพทย์หนุ่มคนนี้ก็ได้เริ่มต้นบทบาทการเป็นผู้บริหาร  ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกะพ้อ


 


 "ตอนนั้นคิดว่าจะอยู่ที่นี่ ปี หรือ 2 ปี แล้วจะไปเรียนต่อ แต่ถ้าเราไปเรียนต่อโดยที่ยังไม่ได้พัฒนาโรงพยาบาล แล้วคนอื่นมาเป็นผู้อำนวยการต่อจากผมต้องมาเริ่มใหม ก็ไม่ยุติธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่รู้เรื่องอะไร"


 


 


ความคิดที่จะไปเรียนต่อจึงต้องหยุดชะงัก เพราะหลังจากได้ทำงานในช่วงแรกแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลจนได้รับการยอมรับจากทั้งชาวบ้าน รวมทั้งผลงานทางวิชาการในระดับจังหวัดและระดับประเทศ  2 ปีแรกของการพัฒนาโรงพยาบาลจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน


 


แต่แล้ววันหนึ่งสัญญาณของความไม่สงบก็ถูกส่งเสียงขึ้น


 


เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุคนไข้ฉุกเฉิน รับสายโทรศัพท์ตามปกติ แต่เสียงจากปลายทางที่ส่งมากลายเป็นคำขู่วางระเบิด !!


 


แพทย์และเจ้าหน้าที่ถูกขู่เอาชีวิต 


 


ตู้ไปรษณีย์ หน้าโรงพยาบาล ถูกเขียนข้อความที่ทำให้ไม่มีใครสบายใจได้ 


 


ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ และญาติพี่น้อง  เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ได้บั่นทอนกำลังใจของทีมแพทย์ พยาบาล  และเจ้าหน้าที่ ในโรงพยาบาลกะพ้ออย่างรุนแรง และนี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หมอเดชาต้องสร้างความอุ่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน


 


 "ถ้าถามว่ากลัวหรือเปล่า แล้วบอกว่าไม่กลัวก็คงจะโกหก แต่เมื่อเรามาทำตรงนี้แล้ว เราก็ต้องหาจุดที่ดีที่สุดที่จะอยู่ร่วมกับภาวะการณ์แบบนี้ให้ได้"  หมอหนุ่มยอมรับถึงความในใจที่แฝงอยู่ในบุคลิกภาพอันเด็ดเดี่ยว  พร้อมกันนั้นความในใจที่เป็นเหตุสนับสนุนการตัดสินใจในวันนี้ของตัวเอง  ก็ถูกนำออกมาบอกเล่า


 


"ถ้าในสถานการณ์อย่างนี้โรงพยาบาลหยุดคิดที่จะทำงาน  หรือคิดพัฒนางานด้านสุขภาพ  คนในพื้นที่ก็จะรู้สึกว่าหน่วยงานของรัฐพึ่งไม่ได้ เราถึงต้องพยายามพัฒนาโรงพยาบาลให้มากที่สุด  ถึงแม้โรงพยาบาลจะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่ว่าก็ยังสามารถให้การดูแลในเรื่องสุขภาพได้ อย่างน้อยชาวบ้านก็จะรู้สึกว่าถึงแม้ที่ไหนจะไม่ปลอดภัย  เขาอาจจะไม่ไว้ใจใครก็แล้วแต่  แต่ถ้าพวกเขาเจ็บป่วยมาโรงพยาบาลแล้ว จะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยที่สุด  " 


 


หมอเดชา  อายุยังน้อย  ด้วยวัยเพียง 30 ปี แพทย์หนุ่มคนนี้ยังมีโอกาสแสวงหาความก้าวหน้าให้กับชีวิตของตัวเองอีกมาก หากจะตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างจากความตั้งใจในวันนี้   แต่อนาคตอันเรืองรองนั้นกลับถูกเลือกให้มีที่เก็บงำอยู่ในใจ  และรอวันเวลาที่เหตุผลสำคัญของการทำงาน ณ วันนี้ ได้พบกับความสำเร็จมากที่สุด


 


***********


 


ฝนเม็ดบางๆ เริ่มโปรยปราย ทำให้ลานกีฬาหลังรั้วคอนกรีตสีขาวเริ่มเงียบเสียง


ไม่นานนัก ... ทุกอย่างก็เงียบสงัด 


เสียงฟ้าคะนอง เริ่มแทนที่เสียงพรำไพเราะของสายฝน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net