Skip to main content
sharethis



 


 


 


วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2005 15:05น.  ไพรัช มิ่งขวัญ, กิ่งอ้อ เล่าฮง  


"ลูกสาว 2 คนจะถามตลอดว่า เมื่อไหร่พ่อจะกลับมา  ซาลีฮะก็ได้แต่บอกเขาว่า พ่อจะกลับมาวันฮารีรายอ " หญิงหม้ายวัย 28 ปีเล่าด้วยน้ำตานองหน้า  ทั้งๆ ที่รู้แก่ใจดีว่าสิ่งที่กล่าวกับลูกๆเดือนพฤศจิกายนปีนี้ไม่มีทางจะเป็นจริงได้เลย


 


มือกร้านเกรียม  "ซาลีฮะ มามะ" หญิงหม้ายลูกติด 4 คน ยกขึ้นปาดน้ำตาบนใบหน้าเป็นระยะๆยามเมื่อเล่าถึงชะตากรรมของครอบครัว หลังต้องสูญเสียสามี "มือลี อะแวกือจิ" จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา


 


เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ 4 คน "มูฮัมหมัดฮาเร็น" ลูกชายคนโตวัย 11 ขวบ "มาลีแย" ลูกสาววัย 8 ขวบ "มามะสุกาไน"และ "มูซัมมีน" เด็กชายวัย 6ขวบและ 4 ขวบตามลำพัง ในจำนวนลูกๆทั้งหมดมีเพียงฮาเร็นเท่านั้นที่ทราบดีว่าวันนี้พ่อได้จากพวกเขาไปแล้ว ขณะที่น้องๆยังมีความเชื่อว่าเหตุที่พ่อยังกลับไม่ถึงบ้านเพราะว่า ไปรับจ้างทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว


 


"ลูกสาว 2 คนจะถามตลอดว่า เมื่อไหร่พ่อจะกลับมา  ซาลีฮะก็ได้แต่บอกเขาว่า พ่อจะกลับมาวันฮารีรายอ " หญิงหม้ายวัย 28 ปีเล่าด้วยน้ำตานองหน้า ทั้งๆที่รู้แก่ใจดีว่าสิ่งที่กล่าวกับลูกๆเดือนพฤศจิกายนปีนี้ไม่มีทางจะเป็นจริงได้เลย


 


ตั้งแต่สามีที่เปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัวลาลับทำให้ "ซาลีฮะ"ต้องแบกรับภาระและค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวทุกอย่าง จากเดิมที่เคยมีรายได้หลักจากเข้าไปรับจ้างทำงานก่อสร้างของมือลือที่มาเลเซียเดือนละเกือบ 6,000 บาท  เหลือเป็นรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 60-100 บาทจากค่าจ้างเย็บ "กาเฮงกุบง" ของเธอคนเดียว ยิ่งกว่านั้นบ้านและที่ดินที่เคยอาศัยอยู่พร้อมกับครอบครัวก็ถูกทวงคืนจากพ่อแม่สามี


 


"แม่ยายเขาเกลียดชังอะไรซาลีฮะก็ไม่รู้ เขาไม่เคยมาดูแลหลานเลยๆ ที่ดินที่ยกให้แฟน เขาก็เอาคืน ซาลีฮะเจอเขาเข้าไปทัก เขาก็ไม่คุยด้วย เขาบอกว่าซาลีฮะเป็นคนยุให้สามีไปตายที่ตากใบ เรามีลูกด้วยกันตั้ง 4 คน จะทำอย่างนั้นทำไม ทุกครั้งที่ถูกต่อว่าซาลีฮะเสียใจมาก แต่ก็ต้องอดทน พระเจ้าคงกำหนดมาแล้ว"หญิงหม้ายจากบ้านกาลุวอเหนือกล่าวพร้อมยกมือทั้งสองข้างปิดหน้าราวกับไม่อยากนึกถึง


 


ก่อนจะย้อนเหตุการณ์ก่อนสามีจะจากไปให้ฟังว่า เช้าวันที่ 25 ตุลาคมปีที่แล้ว "มือลี"ได้ออกจากบ้านตามปกติ  ทุกๆวันเขาจะขับมอเตอร์ไซค์ผ่านเข้าไปทางด่านปึงกาลังกูบูซึ่งอยู่ติดกับ      ด่านตรวจคนเข้าเมืองอ.ตากใบพร้อมๆกับเพื่อนบ้านเพื่อเข้าไปรับจ้างทำงานก่อสร้างในประเทศมาเลเซีย โดยได้รับค่าจ้างวันละ 200  บาท และจะกลับถึงบ้านเวลาประมาณสี่โมงเย็น แต่วันนั้นมือลีก็ไม่ได้กลับมา


 


"ซาลีฮะคิดว่า  แฟนคงติดอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นธรรมชาติของคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไปมุงดูกับเขา เชื่อว่าเขาคงไม่ได้ไปประท้วงอะไร แล้วตรงนั้นเขาจะต้องผ่านทุกวันอยู่แล้ว  ตอนแรกยังเชื่อว่า มือลีไปทำงานแล้วยังข้ามกลับมาไม่ได้ เพราะว่าทางนี้ยังมีปัญหาชุมนุมประท้วง แต่พอมาทราบอีกทีเขาตายแล้ว ตายเพราะขาดอากาศหายใจ"ซาลีฮะย้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


 


การเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมที่หน้าสภอ.ตาก จำนวน 78 ศพ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การจัดการด้านยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอย่างเดียว แต่ปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลมีมติตัดสินใจจ่ายค่าเยียวยาเพื่อเป็นค่าชดเชยให้กับผู้สูญเสียรายละ 3 แสนบาท  โดยเงินจำนวนนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะเป็นผู้จัดสรรให้ว่าใครควรจะได้รับเงินมรดกจำนวนนี้บ้าง


 


"ซาลีฮะได้มาเพียง 37,000 บาท ลูกชาย 3 คนได้คนละประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทรวม6 หมื่น ส่วนลูกสาวได้ 2 หมื่นบาท เงินจำนวนนี้รวมกับค่าเยียวยาที่ได้ครั้งแรกประมาณ 4 หมื่นนะ ส่วนครอบครัวแม่ยายได้ไป 1 แสนบาท เงินที่ซาลีฮะได้รับหากรวมกับลูกๆอีก 4 คน ก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากๆ เพราะว่าลูกทุกคนต้องเรียนหนังสือ ต้องกินต้องใช้ ไม่รู้เหมือนกันว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นึกไม่ออกจริงๆ"หญิงหม้ายกล่าวถึงชะตากรรม


 


ทุกวันนี้ซาลีฮะและลูกๆต้องย้ายกลับมาอยู่กับพ่อและแม่ที่บ้านเดิมโดยปลูกบ้านแยกอยู่ต่างหากด้วยเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากค่าชดเชยการเสียชีวิตของสามี เช่นเดียวกับ  "ซูไฮลา ละตีนิง"หญิงสาววัย  25 ปี ที่ต้องสูญเสียสามีจากเหตุการณ์เดียวกันขณะที่เธอตั้งครรภ์ได้เพียง 4 เดือน นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ลูกสาวของเธอลืมตาดูโลกครบ 7 เดือนแล้ว


 


 


 "ช่วงแรกๆร้องไห้ทุกคืน เสียใจแทบเป็นบ้า พยายามอดใจไม่นึกถึงเรื่องที่ผ่านมา  ตอนนี้ทำใจได้แล้ว "ซูไฮลาบอกด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ


 


สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับมานั้น เธอบอกว่าส่วนหนึ่งต้องแบ่งให้บ้านของสามี อีกส่วนหนึ่งนำไปปลูกบ้านหลักเล็กๆอยู่กับลูกตามลำพัง


 


"วันนี้อยู่กับลูกสองคน พยายามหาเงินเลี้ยงครอบครัวจะอยู่เฉยๆไม่ได้ ทุกวันนี้รับจ้างปักฮิยาบได้วันละไม่กี่สิบบาท "


 


ซูไฮลา บอกว่า ชีวิตของเธอขณะนี้เปรียบเสมือนคนที่ยืนอยู่ท่ามกลางความมืดมิด บางครั้งกลัว บางครั้งท้อจนแทบไม่อยากจะสู้ชีวิต แต่โชคดีที่ยังมีลูก เวลาหมดกำลังใจคิดอะไรไม่ออก ได้มองเห็นใบหน้าและรอยยิ้มของเขาแล้วทำให้เราสามารถมีแรงที่จะต่อสู้เพื่ออนาคตในวัน้างหน้าของเขาต่อไปได้อีก


 


ชีวิตของครอบครัวผู้สูญเสียเสาหลักของครอบครัวทุกคนดูจะไม่ต่างกันมากนัก"สารีป๊ะ มามะ"ม่ายสาววัย 25 ปีเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่พ่อและแม่เลี้ยงดูลูกน้อยวัย 8 เดือนเศษตามลำพัง


 


เธอ ย้อนวินาทีเลวร้ายที่สุดในชีวิตให้ฟังว่าภายหลังทราบข่าวการจากไปของสามี ตอนนั้นแทบล้มทั้งยืน โลกทั้งใบมืดมิด คำสัญญาที่จะสร้างอนาคต ความฝันที่จะอยู่กันพร้อมหน้า พ่อ แม่ ลูก สูญสลายในพริบตา มรสุมชีวิตลูกนี้แทบทำให้เธอยอมจำนน


 


"หมดสิ้นทุกอย่าง  ความหวังเดียวคือลูกที่อยู่ในท้องทำให้ต้องลุกขึ้นสู้"น้ำเสียงของซารีป๊ะสั่นเครือเมื่อพูดถึงพ่อของลูกที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเห็นหน้ากัน


 


เมื่อยามที่สามียังอยู่สารีป๊ะไม่เคยทำงานหนัก ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องภายในครอบครัว แต่วันนี้เมื่อไม่มีเขาแล้ว เธอต้องพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหารายได้มาจุนเจือชีวิตที่ยังเหลืออยู่


 


"ทุกวันนี้ยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งแน่นอน เราเรียนมาน้อยหางานทำยากทุก เวลารับผ้าฮิยาบาปักก็ต้องทำตอนลูกหลับ เพราะไม่มีคนช่วยดู อยากมีงานทำ แต่ลูกก็ต้องเลี้ยงดูไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน"เธอกล่าว


 


ส่วนการรวมตัวของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับ 78 ศพในคดีตากใบนั้น ทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ชีวิตของลูกชาย ลูกสาวของพ่อแม่ และสามีของภรรยาทุกๆครอบครัว ไม่อาจตีราคาเป็นเงินตราได้ และถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกคนมีชีวิตกลับคืนมา แต่เมื่อพระเจ้ากำหนดให้ชะตากรรมเป็นเช่นนั้นก็ต้องอดทนและยอมรับว่า ดังนั้นเมื่อเกิดความสูญเสียที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น พวกเธอก็มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างยั่งยืน


 


"มีสามีใหม่เหรอ ใครจะเอาลูกตั้ง 4 คน ทุกคนมีลูกติดทั้งนั้น สิ่งที่พวกเราอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การเยียวยาในระยะยาว ฝึกอาชีพให้ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ตอนนี้พวกเราลำบากมาก งานก็ไม่มีทำ ไม่รู้เหมือนกันว่า ชีวิตในวันข้างหน้าจะเป็นยังไง ตอบไม่ถูกจริงๆ" สารีป๊ะกล่าวพร้อมกับถอนหายใจ


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไปอาจดูรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับครอบครัวผู้สูญเสียทุกชีวิตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเยียวยากับผู้ที่มีบาดแผลทางใจคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมมือกันรักษาและเย็บปากแผลไม่ให้เปิดขึ้นได้อีกหรือไม่


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net