Skip to main content
sharethis


วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2005 17:35น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


....................................


 


ผู้คนจากต่างถิ่น จำนวนมากมุงดูกองเถ้าถ่านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกุฏิที่พักสงฆ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของวัดพรหมประสิทธิ์ บ้านเกาะ ต.บ้านนอก อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งถูกกลุ่มคนร้ายไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าไปฆ่าพระและเด็กวัยรุ่นในวัดรวม 3 คน อีกทั้งเผากุฏิ ทำลายรูปปั้น และพระพุทธรูปภายในอุโบสถเสียหาย เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา 


 


"ไซ (ทำไม) ต้องมาทำในวัด ไซถึงเหี้ยมพันนี้ จับไม่ได้มั้ย ถ้าแล มันทำแล้วไม่รู้ไปสูญไหนนิ" หญิงวัยกลางคน รำพึงออกมาเป็นภาษาใต้ ขณะยืนมองกองเถ้าถ่านเบื้องหน้า เนื้อความในคำพูดของนางแสดงถึงความไม่พอใจกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุว่าเหตุใดต้องทำเรื่องผิดบาปเช่นนี้ภายในวัด เพราะเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมมาก นางเชื่อว่าคงไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุมารับโทษได้ เพราะทำเสร็จแล้วก็หนีไปได้


 


ขณะที่คนอื่นๆ ที่ยืนอยู่ร่วมกัน ต่างวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นไปในทำนองเดียวกันว่า โหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม


 


อีกด้านหนึ่งห่างออกไปไม่มากนัก บริเวณด้านหน้าศาลาประดิษฐาน รูปเหมือนหลวงพ่อพรหม ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา ผู้เฒ่าผู้แก่กลุ่มหนึ่งทั้งหญิงชาย นั่งพนมมือไหว้รูปเหมือนหลวงพ่อ  บนบานศาลกล่าวว่า  หากเจ้าหน้าที่สามารถจับคนร้ายที่ก่อเหตุมารับโทษได้ จะจุดประทัดพวงใหญ่ ถวายเพื่อแก้บน


 


คนเหล่านี้บ้างเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องใกล้ชิดกับผู้ตาย การประจักษ์ต่อสายตา และได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ คำประณาม สาปแช่งผู้ที่กระทำ จึงมีให้ได้ยินไปทั่วบริเวณวัดแห่งนี้


 


"เขาสร้างความหวาดกลัวได้สำเร็จแล้ว ยอมรับว่าแม้จนถึงขณะนี้อาตมาก็ยังเครียดมาก กุฏิที่เกิดเหตุซึ่งถูกเผาไปด้วยนั้น อาตมาเคยอยู่มาก่อน"


 


พระมหาอนุชา เจ้าอาวาสวัดพรหมประสิทธิ์ บอกกล่าวถึงความรู้สึกที่ยังคงอยู่ แม้เวลาจะล่วงผ่านมาแล้วถึงสองวัน


 


เจ้าอาวาสวัดพรหมประสิทธิ์บอกว่า พระในวัดทุกรูปรู้สึกกลัว ชาวบ้านญาติโยมก็กลัว ไม่รู้ว่าจะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยป้องกันเรื่องเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก แต่ก็ต้องหารือร่วมกันเพื่อหาทางป้องกัน ไม่ใช่พึ่งพาแต่ทหารเพียงฝ่ายเดียว


 


"เราก็อยากให้ทหารเข้ามาดูแล แต่เขาบอกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีเขียว อีกทั้งบริเวณชุมขนบ้านเกาะ และวัดของเราไม่อยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางความรับผิดชอบของเขา พวกเราอยู่ริมๆ พื้นที่ ซึ่งทหารเขาต้องหมุนไปดูแลพื้นที่อื่นๆ ด้วย  แต่สภาพในขณะนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าทั้งพระทั้งชาวบ้าน แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายก็ยังกลัวกันไปหมด เราก็ต้องหาทางพึ่งพาตัวเองกันให้มากขึ้น" เจ้าอาวาสวัดพรหมประสิทธิ์กล่าว


 


พระมหาอนุชาบอกว่า ไม่ห่วงในเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ แม้แต่การออกเดินบิณฑบาต ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีทหารมาเดินคุ้มกันดูแลความปลอดภัย และท่านคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะทหารเองก็เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบอยู่แล้ว


 


"ไม่รู้ว่าทหารกับพระใครจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ก่อเหตุมากกว่ากัน"


 


หลังเกิดเหตุร้ายขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ทยอยเข้ามาเสนอความช่วยเหลือกันอย่างมากหลาย หนึ่งในนั้นคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือซ่อมแซม กุฏิ และอุโบสถที่เสียหายแล้ว ยังจะมีการสร้างกำแพงล้อมรอบบริเวณวัด เพื่อป้องกันคนบุกรุกเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ รอบๆ บริเวณวัดแห่งนี้ ไม่มีกำแพง หรือแม้แต่รั้วลวดหนาม ที่จะป้องกันการบุกรุกเข้ามาเลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังดูเหมือนว่า อาจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้แก่พระในวัดตลอดจนชาวบ้านในชุมชน


 


"ขอให้มีทหารมาอยู่ประจำ อย่างน้อยหากมีใครบุกเข้ามาก็พอที่จะสู้ได้ คนร้ายจะได้ไม่ย่ามใจนัก"


 


สมภารวัดบอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเตรียมที่จะร่วมจัดประเพณีชักพระ ซึ่งเป็นประเพณีรื่นเริง ที่ชาวบ้านจะช่วยกันลากรถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไปทั่วหมู่บ้าน เพื่อความเป็นศิริมงคล หลังออกพรรษาในวันที่ 19 ตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงการจัดงานศพ จึงไม่เหมาะที่จะมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงใดๆ แต่กิจกรรมทอดกฐินสามัคคี ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ก็จะยังจัดเหมือนเดิม


 


"ให้เสร็จเรื่องงานศพไปก่อน ค่อยมาคิดกันว่าจะมีการจัดทำบุญหมู่บ้านกันอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะไปทำบุญช่วงเดือน 5 เลยทีเดียว ขณะนี้คิดว่าใจของชาวบ้านมีความไม่พร้อมหลายอย่าง คงไม่เหมาะ"


 


ขวัญกำลังใจของคนในชุมชนบ้านเกาะขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะระส่ำอย่างหนัก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในชุมชนอันสงบสุข ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมาก่อนเลย


 


พระมหาอนุชาบอกว่า "อย่าถามว่ากลัวหรือไม่ เพราะมันก็กลัวกันอยู่แล้ว คงจะไม่กลัวกันมากไปกว่านี้แล้ว แต่อาตมารู้สึกได้ว่าชาวบ้านมีความรู้สึกที่รุนแรงกว่านั้น คือความโกรธแค้น ต่อผู้ที่ทำเช่นนี้"


 


แม้จะไม่มีคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าความรู้สึกโกรธแค้นนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็ถือเป็นภาวะนี่น่ากังวลยิ่ง หากความโกรธแค้นนั้นลุกลามขยายวงออกไปเป็นความเกลียดชังระหว่างกลุ่มชนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งชาติพันธ์และศาสนา


 


คนในชุมชนเองก็รู้เท่าทัน แผนการก่อเหตุครั้งนี้ อดีตข้าราชการคนหนึ่ง เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แม้จะมีคนในหมู่บ้านของพวกเขารู้เห็นกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยไม่กี่คน ขณะที่เพื่อนบ้านมุสลิมส่วนใหญ่นั้น เป็นคนดี มุ่งมั่นแต่การประกอบอาชีพ ทำมาหาเลี้ยงครอบครัว และหวาดกลัวต่อสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่าชาวไทยพุทธ


 


แต่ถึงอย่างไร ภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ต่อสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ และใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง การหยิบยก เอาความคลั่งชาติ และการปกป้องศาสนา มาชี้นำสังคม ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด นับเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง


 


เวลานี้ สังคม ชายแดนใต้ ต้องการความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้นร่วมกันของผู้คนทุกฝ่ายบนแผ่นดินนี้


 


เพราะเหยื่อของสถานการณ์เลวร้ายรุนแรง ไม่มีการขีดวงจำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันในดินแดนแห่งนี้ คือผู้ร่วมเคราะห์กรรมอันเดียวกัน  ไม่ว่าใครก็ตามมีโอกาสตกอยู่ในภาวการณ์เป็นผู้สูญเสียอย่างเท่าเทียมกัน


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net