Skip to main content
sharethis


วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2005 18:21น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ปฎิบัติการปล้นปืน ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) พร้อมๆ กัน 59 จุด 20 อำเภอในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะกล่าวไม่ได้เต็มปากว่า เป็นการเปิดยุทธการตอบโต้ของกลุ่ม "เยาวชนเปอมูดอ-เบอซาตู" หลังจากเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีตากใบ แต่ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้มีนัยเกี่ยวเนื่องกันในเชิงลึก


 


โดยเฉพาะการหายตัวไปของกลุ่มเด็กวัยรุ่นอย่างน้อย 80 คนในเขตพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกระบุจากเจ้าหน้าที่ชุดติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มแนวร่วมดังกล่าวว่า มีการแอบพบปะกันในสถานที่แห่งหนึ่ง ใน จ.ปัตตานี เพื่อรับมอบนโยบายจากกลุ่มแกนนำ ให้กลับมาสร้างความวุ่นวาย และสร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ จ.นราธิวาส ครั้งใหญ่ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม 2548


 


และมีเป้าหมายสำคัญคือ ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มใส่ฐานปฏิบัติการณ์ของเจ้าหน้าที่ สถานียุทธศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลม หมู่บ้านและชุมชนไทยพุทธ  ใช้กองกำลังกลุ่มเยาวชนเบอร์ซาตูลอบเผาและวางเพลิงสถานที่ราชการ สถานีอนามัย โรงเรียน และวัด


 


โดยปฎิบัติการดังกล่าวจะแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน คือชุดโรยตาปูเรือใบ เผายางรถยนต์ขวางถนน และชุดโค่นต้นไม้ขวางถนน เพื่อถ่วงเวลาการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่กองกำลัง และชุดรถจักรยานยนต์ตระเวนวางยาเบื่อสุนัขที่เฝ้าอยู่ตามสถานที่ราชการต่างๆ ก่อนชุดใหญ่จะลงมือซ้ำ!!!!


 


แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แทนที่กลุ่มคนร้ายจะเลือกก่อเหตุในพื้นที่ล่อแหลมตามหมู่บ้านและชุมชนไทยพุทธ กลับเลือกลงมือในหมู่บ้านเขตพื้นที่ชุมชนมุสลิม ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่า เหตุใดปฎิบัติการปล้นปืนในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ได้รับการฝึกฝนจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย


 


เป็นเพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้กระนั้นหรือ ทั้งๆ ที่ได้รับการฝึกอาวุธและยุทธวิธีมาแล้ว


 


เป็นเพราะคนกลุ่มนี้บางส่วนถูกแทรกซึมจากกลุ่มแนวร่วมในหมู่บ้านที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ในชุด ชรบ.กระนั้นหรือ


 


เป็นเพราะอาจจะมีการสมยอมให้ถูกปล้นปืนเพื่อต้องการรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตทรัพย์สินของครอบครัวใช่หรือไม่


 


หรือเกิดจากความอ่อนแอของกลุ่มคนร้ายที่ไม่สามารถโจมตีในเขตหมู่บ้าน วัด มัสยิด จุดยุทธศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่รัฐวางกำลังไว้อย่างเข้มแข็ง จึงพยายามเลือกลงมือในจุดที่อ่อนที่สุด นั่นก็คือ ชุด ชรบ.ซึ่งกลุ่มแนวร่วมและแกนนำต่างรู้เส้นทางทะลุปรุโปร่งว่า มีใครคนไหนในหมู่บ้านกำลังกระด้างกระเดื่องต่อกลุ่มของตนเอง และเริ่มมีปฎิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการสร้างความปั่นป่วนขึ้นในพื้นที่


 


นอกจากนี้จุดที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การเข้าก่อเหตุพร้อมๆ กันในครั้งนี้ หากไม่มีกลุ่มแกนนำหรือแนวร่วมที่อยู่ในหมู่บ้านแล้ว เหตุใดจึงมีปฏิบัติการณ์คล้ายกองกำลังนักรบ ใช้อาวุธปืนสงครามที่ร้ายแรง สวมหมวกไหมพรมปกปิดใบหน้า และบางคนยังทาสีดำเพื่ออำพรางใบหน้า


 


ภายหลังเกิดเหตุได้มีการวิเคราะห์ปฏิบัติการของกลุ่มคนร้ายโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ว่า มี 3 ประเด็นที่เป็นไปได้ คือ


 


1.การบุกปล้นเกิดขึ้นในหมู่บ้านมุสลิมและมีการโจมตีชุดผู้ใหญ่บ้านและ ชรบ.ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังแข็งข้อกับฝ่ายตรงข้าม


 


2.ในบางจุดแม้จะเป็นชุด ชรบ.แต่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เนื่องจากกำลังที่มีอยู่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะการตอบโต้กลับกลุ่มผู้ร้ายซึ่งยังไม่มีการวางยุทธวิธีอย่างเป็นระบบ


 


3.การก่อเหตุพร้อมๆ กันในพื้นที่ต่างๆ มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า และมีเจตนาที่จะโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้วางกำลังป้องกันไว้อย่างเข้มแข็ง จึงกระทำการกับพวกเดียวกันเอง


 


ซึ่งการเลือกทำพวกเดียวกันเองมีการหวังผลไว้แล้วว่า นอกจากจะเป็นการเขย่าขวัญเพื่อคุกคามไม่ให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งเป็นไทยมุสลิมเข้ามาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของกลุ่มคนร้าย เนื่องเพราะปฏิบัติการเชิงรุกและการทำงานมวลชนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เริ่มได้ผล


 


ดังนั้นหากปล่อยให้งานด้านมวลชนของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขยายผลและครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้นเท่าใดก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ และวิธีการเดียวที่จะสามารถดึงชาวบ้านให้กลับมาเป็นพวก หรือไม่ยอมเป็นพวกแต่ก็ไม่กล้าแข็งข้อก็คือ การสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มชาวบ้านและต้องการควบคุมแนวร่วมไม่ให้แตกแยก โดยทำให้เห็นว่า รัฐไม่สามารถคุ้มครองและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนของตนเองได้


 


ปรากฏการณ์ยิงตอบโต้จนทำให้คนร้ายส่วนหนึ่งเสียชีวิตโดยผู้ใหญ่บ้านและชุด ชรบ.บางส่วนเสมือนเป็นการส่งสัญญาณบอกโจรใต้ว่า ชาวบ้านเริ่มทนไม่ไหว และไม่อยากตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เหมือนที่ผ่านๆ มาอีกแล้ว และเมื่อไม่มีหนทางอื่นๆ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การลุกขึ้นมาต่อสู้


 


กระนั้นก็ตาม สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในพื้นที่นั้น ในระดับนโยบายของหน่วยงานทางด้านความมั่นคงที่ได้ร่วมวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ มีความชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการปรับยุทธศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในหลายๆ พื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีบ้าง


 


โดยเฉพาะการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝึกให้กลุ่มราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ซึ่งต้องมีการฝึกฝนให้เข้มงวดมากกว่าเดิม ทั้งในเขตหมู่บ้านไทยพุทธและมุสลิม


 


ส่วนชุด ชรบ.ตามหมู่บ้านต่างๆ นั้น จากการถูกโจมตีในครั้งนี้ถือว่า เป็นจุดที่ยังอ่อนที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ควรมีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาใครมาฝึกก็ได้


 


โดยประเด็นสำคัญ คือการตรวจสอบประวัติของผู้ที่จะมาเข้ารับการฝึกด้วย ทั้งกลุ่มวัยรุ่น และชาวบ้านทั่วไป เพราะไม่มีสิทธิทราบว่า จะมีแนวร่วมหรือแกนนำแอบเข้ามาหาข้อมูลรายละเอียดอะไรหรือไม่  อีกทั้งการฝึก ชรบ.เพื่อรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน ควรมีการจัดวางระบบ ไม่ใช่มีงบจัดฝึกก็ทำไปแกนๆ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net