Skip to main content
sharethis

วันที่ "ประชาไทออนไลน์" นำบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้มานำเสนอ เป็นวันที่ "พลตำรวจโทจักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา" ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ในงานกฎหมายและสอบสวน) เกษียณอายุราชการเป็นวันที่ 3


ก่อนอำลาจากอาชีพตำรวจ นายตำรวจใหญ่ที่คร่ำหวอดกับงานสอบสวนผู้นี้ ได้เปิดโอกาสให้ "ประชาไทออนไลน์" จับเข่าคุยถึงปัญหาอุปสรรคของพนักงานสอบสวนยุคปัจจุบัน ยุคที่ผู้คนหวงแหน "สิทธิและเสรีภาพ" ยุคที่ตำรวจต้องคำนึงถึง "สิทธิมนุษยชน"


            ต่อไปนี้ คือ รายละเอียดที่ถอดจากแถบบันทึกเสียง คำต่อคำ


 


.........................................................................


           


ผมมองว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 อำนวยความสะดวกให้กับพนักงานสอบสวนในการจับกุม - ตรวจค้นง่ายขึ้นกว่าเดิม


 


จับ


ประการแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับใหม่ ให้พนักงานสอบสวนจับกุมโดยไม่มีหมายได้ หนึ่ง ผู้ต้องหาจะหลบหนี สอง ผู้ต้องหาจะทำลายพยานหลักฐาน สาม ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้าย จับได้เลยแต่ต้องมีพยานหลักฐาน ตอนนี้ตำรวจยังไม่กล้าจับโดยไม่มีหมาย กลัวจะถูกฟ้อง


 ผมพยายามสอนให้กล้าจับ ถ้ามีหลักฐานเพียงพอ จะรอทำไม


ประการที่สอง ประธานศาลฎีกาออกระเบียบให้ขอหมายจับได้โดยแฟกซ์ ศาลดูแล้วมีหลักฐานเพียงพอ ก็ส่งแฟกซ์กลับให้จับได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเป็นวันๆ


ตรงนี้ ยังมีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ คือ การส่งแฟกซ์หลักฐานถึงศาล ยังไม่มีรายละเอียดมากพอ ตรงนี้ต้องเห็นใจศาล ถ้าจะให้จับใครสักคนต้องมีพยานหลักฐาน จะค้นดุ่ยๆ ไม่ได้ ถ้าโชคดีท่านฟังว่า พยานปากเดียวแค่นี้ท่านเชื่อ ท่านก็ให้เลย ส่วนศาลจะลงโทษหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ในส่วนของพนักงานสอบสวน ต้องไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ถ้าหาไม่ได้หลักฐานไม่พอ ก็สั่งไม่ฟ้อง


 


ค้น


ส่วนการค้นก็เหมือนกัน ที่ห่างไกลอย่างเกาะช้าง เกาะพะงัน ให้ขอหมายค้นโดยแฟกซ์ได้


ปัญหามันมีอยู่นิด ตรงที่ต้องขอโดยพันตำรวจเอก ถ้าผู้กำกับฯ ไม่อยู่ละ ทั้งเกาะมีพันตำรวจเอกคนเดียว นอกนั้นเป็นพันตำรวจโท พอผู้กำกับฯ ไม่อยู่ ไม่มีใครขอหมายค้นได้เลย ก็ต้องให้ผู้บังคับการ หรือรองผู้บังคับการขอให้


            เรื่องระยะเวลาควบคุมตัว 48 ชั่วโมง ไม่น่าบ่นแล้วนะ กฎหมายเขียน 48 ชั่วโมงก็จริง แต่เมื่อนำตัวมาควบคุมครบ 48 ชั่วโมงแล้ว ไปฝากขังศาล ยังขอรับตัวกลับมาสอบสวนได้อีก 12 วัน


ตรงนี้ไม่ได้ยากลำบาก เพียงแต่เพิ่มภาระการเดินทาง ใกล้ๆ ไม่เป็นไร 200 กิโลเมตร ก็น่าเห็นใจ เดินทางมาก็ลำบาก ต้องขับรถกลับอีก 200 กิโลเมตร ตัวอย่างเกาะช้าง นั่งเรือ 2 ชั่วโมงมาฝากขัง แล้วนั่งเรือกลับเอาไปขังต่อ 12 วัน อาจจะยุ่งยากชักช้า เกิดค่าใช้จ่าย รถราก็ไม่ค่อยมี การเดินทางอาจจะไม่สะดวก แต่พอคิดในมุมของสิทธิมนุษยชนแล้ว มันก็ต้องทำ


สำหรับการสอบสวนทั่วไป กฎหมายเขียนใหม่ว่า คดีอุกฉกรรจ์ต้องมีทนายร่วมสอบสวนด้วย ผมคิดว่าทุกอำเภอมีทนายอาสาอยู่แล้ว แต่ถ้าอำเภอไหนไม่มี การสอบสวนก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น


ตรงนี้ เป็นความยากลำบากของพนักงานสอบสวนก็จริง แต่ถ้าให้พนักงานสอบสวนทำงานอยู่ฝ่ายเดียว นักสิทธิมนุษยชนเขาไม่ยอมรับ การมีทนายอยู่ด้วย ก็ทำให้ภาพตำรวจดีขึ้น


มีหลักฐานแค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อหาพยานหลักฐานไม่ได้ ศาลปล่อยมากๆ อัยการสั่งไม่ฟ้องเยอะๆ คนกระทำความผิดไม่ถูกลงโทษ ผลลัพธ์ตกกับประชาชนเองแหละ


มีคนพูดว่า ตำรวจสมัยนี้ไม่เก่ง ผมสวนเลยว่า ลูกศิษย์ผมเก่งทุกคน เพียงแต่จังหวะในการรวบรวมพยานหลักฐาน ดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง ไม่งั้นกฎหมายจะเขียนให้งดการสอบสวน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานไว้ทำไม คดีอุกฉกรรจ์ ปล้น ฆ่า วางเพลิง ชิงทรัพย์ เยอะแยะไปที่งดการสอบสวน


 


คดีเด็ก


ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การสอบสวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีปัญหามาก เพราะการสอบสวนเด็ก ทั้งพยานและผู้ต้องหา ต้องทำต่อหน้าสหวิชาชีพ คือ ทนายความ อัยการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ต้องหาต้องมีทนายความ ถ้าเป็นผู้เสียหาย เป็นพยาน  ไม่ต้องมีทนายความ และต้องถ่ายวิดีโอไว้ด้วย


พนักงานอัยการอยู่จังหวัด ไม่ได้อยู่ที่อำเภอห่างออกไป 200 กิโลเมตร ไม่ได้อยู่เกาะช้าง เกาะพะงัน พอถึงเวลาสอบต้องขนมาสอบที่จังหวัด เพราะอัยการไม่มีคนไปสอบในท้องที่ การสอบสวนคดีเด็กจึงเป็นปัญหามากที่สุด กฎหมายนี้ต้องการคุ้มครองเด็ก แต่ต่างจังหวัดยุ่งยากมาก ให้มีอัยการทุกอำเภอซิครับไม่เป็นไร


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 เขียนว่า ต้องสอบสวนพยาน ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาโดยไม่ชักช้า สามารถสอบลับหลังผู้ต้องหาได้ การสอบสวนพยานไม่จำเป็นต้องให้ผู้ต้องหานั่งอยู่ด้วย ไปดูได้เลย


แบบนี้ ผมต้องรอสหวิชาชีพมาร่วมสอบสวนหรือไม่ มันขัดกับกฎหมายหรือเปล่า ผมหาพยานหลักฐานไม่ได้ เพราะต้องรอสหวิชาชีพ อย่างนี้คดีเสียหายไหม ถ้าเด็กเป็นพยานในคดีปล้นฆ่า ผมต้องรอสอบต่อหน้าสหวิชาชีพ ผมถามว่ามันเป็นประโยชน์ต่อคดีหรือไม่ ความเสียหายของคดี ก็คือ เราไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ จับใครไม่ได้ หลักฐานไม่พอลงโทษ ศาลยกฟ้อง


ผมว่าไปลอกจากเมืองนอกมาแบบนี้ไม่ถูก ขอแก้ไขแล้วหลายครั้ง ประชุมกับอัยการแล้วหลายหน แต่ไม่มีผล ยังต้องหิ้วพยานมาจังหวัด ตอนนี้พนักงานสอบสวนบ่นกันทั่วประเทศเลย


 


วิสามัญฆาตกรรม


กรณีตายในห้องควบคุมของเจ้าพนักงาน หรือตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ที่เรียกว่าวิสามัญฆาตกรรม การชันสูตรพลิกศพต้องมีพนักงานอัยการร่วมด้วย คดีวิสามัญในกรุงเทพฯ คนร้ายถูกยิงตาย 4 ทุ่ม กว่าอัยการ ฝ่ายปกครอง พิสูจน์หลักฐานมากันครบ 2 ยาม ตีหนึ่ง แต่เราก็ต้องปฏิบัติตาม


 


ความก้าวหน้า


พูดถึงความก้าวหน้า พนักงานสอบสวนมีโอกาสมาก ได้รับผลตอบแทนเต็มที่ มีเงินประจำตำแหน่ง ระดับรองสารวัตร 3,500 บาท ระดับสารวัตร 4,500 บาท รองผู้กำกับการ 4,700 บาท แทนที่จะต้องใช้จ่ายเงินส่วนตัวทำงาน ก็มีเงินตรงนี้มาช่วย


มีค่าทำสำนวนในคดีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ อัตราโทษเกิน 3 ปีขึ้นไป คดีละ 1,000 บาท เป็นเงินเข้ามาช่วย ไม่ต้องควักเงินส่วนตัวออกไปหาพยาน ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนต้องจ่ายค่าพาหนะ ค่าเดินทางให้พยาน พอมาถึงอย่างน้อยก็ต้องเลี้ยงน้ำ 10 บาท 20 บาท 100 บาท เท่าไหร่ก็ต้องจ่าย จ่ายทุกวันๆ ถามว่าเอาตังค์ที่ไหน ก็มีเงินพวกนี้มาช่วย


            ถึงเราจะยังไม่มีการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานสอบสวนที่จบเนติบัณฑิต แต่อนาคตก็อาจจะได้ค่าวิชาชีพเพิ่มขึ้น


ส่วนที่สอง ก็คือ การเลื่อนไหลจาก สบ. 1 รองสารวัตรเป็นสารวัตร ทำงาน 7 ปี ทำสำนวน 140 คดี ผ่านการประเมิน คุณได้เป็น สบ. 2 สารวัตรเลย ขณะที่สายอื่น 7 ปี คุณไม่ได้เป็นสารวัตร แต่สายนี้ 7 ปีคุณได้เป็นแล้ว


หลังจากเป็นสารวัตร 3 ปี ทำสำนวน 140 คดี คุณจะได้รับการประเมินเป็น สบ. 3 รองผู้กำกับการ ไม่ต้องไปวิ่งเต้นหาตำแหน่ง คุณสู้กับตัวเอง คุณทำความดี คุณเรียนหนังสือ คุณหาสำนวนทำ คุณได้เลย


ส่วน สบ. 4 ผู้กำกับการ ต้องว่าไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อันนี้ผมทำโครงสร้างเอง สบ. 4 ผู้กำกับการ สบ. 5 รองผู้บังคับการ สบ. 6 นายพล ผมทำโครงสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว ตามโครงสร้างไต่ไปได้ถึงพลตำรวจตรี เป็นนายพลประจำกองบัญชาการ


หลังจากนั้น คุณก็เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการ เป็นผู้บัญชาการ จะเป็นผู้บัญชาการประจำตรงไหนก็ได้ ผู้บัญชาการอะไรก็ได้ จากผู้บัญชาการเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายสอบสวนไปได้หมด ไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เลย


ตามโครงสร้าง ผู้กำกับการจะไว้กับกองบังคับการ กี่ตำแหน่งก็ได้ การประเมินอยู่ที่กองบังคับการหมด มีคณะกรรมการระดับกองบังคับการ ระดับกองบัญชาการ ระดับกรม มีขั้นตอนประเมินสู้กัน ส่วนจำนวนจะมากจะน้อยจะมีกี่คน แล้วแต่จะต่อรองกัน


ถ้าจังหวัดหนึ่งมี 5 พันตำรวจเอก ผู้บังคับการก็จับแยกให้คุมงานสอบสวนคนละโรงพักสิ อันนี้ต้องเกิดแน่นอน เพราะกฎหมายเขียนไว้ ไม่ใช่ระเบียบนะ เป็นกฎหมาย ไม่ทำไม่ได้


            กติกาที่จะขึ้นเป็นพันตำรวจเอกยากหน่อย ต้องทำสำนวนมา 140 คดี เป็นรองผู้กำกับการมาแล้ว 4 ปี มีประสบการณ์การสอบสวนมาแล้ว


ต้องสอบกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายพยาน รัฐธรรมนูญ นิติวิทยาศาสตร์ จรรยาบรรณ ผมตั้งเอาไว้ 6 อย่าง สอบกันแบบเนติบัณฑิตเลย ข้อสอบยาก คนที่ผ่านการสอบเป็นพันตำรวจเอกได้  ต้องเยี่ยม ต้องดูหนังสือ ต้องศึกษาหาความรู้ ต้องรู้ฎีกา มีฎีกาใหม่ๆ รู้หมด


คุณต้องเป็นตัวอย่างของพนักงานสอบสวนได้ คุณต้องกลับไปดูตำรับตำราเตรียมสอบตลอดเวลา ปีนี้สอบไม่ได้ ปีหน้าสอบใหม่ สอบจนกว่าจะได้ เราจะอบรมให้ด้วย อาจจะติวกันหนึ่งสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ ผมตั้งเป้าให้ข้อสอบยาก เพื่อให้คุณดูหนังสือ คุณต้องมีความรู้ คุณจะเป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวนแล้วนี่


ต่อไป คุณต้องดูหนังสือตั้งแต่เป็นพันตำรวจตรี ไม่ใช่เริ่มดูหนังสือตอนจะสอบผู้กำกับการ อย่างนั้นคุณสอบไม่ได้


คุณจบนิติศาสตร์บัณฑิต คุณไปเรียนปริญญาโทกฎหมายได้ คุณไปเรียนเนติบัณฑิตได้ ถ้าคุณเรียนเก่ง นอกจากคุณจะสอบพันตำรวจเอกได้แล้ว ถ้าไม่อยากเป็นตำรวจ คุณไปสอบอัยการ ไปสอบผู้พิพากษาก็ได้ สอบได้แล้วลาออกเลย แล้วคุณจะเก่งกว่าคนที่จบเนติบัณฑิตคนอื่นด้วย เพราะคุณผ่านการเป็นพนักงานสอบสวนมาแล้ว


สมองไหลไม่เป็นไร สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับใหม่ได้ ชั้นประทวนของผม จบนิติศาสตร์ไม่รู้เท่าไหร่ พนักงานสอบสวนผมไม่มีวันขาด


จากผู้กำกับการขึ้นรองผู้บังคับการใช้เวลา 3 ปี ประเมิน จากนั้นคุณก็ไปสอบ จากรองผู้บังคับการขึ้นนายพล ถ้าผมจำไม่ผิดก็ 3 ปีเหมือนกัน


            ขณะนี้ สำนักงานกฎหมาย มีสถาบันส่งเสริมการสอบสวน เราจะเอาบุคลากรมาอบรม มีอาจารย์จากศาล อัยการ นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ มาให้ความรู้


เราจัดแบ่งหลักสูตรเป็นวิชากฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายพยาน นิติวิทยาศาสตร์ วิธีการสอบสวนสมัยใหม่ ฝึกอบรม ฝึกวิทยากร ฝึกพี่เลี้ยง พัฒนาบุคลากรขึ้นมา


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net