Skip to main content
sharethis


 


 


ประชาไท - 20 ต.ค.2548 เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เตรียมเดินเท้าเคลื่อนทัพธรรมยาตราจากเชียงดาวเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยันยันเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เดิม โดยคัดค้านการที่ กมธ.ร่วม 2 สภา เสนอให้เพิ่มเติมบทการประกาศ "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งเอื้อต่อการใช้อำนาจรัฐ และเป็นเครื่องมือในการประกาศเขตป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนัก


 


เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยมีการเพิ่มเติม "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่ง หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการร่วมลงมติ 11 ต่อ 4 ในการเพิ่มเติมเขตอนุรักษ์พิเศษที่ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนได้


 


โดยมีการนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษว่า เป็นเขตพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะคือ 1.พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ 2.พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง 3.พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางกายภาพและชีวภาพ หรือแหล่งศึกษาธรรมชาติ 4.พื้นที่ที่มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ เช่น มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์


 


ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการเพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนด้วยนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอยู่ 81 ล้านไร่ เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งตรงตามตามนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษถึง 72 ล้านไร่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ดูแลพื้นที่เหล่านี้ในฐานะป่าชุมชนกันมานาน


 


ล่าสุด นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือกล่าวว่า ในขณะนี้ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทางกรรมาธิการร่วมเสนอให้มีการเพิ่ม "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" เข้าไป เพราะถือว่า ผิดเจตนารมณ์เดิม ที่มุ่งให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่หากเพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษนี้เข้าไป ก็จะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพื่อทำการประกาศเขตป่า และกีดกันชาวบ้านออกไป ชาวบ้านคงรับไม่ได้ เพราะว่าอุตส่าห์รอลุ้นกันมานาน นอกจากจะล่าช้ามากอยู่แล้ว กลับมีการเพิ่มของหนักๆ เข้าไปอีก


 


"ในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนเดิมนั้น ชาวบ้านต้องการมุ่งเน้นการปฏิรูประบบการบริหารจัดการป่าไม้ เป็นสิ่งสำคัญ โดยให้ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าร่วมกัน ไม่ใช่มีการเพิ่มเติมอำนาจรัฐเข้าไปและกีดกันชาวบ้านอย่างนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านรุนแรงขึ้นไปอีก เนื่องจากจะต้องถูกอพยพย้ายออกจากพื้นที่" นายเดโช กล่าว


 


ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวต่อว่า หากทางกรรมาธิการร่วมฯ ยังไม่เชื่อ ยังไม่เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับเดิม ชาวบ้านได้นัดหมายกันว่า จะมีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อเดินธรรมยาตรา เพื่อร่วมกันรณรงค์เผยแพร่เนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับเดิม ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันร่างและเสนอรายชื่อกันทั้งหมดกว่า 50,000 รายชื่อ โดยในเขตภาคเหนือ จะพร้อมใจกันเดินตั้งแต่ อ.เชียงดาว ลงไปที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เพราะถือว่า เป็นวันที่สภาฯ ได้เคยรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง


 


ในขณะที่นายนิคม พุทธา ผู้ประสานเครือข่ายป่าชุมชน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่อง พื้นที่อนุรักษ์พิเศษนี้ เป็นประเด็นที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทส. ได้เสนอแทรกเข้ามาทีหลัง ทั้งๆ ที่ ก่อนนั้น ทางกรรมาธิการร่วม ทั้ง 2 สภา ก็เห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนเดิมอยู่แล้ว


 


"ตอนนี้ เราจะรอดูต่อไปว่า ถ้ากรรมาธิการร่วมพิจารณาเรียบร้อย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้องเข้ามาสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร โดยวิปฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล จะต้องมาตกลงกันว่า จะรับหรือไม่รับ ถ้ารับ จะมีการพิจารณาอยู่ 2 ทางเลือก คือรับร่างปรับปรุงแก้ไขของกรรมาธิการร่วม และไม่รับ ซึ่งถ้าหาก สภาฯ ไม่รับร่างที่ทางกรรมาธิการร่วมฯ เสนอ ก็จะยืนยันกลับไปยึดร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชนเดิม"


 


อย่างไรก็ตาม รายงานแจ้งว่า ทางเครือข่ายป่าชุมชน ได้ตกลงกันแล้วว่า จะยืนยันเจตนารมณ์เดิม คือ ยืนยันในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน ที่เคยผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2545 และยืนยันจะไม่รับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่กรรมาธิการร่วมที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษเข้าไป


 


ทั้งนี้เครือข่ายป่าชุมชนวิเคราะห์กันว่า อาจจะมีการกดดันการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนในสภากันอย่างแน่นอน เนื่องจาก กระแสอำนาจการบริหารและ อำนาจทางการเมืองได้เข้าไปครอบงำอำนาจทางนิติบัญญัติกันอยู่อย่างมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ทางภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับเดิม โดยในส่วนเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ จะมีการเดินธรรมยาตรา จาก อ.เชียงดาว ลงไปที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายคือ ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net