"ไกรศักดิ์" แนะนายกรัฐมนตรีปรับท่าทีต่อมาเลย์

รัฐสภา 19 ต.ค.- "ไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ"  เตือนนายกรัฐมนตรีอย่าใช้อารมณ์ต่อปฏิกิริยาความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย  เกรงจะลุกลามบานปลายจนแก้ไขไม่ได้  ชี้การแสดงปฏิกิริยาตอบโต้มาเลเซียมากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อไทย  แนะนายกรัฐมนตรีปรับท่าทีใหม่


 

นายไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ  ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 90 วันว่า ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้  เพราะรัฐบาลที่ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้นมาแล้ว แต่  กอส. ยังไม่มีผลงาน ก็ออก พ.ร.ก.ขึ้นมาอีก และสิ่งที่น่าสมเพชที่สุดคือ นายอานันท์  ปันยารชุน ประธาน กอส.  ออกมาโต้กับนายกรัฐมนตรีทางโทรทัศน์ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน  เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นคนตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาน กอส. แต่กลับมาเถียงกันเรื่อง พ.ร.ก. ให้คนทั้งประเทศดู  เป็นสิ่งที่น่าเศร้า และสะท้อนอย่างชัดเจนว่า มีความขัดแย้งอย่างชัดเจนในตัวรัฐบาลเอง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง  ประชาธิปไตยเกือบทุกสังคมโดนกระทบกระเทือนมาก  เมื่อมีกฎหมายประเภทนี้ออกมา  และเราหวังว่ากฎหมายนี้จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติหรือการประกาศใช้ในพื้นที่อื่น ๆ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างที่กำลังเกิดมากขึ้นในภาคใต้ของเรา

 

นายไกรศักดิ์  กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมา  การประกาศใช้  พ.ร.ก. เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาของผู้ก่อการร้ายหรือช่วยการปราบปรามลดลง ตรงกันข้าม  ความเห็นของ ส.ว.ในภาคใต้  มองว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.มีความลำเอียงมากต่อชาวไทย - มาเลเซีย  ตนคิดว่าจะมีหรือไม่มี พ.ร.ก. ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นในด้านการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา เหมือนคนตาบอดคลำช้าง ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบก  หรือทางฝ่ายความมั่นคงก็ยังไม่มีความรู้  ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปราบปราม  อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็ได้ที่เราไม่รู้ตัวผู้ก่อความไม่สงบ  เพราะอดีตเราจะรู้หมดเลยว่าเขาอยู่ที่ไหน ชื่อและตำแหน่งอะไร ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่มพูโล บีอาร์เอ็น หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  (พคท.)  เรามักจะรู้หมด

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า  ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - มาเลเซีย  เริ่มสั่นคลอน นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ไทยอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก  กลายเป็นรัฐบาลไทยที่รู้สึกอับอายต่อการกระทำของตนเองที่นำไปสู่การหลบหนีเข้ามาเลเซียของ 131 คนไทย และพยายามที่จะโทษว่าไม่ใช่ความผิดของตนเอง พยายามโยนความผิดให้คนอื่น  รัฐบาลมองว่า 131 คนไทย  ถูกปั่นหัวโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายให้หนีเข้าไปลี้ภัยในมาเลเซีย  ซึ่งอาจจะเป็นทั้งสองอย่างก็ได้ คือ ทั้งกลัวและโดนปั่นหัวด้วย

 

"สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือ  การที่นายกฯ  ใช้ภาษาที่ค่อนข้างจะรุนแรงมากตลอดเวลา นายกฯ เคยใช้คำพูดนี้กับเขมร  พม่า และองค์การสหประชาชาติ และใช้บ่อยครั้งมากกับมาเลเซีย  ถึงขั้นที่ว่าเมื่อมีคำถามว่า  มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มาเลเซีย จะคว่ำบาตรสินค้าที่มาจากประเทศไทย นั่นก็เท่ากับไปช่วยผู้ก่อการร้าย ซึ่งทำให้มาเลเซียต้องตอบโต้มา ผมรู้สึกว่านายกฯ  ของเราโอเวอร์ รีแอ็ค  (Over react) หรือมีปฏิกิริยารุนแรงไปหน่อย  เพราะสังคมเรามีเสรีภาพ แสดงออกอย่างไรก็ได้จะไปห้ามไม่ได้ ท่านนายกฯ  พูดถึงมาเลเซีย แล้วมันมีนัยที่น่าเป็นห่วง  ส่วนหนึ่งคงคิดว่ามาเลเซียอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ  เมื่อมาเลเซียเชิญให้เราไปจับเข่าหรือเจรจา ท่านกลับไปปฏิเสธเขาอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เรากับมาเลเซียมีการติดต่อทางการค้ามากที่สุด" นายไกรศักดิ์  กล่าว

 

ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ  กล่าวว่า  ตนหวังว่าเหตุการณ์คงจะเป็นเรื่องชั่วคราว  ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีควรจะปรับตัว  ต้องยุติการใช้อารมณ์  ต้องควบคุมสติให้สมกับที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นหัวหน้าสมาคมนักโต้วาที เวลานายกรัฐมนตรีพูดอะไรไปจะกระทบกระเทือนมาก

 

ต่อข้อถามว่า  สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จะเหมือนกับกรณีอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบพยายามขอความร่วมมือจากภายนอกเหมือนกับกรณีที่อาเจะห์  ก็แสดงว่ามีการติดต่อกันภายนอก ซึ่งตนมีเอกสารระบุว่ามีการติดต่อกันตั้งนานแล้ว  แต่ไม่ใช่เอกสารของทางการไทย  แต่เป็นเอกสารของนักวิชาการชาวอเมริกันคนหนึ่ง  ตั้งแต่เจไอ และสายของอัลกออิดะห์ แต่ว่าเขาแยกกันระหว่างฮัมบาลี กับภาคใต้  มีเป้าหมายต่างกัน  ภาคใต้อาจจะติดต่อเส้นสายในภูมิภาค  แต่ฮัมบาลี หรืออัลกออิดะห์ มุ่งเป้าใหญ่ใน  กทม. แต่เราจับได้ก่อน. 

 

.............................

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

 

[ 2005-10-19 : 19:21:22 ]

 

 

Copyrights © MCOT Public Company Limited., 2004. 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท