รายงานพิเศษ : FTA จุดเปลี่ยนจิตวิญญาณสาธารณสุขไทย

นอกจากความสับสนวุ่นวายระหว่างหมอในกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในเวลานี้แล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานปีในระบบสาธารณสุขไทย นั่นคือปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งสถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อประเทศไทยเริ่มเปิดบริการทางด้านการแพทย์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ที่ส่งผลโดยตรงกับระบบสาธารณสุขไทยโดยเฉพาะการบั่นทอนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคให้อ่อนแอลงไปอีกด้วย

 

หมอชนบทดิ้นรนเข้าเมือง : ปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย

อย่าเพิ่งเบื่อหากจะเริ่มต้นรายงานชิ้นนี้ว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เป็นปัญหาสะสมมานานในวงการสาธารณสุข โดยจำนวนบุคลากรเหล่านี้มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรในพื้นที่ อย่างสถิติประจำปี 2548 โรงพยาบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีตัวเลขที่น่าตกใจคือ อัตราส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 16,648  ทันตแพทย์ 1 : 24,972  เภสัชกร 1 : 12,486 พยาบาลวิชาชีพ 1 : 1,218 พยาบาลเทคนิค 1 : 3,567 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 : 1,248 และจำนวนเตียงต่อประชากรเท่ากับ 1 : 832  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ

 

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ประมาณ 27,000 คน หรือเฉลี่ยทั้งประเทศจะมีแพทย์ 1 คนต่อประชากรประมาณ 2,400 คน นั่นหมายความว่า การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ของไทยนั้นเป็นไปอย่างพิกลพิการอยู่มาก ทั้งๆ ที่ ว่าไปแล้ว ตัวเลขดังกล่าวยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพทย์กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ก็เป็นดังวิชาชีพอื่นๆ นั่นคือความแตกต่างด้านโอกาสในการแสวงหารายได้เพิ่มเติมจากอาชีพหลัก การพัฒนาความรู้ความสามารถของตน เนื่องจากในชนบทเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่เอื้ออำนวย การเดินทางไม่สะดวก ช่องทางแสวงหาความรู้ก็ค่อนข้างน้อยเหลือเกิน

 

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยของรัฐมักจะเปิดโครงการรับตรงนักเรียนเรียนดีจากชนบท เพื่อผลิตแพทย์ชนบทกลับไปทำงานที่บ้านเกิด แต่เมื่อหมดสัญญาการใช้ทุนแล้ว แพทย์เหล่านี้กลับลาออกและเบนเข็มไปยังที่ที่ตนเองต้องการมากกว่า โดยมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในเมืองมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แพทย์ที่เหลืออยู่ตามชนบทอย่างไม่ต้องสงสัย

 

นอกจากความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐตามชนบทมานานปีแล้ว ปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังนี้ยังถูกเชื่อมด้วยถนนที่ทอดยาวไปยังโรงพยาบาลเอกชน โดยมีแพทย์จำนวนมากได้ตัดสินใจเลือกที่จะก้าวเดินไป เนื่องจากปลายทางนั้นมีสิ่งที่เย้ายวนใจมากกว่าเป็นไหนๆ

 

หมอภาครัฐไป ร.พ.เอกชน : การไหลวนของสมองและเงินตรา

ด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลรัฐที่มีความแตกต่างกันสูงมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่เย้ายวนให้แพทย์จากภาครัฐหลั่งไหลเข้าสู่ภาคเอกชนอย่างยากจะหยุดยั้ง ปัญหาที่ตามมาก็คือนอกจากโรงพยาบาลตามชนบทจะขาดแคลนแพทย์แล้ว โรงพยาบาลศูนย์ในเมืองใหญ่ของรัฐเองก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์แพทยสภา เมื่อปี 2547 ว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากเงินเดือนไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงของชีวิต อาจารย์แพทย์หรือแพทย์ใหญ่ในโรงพยาบาลของรัฐที่มีวุฒิปริญญาเอก จะได้รับเงินเดือนเพียงประมาณ10,000 กว่าบาท จนถึงสูงสุดประมาณ 60,000 บาท ซึ่งบางคนอาจใช้เวลาเป็น 30 ปี หรือเกือบเกษียณอายุราชการแล้ว แต่สำหรับแพทย์ที่สอบได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางสาขาหนึ่งสาขาใด ถ้าสมัครไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนอย่างน้อย 100,000 บาทขึ้นไปทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน โดยเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2548 มีมติให้ปรับลดอัตราค่าตอบแทนบุคลากรทางแพทย์ลงไปอีก เนื่องจากงบประมาณในปี 2548 ที่ได้รับจัดสรรนั้นไม่เพียงพอ การปรับลดอัตราค่าตอบแทนดังกล่าวจึงดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสมองไหลในวงการแพทย์ให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกลุ่มบริหารงานบุคคลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมามีสถิติแพทย์ลาออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการจัดสรรแพทย์ของภาครัฐตั้งแต่ปี 2544-2547 มีจำนวน 3,823 ราย ขณะที่มีแพทย์ลาออกไปแล้วถึง 2,012 ราย คิดเป็น 52.63% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสามารถยืนยันปัญหาสมองไหลของแพทย์ภาครัฐได้เป็นอย่างดี

 

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยเปิดเอฟทีเอโดยยินดีให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาด้วยนั้น จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น และน่าจะส่งผลให้แพทย์ที่ทำงานภาครัฐถูกดูดไปทำงานเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ราดน้ำมันบนกองเพลิงวิกฤตการณ์หมอภาครัฐ

หลังจากที่ประเทศไทยตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับด้านบริการทางการแพทย์ โดยข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เอื้อประโยชน์ให้คนของเขาสามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ถึง 70%นับเป็นตัวอย่างแรกที่ก่อให้วิกฤตการณ์ขาดแพทย์ภาครัฐรุนแรงขึ้น

 

"การทำเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ส่งผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะจะดูดหมอจากโรงพยาบาลรัฐไปโรงพยาบาลเอกชน ทำให้คนทั่วไปขาดหมอ ส่วนคนรวยก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เท่ากับว่าประชาชนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า" นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงวิกฤตการณ์ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการให้บริการกับชาวต่างชาติ พบว่าหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 5 มาใช้บริการทันตกรรม จะมีจำนวนมากถึง 72,671 คน ขณะที่จังหวัดภูเก็ตสามารถรองรับคนไข้ทำฟันได้เพียง 60,840 คน ทั้งยังพบอีกว่าหากมีคนไข้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการไหลของแพทย์ออกจากภาครัฐ และจะทำให้การลงทุนผลิตแพทย์ของรัฐนั้นสูญเปล่าถึง 420-1,260 ล้านบาท ต่อการรับผู้ป่วยต่างชาติเพียง 1 แสนคนต่อปี

 

จากการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในปี 2544 มีผู้ป่วยชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยมากถึง 470,000 ราย ในโรงพยาบาลเอกชน 7 แห่ง ส่วนในปี 2545 มีผู้ป่วยชาวต่างชาติถึง 630,000 ราย โดยเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชน 33 แห่ง รวมมีมูลค่าถึง 339,658 ล้านบาท

 

จากสถิติดังกล่าว ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าหลังไทยตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ แล้ว ธุรกิจการบริการด้านการแพทย์ในอนาคตจะสดใสแน่นอน ดังนั้น ธุรกิจด้านนี้จึงต้องการสร้างให้สถานพยาบาลของตนมีชื่อเสียง พรั่งพร้อมด้วยการบริการทั้งด้านการแพทย์และด้านอื่นอย่างครบวงจร รวมถึงกลยุทธ์การดึงแพทย์มือดีเข้าร่วมงาน ด้วยการให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเชื่อได้ว่าสุดท้ายแล้วแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้นขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐจะลดน้อยลง และในที่สุดผลกระทบโดยตรงจะตกอยู่กับประชาชนคนไทยที่ใช้บริการหลักประกันสุขภาพนั่นเอง

 

หรือจะปล่อยให้ โครงการ 30 บาทฯปิดฉากตัวเองลงอย่างเงียบๆ?

ตามโรงพยาบาลของรัฐ ลำพังโครงการ 30 บาทฯ ก็ยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อจำนวนประชาชน รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆของโรงพยาบาลด้วย ทั้งนี้งบประกันสุขภาพปี 2548 ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีอยู่ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะตกเพียง 1,396.30 บาทต่อหัวเท่านั้น

 

พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการบริการแพทยสภา อธิบายว่า นอกจากปัญหาแพทย์ที่ขาดแคลนอยู่แล้ว พอเปิดเอฟทีเอก็จะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการโรงพยาบาลรัฐในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช่จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นจะส่งผลให้แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลรัฐทำงานหนักขึ้นและหนักขึ้นไปอีก และยังกระทบถึงการลาออกของแพทย์ภาครัฐด้วย 

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 บ่งชี้ว่าโครงการ 30 บาทฯ ทำให้เกิดปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุขอย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตรากำลังของแพทย์ในระบบบริการสาธารณสุขต่ำกว่าความต้องการที่แท้จริงถึง 70% และทันตแพทย์มีอัตรากำลังต่ำกว่า 40% ของความต้องการ ทั้งนี้ยังเกิดภาวะขาดแคลนเภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2548 เนื่องจากไม่ยินยอมไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 30%

 

ดังนั้นการเปิดเอฟทีเอที่มีการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย จึงเท่ากับไปซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้กับโครงการหลักประกันสุขภาพของไทย ที่ประสบภาวะขาดแคลนแพทย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยจะยิ่งกระตุ้นให้แพทย์หนีเข้าสู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอีก และสิ่งที่ยิ่งน่าเป็นห่วงก็คือ แล้วใครจะดูแลผู้ป่วยโครงการ 30 บาทฯ รวมไปถึงเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ว่าอนาคตใครจะเป็นครูแพทย์ต่อไป

 

สำหรับทางออกที่ภาครัฐได้ตระเตรียมวางแผนเพื่อแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนนั้น ที่ทำมาตลอดคือโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โดยให้นักเรียนแพทย์ที่จบไปต้องใช้ทุนรัฐบาลเป็นเวลา 3-4 ปี แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจายแพทย์ให้ทั่วถึงได้แต่อย่างใด

 

ผลิตแพทย์เพิ่ม: ตำข้าวสารกรอกหม้อ

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดทำโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขในการทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุนเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาถึง 12 ปี หรือชดใช้เงิน 2,000,000 บาทต่อราย และคาดว่าจะสามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้ 300 คนต่อปีเพื่อเสริมกับโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่ง ศ.ดร. ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการ สกอ. คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มในปีการศึกษา 2549

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้คณะแพทย์ศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม 1,000 คนต่อปี โดยแบ่งเป็น คณะแพทย์ศาสตร์ที่มีอยู่เดิมผลิตแพทย์เพิ่ม 500 คน และคณะแพทย์ศาสตร์ที่ตั้งขึ้นใหม่ผลิตแพทย์ 500 คน จำนวน 6 รุ่น รวม 6,000 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะบรรจุโครงการนี้ในเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท

 

สำหรับนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มนั้น พ.ญ.เชิดชู กล่าวว่า "การเป็นแพทย์ไม่ใช่ง่ายอย่างคอมพิวเตอร์ แต่ต้องอาศัยด้านศิลปศาสตร์ด้วย ความจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยให้ทุนพวกเรา เพราะรัฐบาลบังคับให้ทำงานให้ทั้งระหว่างเรียนและหลังเรียนจบอยู่แล้ว พ่อแม่ต่างหากที่เป็นผู้ส่งเสียให้เรียนที่แท้จริง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลบิดเบือนว่าต้องใช้งบประมาณในการเรียนคณะแพทยฯ มากกว่าคณะอื่นๆ"

 

ขณะที่ นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย อาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก แสดงความเห็นว่า "สำหรับนักเรียนที่เรียนจบแพทย์แล้ว ยังต้องพยายามให้เป็นอาจารย์สอนรุ่นต่อไป ซึ่งไม่เหมือนการซื้อของแล้วได้ของ แต่ต้องใช้เวลามาก อาจารย์สอนแพทย์ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียนแพทย์ 6 ปีแล้ว ยังต้องเรียนวิธีทำหลักสูตรต่ออีก 3 ปี ทั้งเรียนไปก็ต้องรักษาผู้ป่วยไปด้วย"

 

ทั้งหมดนี้คงเห็นได้ว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางแพทย์นั้นจะแก้ไขไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน ทว่ารัฐเองกลับเลือกที่ถมทับซ้ำเติมปัญหา โดยแลกกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับจากขบวนรถไฟเอฟทีเอ ซึ่งเปลี่ยนเป้าหมายของการบริการสาธารณสุขในฐานะหลักประกันสร้างคุณภาพชีวิตอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้กลายเป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่คำนึงถึงแต่ผลกำไร ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้รับเคราะห์นั่นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท