ด่วน! รัฐบาลเตรียมลักไก่เปิดเสรีต่างชาติฮุบ 20 ธุรกิจไทย

ประชาไท - 16 ต.ค.48 นักวิชาการแถลงข่าวสายฟ้าแลบ แฉกระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ลักไก่แก้กฎกระทรวง เปิดเสรีอ้าซ่าให้ต่างชาติลงทุนฮุบกิจการไทย 20 สาขา เอฟทีเอวอชท์เชื่อแก้รองรับก่อนเซ็นเอฟทีเอไทย-สหรัฐเพื่อเลี่ยงเข้าสภา เตือนรัฐบาลวางเกมแก้อีกเพียบใน 400 ฉบับ

 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำทีมนักวิชาการแถลงข่าวด่วนหลังจากทราบข่าวเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค.ว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ตามบัญชีสาม) ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบสัปดาห์หน้า

 

"การแก้กฎกระทรวงเพื่อยกเว้นให้ชาวต่างชาติไม่ต้องขอใบอนุญาตธุรกิจบริการตามรายการในบัญชีสามนั้น กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า เพราะธุรกิจเหล่านั้นมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องไปห้ามคนต่างด้าวเข้ามาทำ อย่างนี้มันขัดกับหลักการที่กฎหมายกำหนดว่า หากจะยกเว้น ต้องเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความสามารถที่จะแข่งขันได้เท่านั้น แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่มีรายงานเลยว่าธุรกิจเหล่านั้นพร้อมแข่งขันกับต่างชาติหรือยัง" นายบรรเจิดกล่าว

 

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการทั้ง 20 สาขา ได้แก่ 1.การธนาคารพาณิชย์ 2.การทำกิจการให้กู้ยืมเงิน 3.การประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย 4.การทำกิจการโรงรับจำนำ 5.การทำกิจการคลังสินค้า 6. การทำกิจการโรงเรียน 7.การทำกิจการโรงมหรสพ 8.การค้าหลักทรัพย์ 9.การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 10.การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน

 

11.การจัดการกองทุนรวม 12.การจัดการกองทุนส่วนบุคคล 13.การเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 14.การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ 15.การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ 16.การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ 17.การเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์ และการเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด 18.การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ 19.การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม 20. การเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

 

นายสมชาย รัตนซื่อสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า การเปิดเสรีธุรกิจบริการให้คนต่างด้าวทั้ง 20 สาขา ไม่เพียงกระทบผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้ใช้แรงงานภายในสถานประกอบการเป็นจำนวนมากอีกด้วย แต่การยกร่างดังกล่าวกลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อประกอบดุลยพินิจแต่อย่างใด

 

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐ โดยสหรัฐต้องการเปิดตลาดภาคธุรกิจบริการอย่างกว้างขวาง หากไทยยอมรับเซ็นเอฟทีเอก็ต้องกลับมาแก้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับข้อตกลง ซึ่งตามหลักแล้วหากมีการแก้กฎหมายต้องนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทำให้คิดไปได้ว่า นี่คือการแก้กฎหมายล่วงหน้าเพื่อรองรับเอฟทีเอที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะได้อ้างได้ว่า การเซ็นเอฟทีเอไม่ต้องแก้กฎหมายใดๆ จึงไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

 

 

 

เตือนจับตาสังคายนากฎหมาย 400 ฉบับ รองรับเอฟทีเออีกเพียบ

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอวอทช์) กล่าวว่า การแก้กฎกระทรวงนี้ ถือเป็นกรณีแรกๆ ในการลักไก่แก้กฎหมายรองรับเอฟทีเอ ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายเล็กกฎหมายน้อยในลักษณะนี้ทยอยตามมาอีกท่ามกลางการแก้กฎหมายทั้งระบบ 400 ฉบับที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ในอัตราเร่ง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูล

 

นอกจากนี้ยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่ยอมนำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งถือเป็นการทำสัญญาระหว่างประเทศเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 224 ทั้งที่รัฐบาลก็มีเสียงข้างมากที่สามารถยกมือรับรองเอฟทีเอได้อยู่แล้ว

 

"เข้าสภาแล้ว ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลผ่านการอภิปราย หรือว่าเรื่องราวมันน่ากลัวจนบอกประชาชนไม่ได้" นางสาวกรรณิการ์กล่าว

 

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการพิจารณาของหน่วยงานที่ตรวจสอบ ก็ถือเป็นเรื่องผิดปกติที่มีความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงแห่งเดียว เพราะการเปิดเสรี 20 สาขานี้เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง อีกทั้งน่าสังเกตว่ารายงานความคิดเห็นของกฤษฎีกาที่เตรียมเสนอ ครม.ครั้งนี้ก็ค่อนข้างเก่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 หลังจากกระทรวงพาณิชย์ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณาเมื่อเดือนกันยายน 2545

 

นายบรรเจิดให้รายละเอียดว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผล 3 ประการ คือ 1.การจะยกเว้นธุรกิจในบัญชีสามให้ต่างชาติ คนไทยต้องมีขีดความสามารถแข่งขัน เหตุผลว่าธุรกิจบริการแต่ละประเภทมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองอยู่แล้วไม่สอดคล้องกับหลักการ 2.การที่ธุรกิจบริการมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเว้นไม่ให้นำ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไปใช้ 3.การเปิดเสรีธุรกิจบริการ ต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียของประเทศ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ รวมถึงผลที่จะขึ้นภายหลังการบังคับ คือ หากเปิดเสรีแล้วต้องการจะกลับไปควบคุมธุรกิจเหล่านั้นอีกครั้ง ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายตามหลักของข้อตกลงว่าด้วยการบริการในองค์การการค้าโลก (แกตส์)

 

ยื่นมีดให้ทุนต่างชาติประหารคนไทย

 

นายเจริญ คัมภีรภาพ นักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเปิดเสรีธุรกิจบริการนี้ เท่ากับยื่นมีดให้ทุนต่างชาติประหารคนไทย เพราะทำให้ที่ยืน ที่ทำมาหากินของคนไทยริบหรี่ลงและเสี่ยงต่อการล่มสลายเหมือนกรณีของร้านโชว์ห่วย อีกทั้งการแก้กฎกระทรวงนี้ก็เป็นการเปิดเสรีมากกว่าที่กำหนดในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยละทิ้งโอกาสในการปกป้องผลประโยชน์ชาติ เนื่องจากดับบลิวทีโอระบุว่าเป็นอำนาจของแต่ละประเทศที่จะกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขต่างๆ ในการเข้าถึงตลาดการค้าบริการได้ แต่การแก้กฎกระทรวงเพื่อเปิดเสรีครั้งนี้ไม่มีการระบุเงื่อนไขใดๆ

 

ที่สำคัญ การเปิดเสรีเต็มรูปแบบเช่นนี้จะทำให้ไทยถูกบังคับให้ยอมรับหลักเกณฑ์การคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งรัฐบาลจะหมดโอกาสในการใช้เงื่อนไขของประโยชน์สาธารณะมาคุ้มครองประโยชน์ของประเทศ และอาจถูกฟ้องร้องค่าเสียหายจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดแล้วในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) โดยรัฐบาลแคนนาดาถูกเอกชนสหรัฐฟ้องร้องกว่า 6 แสนล้านบาท หลังจากมีการออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ธุรกิจเอกชนนั้นเสียหาย

 

"พวกเราขอเรียกร้องให้ยุติและถอนร่างกฎกระทรวงนี้ออกจากการพิจารณาของ ครม. และรัฐบาลต้องเปิดเผยจุดยืนของตัวเอง และกล้านำจุดยืนตัวเองไปเปิดเผยและรับฟังจากธุรกิจทั้ง 20 สาขา รวมทั้งต้องทำการศึกษาวิจัย โดยให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นและแสดงความเห็นด้วย เพราะที่สุดแล้ว เราไม่อยากให้ปัญหาเอกราชต้องกลายเป็นวาระแห่งชาติ" นายเจริญกล่าว

 

อนึ่ง ในบัญชี 3 แนบท้ายกฎกระทรวงนั้น เป็นบัญชีที่ระบุห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อม ที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว มีสาขาที่ได้รับการคุ้มครอง 27 สาขา โดย 7 สาขา ที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ขอเสนอรับการยกเว้นให้แก่คนต่างด้าว ได้แก่ ธุรกิจให้เช่าทรัพย์สิน ธุรกิจลิสซิ่ง ธุรกิจรับฝากสินค้า ธุรกิจตัดผม แต่งผม เสริมสวย ธุรกิจถ่ายรูป ล้างอัดรูป ธุรกิจซักรีดเสื้อผ้า ธุรกิจรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท