Skip to main content
sharethis


ประชาไทคัดสรร - ผู้จัดการออนไลน์ 23 ตุลาคม 2548 17:09 น. … ม็อบเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นคน เคลื่อนทัพบุกกรุงทวงถามแก้ปัญหาหนี้สิน-ความยากจน จากรัฐบาลวันนี้ (24 ต.ค.) พร้อมเรียกร้องใช้กลไกกองทุนฟื้นฟูฯแก้หนี้ เผยประชานิยมแก้จน "ทรท." ล้มเหลว ชาวบ้านสิ้นศรัทธา ระบุวัวล้านตัวแค่ลากเกษตรกรเป็นลูกจ้างนายทุน ชี้นโยบายหว่านเงินของรัฐทำประชาชนหนี้สิ้นล้นพ้นตัว หมดปัญญาใช้คืนส่งผลคนจนพุ่ง เตือนนำไปสู่ "ขบวนการเบี้ยวหนี้แห่งชาติ" ด้านม็อบลูกจ้างชั่วคราว รพ.รัฐ ระดมพลบุกกระทรวง สธ.25 ต.ค. จวกรัฐเบี้ยวสัญญาเตะถ่วงยื้อปัญหา


              


วันนี้ (23 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สคปท.) โดยการนำของ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน นายวีรพล โสภา ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย นายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนอีสาน พร้อมด้วย นายสวัสดิ์ จักพุดซา นายฉลอง น้อยแสง นายณัฐวัตร์ แย้มขุนทอง และนายคมกริช พิลาสมบัติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงการเตรียมการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรทั่วประเทศ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) เพื่อทวงถามการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนให้กับประชาชนต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่เคยรับปากกับประชาชนก่อนการเข้ามาบริหารประเทศ


      


นายวีรพล โสภา ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สคปท.) และผู้แทนองค์กรชาวนาโลก (Via Campesina) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) เครือข่าย สคปท.5 ภาค ทั้งจากภาคอีสาน กลาง เหนือ ใต้ และภาคตะวันออก จำนวนประมาณ 2 หมื่นคน จะเดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อกรอกหูชาวบ้านผ่านสื่อมวลชนหาคะแนนนิยมไปวันๆ ดังเช่นที่ผ่านมา


      


ทั้งนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีรับปากในการประชุม กฟก.เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยขอเวลา 60 วันเพื่อใช้กลไกของ กฟก.แก้ไขปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูให้แก่สมาชิก จากนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพิ่มเติมโดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธาน จนบัดนี้กลไกโดยเฉพาะกรรมการจัดการหนี้ 21 คนยังไม่สามารถแต่งตั้งได้ ดังนั้น เราจึงต้องเดินทางไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใน 2 ข้อ คือ เร่งรัดการแต่งตั้งกรรมการจัดการหนี้ 21 คนโดยด่วนที่สุด และให้โอนหรือซื้อหนี้ที่ผ่านการสางหนี้แล้วใช้กลไกตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ดำเนินการ


      


"ผมเห็นว่าที่ผ่านมาถ้าหากจะนำนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยที่เคยรับปากกับประชาชนก่อนเข้าบริหารประเทศมาประเมินผลการทำงาน ถือว่ารัฐบาลชุดนี้สอบตก จะเห็นได้จากนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนที่ล้มเหลว รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ มีคนจนที่ไปขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการแห่ไปถอนชื่อออก เพราะหมดความเชื่อถือศรัทธา และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ อีกทั้งมีบางคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหลอกและบังคับให้ไปถอนชื่อแต่รัฐบาลกลับบอกว่ามีคนจนลดน้อยลง" นายวีรพล กล่าว


      


นายวีรพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นโยบายวัวแก้จนที่จะแจกให้กับเกษตรกร ก็เป็นเพียงการที่จะให้เกษตรกรไปเป็นลูกจ้างแรงงานเลี้ยงวัว ให้กับบริษัทที่รัฐบาลจะร่วมมือกับนายทุนจัดตั้งขึ้นมาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ส่วนนโยบายขุดสระ 3 แสนบ่อทั่วประเทศ นายกฯทักษิณก็ระบุไว้ในรายการวิทยุนายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชนว่า ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ เพราะเงินที่ชาวบ้านจะสมทบ 2,500 บาทต่อสระนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากน้ำมันแพงขึ้นจะต้องนำก๊าซเอ็นจีวีมาใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในการขุดสระซึ่งถือเป็นการให้ความหวังอย่างเลื่อนลอยแก่ประชาชนไม่รู้ว่าจะเป็นรูปธรรมเมื่อใด


      


นโยบายโปรยเงินทำหนี้สินล้นพ้นตัว-คนจนพุ่ง


ด้าน นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า สภาพทั่วไปในวันนี้ชาวบ้านได้แปลงร่างจากผู้มีหนี้สินพะรุงพะรังไปเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ซึ่งจากรายงานการวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2544 หนี้ภาคครัวเรือนมีขนาด 68,279 บาท และผลสำรวจล่าสุดพบว่า เมื่อสิ้นปี 2547 ขนาดหนี้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 104,571 บาท หรือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขนาดของหนี้ได้โตขึ้นถึง 36,292 บาท เฉลี่ยแล้วมีอัตราเร่งถึง 12,097 บาทต่อปี


      


ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการระดับชาติแก้ไขปัญหาของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานวิจัยของราชการร่วมกับ สกน. ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือคือเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง พบข้อมูลที่วิตกมากคือเกษตรกรถึงร้อยละ 87 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่ว่าจะทำการลดหรือหยุดดอกเบี้ยหรือขยายเวลาออกไปนานเท่าใดก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่านโยบายโปรยหว่านเงินโดยทุนรัฐทั้งหมดนี้เป็นตัวการทำให้ศักยภาพของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนหมดปัญญาสิ้นหนทางหาเงินมาชำระหนี้


      


"ผลที่ตามมาคือ จำนวนคนยากจนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับนโยบายของรัฐที่จะให้คนจนหมดไปในปี 2551 และพยากรณ์ได้เลยว่าท้ายที่สุดรัฐไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยกหนี้ให้" นายสมเกียรติ กล่าว


      


เตือนเกิดขบวนการเบี้ยวหนี้แห่งชาติ


นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องหนี้กับต่างประเทศ กรณีของเม็กซิโกขณะนี้ประชาชนได้รวมตัวกันอย่างกว้างขวาง เป็นเครือข่ายทั่วประเทศแล้วเรียกตนเองว่า "ขบวนการเบี้ยวหนี้แห่งชาติ" ขบวนการนี้ได้รณรงค์อย่างกว้างขวาง ให้ทุกคนปฏิเสธการชำระหนี้ เพราะถือว่าหนี้เป็นผลมาจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคม เทียบแล้วไทยก็จะมีพัฒนาการ 3 ขั้นเช่นกัน คือ ขั้นที่ 1 พักหนี้ ขั้นที่ 2 ลดหนี้ และขั้นสุดท้ายคือยกหนี้ให้


      


"นโยบายและมาตรการการแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ที่นายกรัฐมนตรีประกาศ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมาจัดอยู่ขั้น 2 คือลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีประชาชนได้ประโยชน์น้อยมากไม่ถึง 5 แสนรายในขณะที่ประชาชนคนจนกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือราว 8 ล้านคน เมื่อรวมข้าราชการชั้นผู้น้อยเข้าไปด้วย จะไม่ได้อานิสงส์อะไรกับนโยบายที่รัฐบาลอ้างว่า สุดยอดอันนี้เลย" นายสมเกียรติ กล่าว


      


ม็อบลูกจ้าง รพ.รัฐเข้าสมทบ 25 ต.ค.


ทางด้าน นางกนกพร สุขสนิท แกนนำกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวเงินนอกงบประมาณ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 25 ต.ค.นี้ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจะเดินทางไปชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามทวงถามที่รัฐบาลรับปาก ในคราวที่ไปชุมนุมครั้งก่อนเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาบรรจุลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีอายุงานเกิน 5 ปี เป็นพนักงานราชการ


      


โดยในเรื่องนี้ น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือของกระทรวงฯ ลงวันที่ 23 ก.ย. 2548 ไปถึงเลขาธิการ ครม. เสนอให้ ครม.อนุมัติเปลี่ยนสถานะลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินบำรุงและอื่นๆ เป็นพนักงานราชการ พร้อมทั้งได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษคนละ 1 พันบาทต่อเดือน แต่เลขาธิการครม.กลับถ่วงเรื่องนี้เอาไว้ แล้วทำหนังสือกลับไปขอความเห็นจาก 5 หน่วยงานอีกรอบ คือกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ และสำนักงานงบประมาณ เสียก่อน


      


"เท่ากับว่าเรื่องนี้จะยืดเยื้อต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้รับปากพวกเราไว้แล้วว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน บัดนี้ได้เลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พวกเราจึงจำเป็นต้องเดินทางไปทวงถามที่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง" นางกนกพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net