รายงานพิเศษ :"สันติสุขชุมชน" อาวุธดับข่าวลือ

เหตุการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่  21 กันยายน ที่ผ่านมา บ่งบอกให้เห็นถึงภัยจากความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ "ข่าวลือ" ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นอาวุธสำคัญอันทรงประสิทธิภาพในการรบของฝ่ายก่อความไม่สงบ ทว่าแม้รัฐบาลจะออกมากล่าวโทษข่าวลืออย่างไรก็ตาม แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อหรือไม่ว่า เครื่องมือที่จะนำมาใช้จัดการในเรื่องดังกล่าวกลับแทบไม่มี

 

"คณะกรรมการสันติสุขชุมชน" เป็นหนึ่ง ใน 14 มาตรการที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เสนอต่อรัฐบาลโดยจุดประสงค์เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือที่ใกล้ชิดชาวบ้านในการดับข่าวลือต่างๆ หลังจากที่การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ก่อให้เกิดกระแสความห่วงใยและความกังวลไปทั่ว จน

 

แม้รัฐบาลจะได้มีมติ ครม.เห็นชอบมาตรการเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2548 แต่เวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน จนเกิดเหตุการณ์ "ตันหยงลิมอ" ก็แล้ว แต่การตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนเพื่อสร้างตัวกลางในการประสานความเข้าใจก็ยังคงไม่เดินไปถึงไหน ทำให้ กอส.ต้องมาออกแถลงการณ์ "ทวงสัญญา" การตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนอีกครั้ง

 

"เพื่อป้องกันเหตุร้ายทำนองนี้ในอนาคต กอส. เสนอให้เร่งรัดตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ทำหน้าที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้ติดต่อสื่อสารกันเพื่อรื้อฟื้นความไว้วางใจระหว่างกันกลับคืนมา อันเป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นทั้ง 14 ข้อที่ กอส. เคยนำเสนอต่อรัฐบาลและสังคมไทยไว้แล้ว"

 

โดยข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนที่รัฐบาลรับไว้เป็นมติ ครม.มีเนื้อความว่าคณะกรรมการสันติสุขชุมชน จะต้องประกอบด้วย ผู้นำชุมชนเช่น อิหม่ามประจำมัสยิด โต๊ะครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. สมาชิก อบต. ปลัดประจำตำบล ครู เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบล ตลอดจนทหารและตำรวจ

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการปรับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ก็เคยกล่าวอธิบายถึงบทบาทและความสำคัญของ คณะกรรมการสันติสุขชุมชนไว้ว่า

 

"เขาต้องการให้มีการหารือกัน  ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกฯอบต. อบต. ครู เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ หารือกันจะทำอย่างไรให้เกิดความสันติสุข จนกระทั่งมาคุยกันว่าเกิดปัญหาอย่างไร  เราจะร่วมมือกันได้อย่างไร อะไรเป็นต้นเหตุสาเหตุ ใครจะปรับปรุงอะไรได้อย่างไร ใครไม่สบายใจเรื่องอะไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ควรจะทำอย่างไร

                                         

"ในความคิดก็คือว่า ให้เกิดความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน และให้มีทิศทาง ภาระหน้าที่ที่ชัดเจนตามชื่อของมัน ก็คือ "คณะกรรมการสันติสุขชุมชน" ก็คือจะแก้ปัญหาเรื่องความไม่สันติสุขในระดับชุมชนขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องการจะส่งเสริมมาตรการท่านที่ชี้แจงก็ชี้แจงอยู่แล้วว่ากำลังดำเนินการทำนองนี้อยู่

 

"การดำเนินการต่อไปนี้ ก็ต้องอาศัยเครือข่ายภาคประชาชน อาศัยตัวแทนกรรมการสมานฉันท์บ้าง ในการที่จะมาหารือกันเพราะความคิดในเรื่องพวกนี้  บางทีทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะเข้าใจไม่ดีนัก เว้นแต่บางหน่วยงานที่ถนัดจริงๆ  มันก็จะไม่ค่อยคุ้น เมื่อบอกว่า "สันติสุขชุมชน"  ก็ไม่ค่อยคุ้นแล้ว ดังนั้นก็ต้องหารือกัน แล้วค่อยคิดต่อไป"

 

แต่ คำว่า "สันติสุขชุมชน" ที่นายจาตุรนต์ ออกตัวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนั้น กลับไม่ใช่รูปแบบใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ หากเทียบย้อนไปดูในเรื่องโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ศอ.บต." ที่เคยทำหน้าที่แบบนี้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลมาก่อน ทว่าถูกรัฐบาล "ทักษิณ" ยุบไปอย่างน่าเสียดายในปี 2545  ซึ่งหากนำโครงสร้างของ ศอ.บต.เดิมมาปรับใช้ในการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนก็คงไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้

 

ทั้งนี้ หลายๆ ฝ่ายประเมินการตัดสินใจในครั้งนั้นว่ามีความผิดพลาด จนกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการที่ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้รุนแรงในปัจจุบันด้วย

 

ศอ.บต. ถูกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2524 โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยคนท้องถิ่นหลายคน เพื่อดูแลและทำความเข้าใจในวัฒนธรรมมลายูมุสลิมของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ต่อมา คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 56/2539 ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 ได้กำหนดบทบาทให้ ศอ.บต.ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นรัฐบาลส่วนหน้า มาตั้งหน่วยอำนวยการอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจำลองหน่วยงานอำนวยการด้านแผนงาน แผนเงิน และแผนคนของรัฐบาลกลางมาอยู่ด้วยกัน

 

การดำเนินงานของ ศอ.บต. อาศัยหลักการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกับคณะกรรมการสันติสุขชุมชนที่ กอส.เสนอ คือ มีการแต่งตั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการที่มีประสบการณ์เป็น คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.จะถูกฝึกหัดให้มีความตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเรียนรู้ภาษามลายู

ศอ.บต.ที่ตั้งขึ้นจะคอยประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการดูแลการคอรัปชั่นและขจัดอคติในหมู่เจ้าหน้าที่ โดยมีอำนาจในการให้รางวัล ลงโทษ หรือย้ายเจ้าหน้าที่ ช่วงปี 2521-2538 มีข้าราชการกว่า 100 คนถูกย้ายออกจากภาคใต้ นอกจากนั้น ศอ.บต.ยังใช้การจัดสัมมนาเป็นประจำเพื่อให้ผู้นำชาวมาเลย์มุสลิมได้ระบายข้อข้องใจ

จากการประเมินในช่วงทศวรรษ 80-90 การมี ศอ.บต. พบว่าเหตุรุนแรงลดลงมาก สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ หลายคนหันมารับข้อเสนออภัยโทษและเข้าร่วมโครงการพัฒนาหรือเข้าร่วมในกองทัพ พวกที่ลี้ภัยบางคนก็เดินทางกลับมา บางคนเข้าร่วมกองทัพ บางคนไปก่อตั้งปอเนาะ

ความรุนแรงที่บานปลายอย่างมากในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นหลังการยุบ ศอ.บต.แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังเริ่มจะมีสัญญาณให้เห็นหลายครั้งว่า คนในพื้นที่เริ่มที่จะไม่ไว้ใจรัฐมากขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นได้จากกรณีการห้ามเจ้าหน้าที่เข้าหมู่บ้านที่บ้านละหาน เพราะเชื่อว่าโต๊ะอิหม่ามถูกเจ้าหน้าที่สังหารเสียชีวิต การลี้ภัยของคนไทยมุสลิม 131 คน หรือครั้งหลังสุดในกรณีที่บ้านตันหยงลิมอ

 

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่รัฐบาลไม่สามารถตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ได้ ก็ไม่ควรเพิกเฉยที่จะสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความไม่เชื่อใจ อย่างที่ ศอ.บต. เคยทำสำเร็จมาแล้ว ขึ้นมาใหม่ อย่างน้อย การตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนที่ กอส. เสนอ ก็ควรเป็นสิ่งที่ควรจะต้องนำมาพิจารณาให้เกิดความเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

 

ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำตอบกับสังคมและ กอส. ว่า รัฐบาลรับปากจะทำตามมาตรการ 14 ข้อ ของ กอส.

 

"เรายินดีรับข้อเสนอทั้งหมด เพราะมีหลายเรื่องที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการ แต่บางเรื่องได้ทำไปแล้ว ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี"

 

แต่หากพิจารณากัน ในรอบ 2 เดือน ถึงสิ่งที่รัฐบาลทำ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสิ่งที่ กอส. เสนอเลยโดยเฉพาะในเรื่องมาตรการในการดึงมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมนั้น เรียกได้ว่าสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง และในส่วนของการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนนั้น แทบไม่มีกระแสข่าวแว่วเข้ามาเลยว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามที่สัญญาไว้อย่างไร

 

15 สิงหาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไป อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่ออ้อนวอนฟื้นสัมพันธ์ในกรณีการสลายการชุมนุมจนทำให้เกิดการเสียชีวิต โดยมีการแจกขนมเด็กๆ หรือเมื่อถามวัยรุ่นว่าจบอะไร พบว่าจบช่างก็สนับสนุนให้เปิดร้านซ่อมรถ เพราะกลัวไม่มีงานทำ คนที่จบบัญชีมาก็ให้มาทำงานที่ร้าน ให้สร้างบ้านแบบน็อคดาวน์  5000 หลัง สำหรับคนไม่มีที่อาศัย และพาทีมเศรษฐกิจมาช่วยฟื้นฟู มีคาราวานแก้จนมาสำรวจ

 

ส่วน พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ปิ๊งไอเดียการสร้างจิตวิทยามวลชน ด้วยการแจกโทรทัศน์พร้อมติดตั้งยูบีซี เพื่อถ่ายทอดสดกีฬาตามร้านกาแฟ ร้านน้ำชาทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมายเดือนแรกที่แจก คือ 500 เครื่อง

 

ต่อมาเมื่อมีการแจกใบปลิวข่มขู่ห้ามร้านค้าขายของในวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีก็เปิดตลาดนัดวันศุกร์และนำทีมดารา เช่น กบ-บรู๊ค ไปช่วยโปรโมตตลาดนัด ในการเปิดตัวตลาดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อสู้กับการสร้างข่าวในใบปลิว

 

และล่าสุด เมื่อเกิดความไม่ไว้วางใจอย่างมากในเหตุการณ์ตันหยงลิมอ รัฐก็แก้ด้วยมาตรการออก

สมุดปกขาวมาชี้แจงและทำความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดในสภาพความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น อย่างมากสิ่งเหล่านี้ก็มีค่าเพียงแค่ "การโฆษณาชวนเชื่อ" ของรัฐบาลเท่านั้น

 

"ทุกเรื่องเราจะเปิดโปงแผนชั่วของเขา จะพิมพ์ให้คนไทยทั้งชาติได้รู้โดยเฉพาะสื่อ จะได้ช่วยกันกระจาย จะเอาเหตุการณ์สำคัญ ๆ ว่าเขามียุทธศาสตร์อย่างไร พอเรามองดูแล้วจะเกิดความเข้าใจ" พล.ต.อ.ชิดชัย  วรรณสถิตย์ กล่าว

 

จากตัวอย่างการแก้ปัญหาการสร้างแนวร่วมของรัฐบาลที่ผ่านมา ดูจะไม่มีมาตรการใดที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงได้ เพราะไม่มีมาตรการใดที่ออกมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เลย การสร้างความไว้ใจมวลชนของรัฐดูจะมุ่งไปที่การทำการตลาดแบบรายวัน รายสถานการณ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าแก้ปัญหาในทันที  ส่วนที่รับปากกับ กอส.ในแต่ละเรื่อง รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนนั้น คล้ายกับรับปากเพราะต้องการเพียงแค่ลดแรงเสียดทานจากกระแสสังคมเท่านั้น

 

ความจริงการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชนนั้น เคยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่าง ศอ.บต. เป็นเข็มทิศอยู่แล้ว การอ้างความไม่คุ้นเคยหรือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องรอเวลาคงเป็นคำตอบที่ "ไม่โสภา" นัก

 

ดังนั้นคำตอบในเรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับใจรัฐบาลเองว่า "ทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำ" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคำตอบใดก็ตาม สังคมกำลังต้องการเหตุผลดีๆ ที่จะมาตอบ เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล "ช้ามาก" ต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ จนดูผิดปกติในความเป็นรัฐบาล "ทักษิณ" ที่ได้ชื่อว่า "คิดไว ทำไว" ที่สุดในประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีไทยที่ผ่านมา  เพราะทุกๆ ครั้ง หากคิดจะทำอะไรก็ทำได้ทันที แม้แต่การออก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ที่มีแต่เสียงทบทวนให้ไตร่ตรองก็ตาม

 

แต่คราวนี้ เรื่องการตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชน ไม่น่าจะมีเสียงใดมาคัดค้านให้ไตร่ตรองให้รัฐบาลและ "ท่านผู้นำ" รำคาญใจแน่ๆ  ทำไมไม่คิดทำให้ไวบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท