Skip to main content
sharethis


 


 


ไข้หวัดนกระบาดรอบแรกในปี 2003 ได้คร่าชีวิตคนเอเชียไปประมาณ 60 คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยและเวียดนาม และได้มีการฆ่าไก่ไปหลายสิบล้านตัว โดยส่วนใหญ่คนที่ติดเชื้อไข้หวัดนกนั้นเกิดจากการสัมผัสจากตัวไก่หรือมูลไก่โดยตรง แต่ในปีนั้นการตื่นตัวในระดับโลกก็ยังไม่มากขนาดนี้ เพราะเหตุเกิดเฉพาะที่เอเชียบางประเทศเท่านั้น และดูเหมือนว่าจะมีการจัดการที่เชื่อว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้


 


แต่ขณะนี้มีความวิตกเกิดขึ้นอย่างมากต่อการกลับมาของไข้หวัดนก ไม่เพียงเพราะความหวาดเกรงว่าเชื้อจะกลายพันธุ์ซึ่งจะทำให้มีติดต่อจากคนสู่คนได้เท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือเนื่องจากว่าในครั้งนี้เชื้อไข้หวัดนกได้ลามไปถึงประเทศยุโรปซึ่งหลายๆ ประเทศเป็นประเทศร่ำรวย และทันทีที่พบก็เกิดการรวมตัว เรียกประชุมและหารือร่วมกันถึงมาตรการป้องกันทันที หลายประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้ หรือมียารักษาโรคก็เตรียงสำรองผลิตภัณฑ์เอาไว้สำหรับคนในประเทศตนเองในการประชุมร่วมกันของรัฐมนตรีสาธารณสุขจากกว่า 30 ประเทศเมื่อไม่กี่วันมานี้ น่าเสียดายประเทศร่ำรวยไม่รับปากว่าจะ สำรองวัคซีนไว้ช่วยประเทศยากจนด้วย


 


ทีนี้หากลองดูเฉพาะในเอเชียว่าแต่ละประเทศมีมาตรการรับมือกับไข้หวัดนอกอย่างไรบ้าง ก็อาจจะแยกออกเป็นประเด็นต่างๆ 2-3 ประเด็นดังนี้


 


ประเด็นแรก คือ การสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนในชาติ รวมทั้งต่างชาติที่อาจจะต้องนำเข้าอาหารประเภทสัตว์ปีกโดยมีเนื้อหาในการสื่อสาร 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรกบอกว่าไก่หรือสัตว์ปีกจากประเทศของเรา (หมายถึงประเทศนั้นๆ) ปลอดภัย สามารถกินได้เพราะผ่านการตรวจสอบแล้วอย่างดี สำหรับกรณีสื่อสารเพื่อการส่งออก และบอกวิธีถึงวิธีการกิน หรือดูแลตนเองสำหรับการสื่อสารแก่ประชาชน เช่นต้องสุก ต้องไม่สัมผัสโดยตรง ประเทศที่ใช้การสื่อสารในเรื่องนี้ เช่น อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม


 


การสื่อสารประการที่สอง เพื่อเรียกความมั่นใจให้กับทั้งคนในประเทศและต่างประเทศที่กังวลว่าประเทศของตนจะกลายเป็นเหตุแห่งการณ์แพร่เชื้อ ก็จะออกมาประกาศว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างเช่น ในประเทศจีน เมื่อพบว่ามีเด็กผู้หญิง 3 คนเสียชีวิตจากไข้หวัดนก ทางรัฐบาลจีนโดยนายกรัฐมนตรีก็รีบออกมาบอกว่า " เรื่องสถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศนั้น อยู่ในระดับที่ยังสามารถควบคุมได้และสูงกว่ามาตรฐานด้วย" หรือ ประเทศลาวก็เช่นกัน เมื่อมีเด็กเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่สงสัยว่าจะมีไข้หวัดนก และเมื่อไม่พบก็รีบออกมาประกาศว่า "ไม่พบหลักฐานว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนก" ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติก็คงจะไม่มีประกาศออกมา หรือแม้แต่ประเทศไทย ที่มีคนพบหลักฐานว่าติดเชื้อไข้หวัดนก ก็บอกว่า "เรายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้" รวมทั้งประกาศตัวเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องการรับมือกับไข้หวัดนกที่พร้อมจะช่วยเหลือประเทศอื่นๆ แม้แต่กับประเทศที่พัฒนาแล้ว


 


นอกจากนั้นสำหรับบางประเทศยังได้มีการออกประกาศว่า "เป็นประเทศที่ปลอดจากไข้หวัดนก" เช่น  ฟิลิปปินส์ ซึ่งประกาศว่าขณะนี้เป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก แต่ก็ได้เริ่มสื่อสารเพื่อการป้องกันให้กับประชาชนในประเทศรวมทั้งประกาศยืนยันให้ต่างชาติมั่นใจด้วย ศรีลังกาที่ออกมาบอกว่าไม่พบไข้หวัดนกเพราะได้มีการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2003 รวมทั้งประเทศโอมานและกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งออกแถลงการณ์ว่า โอมานและกลุ่มประเทศอาหรับเป็นเขตปลอดไข้หวัดนก


 


ประเด็นที่สองในการรับมือกับไข้หวัดนก  คือ  การวางมาตรการป้องกันและออกปฎิบัติในพื้นที่ แต่ละประเทศใช้วิธีการหลายอย่างทั้งเหมือนและแตกต่างกันดังนี้ มาตรการแรก การออกสำรวจพื้นที่เสี่ยง และมีการฉีดยาฆ่าเชื้อ ฉีดวัคซีนให้สัตว์ปีก และการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ซึ่งทุกประเทศ ดูเหมือนจะใช้วิธีเดียวกัน


 


สำหรับที่เวียดนามนั้นได้สั่งห้ามจำหน่ายเลือดเป็ดและห่าน ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเวียดนามด้วย  นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่ป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาจากประเทศอื่น โดยการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งคุมเข้มบุคคลที่เข้ามาในประเทศ อย่างเช่น ไต้หวัน ให้คนที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า ตรวจเช็คอุณหภูมิในร่างกายวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน หรือเวียดนามที่เตรียมคุมเข้มที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และจะแยกผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดนกออกจากมาและเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 10 วัน บางประเทศถึงกับออกมาตรการว่าจะปิดชายแดนชั่วคราวด้วยซ้ำ อย่างเช่น ออสเตรเลีย (ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในเอเชียแต่เป็นประเทศที่ใกล้ชิดเอเชีย)


 


ประการที่สาม การเตรียมยาและสำรองวัคซีน หลายประเทศเริ่มกังวลอย่างมากต่อประเด็นนี้ เพราะคิดว่าหากการระบาดขยายออกไปมากจริง ประเทศในเอเชียคงยากรับมือไหว ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่ทำการละเมิดสิทธิบัตรยารักษาที่สามารถรักษาไข้หวัดนกได้ที่ชื่อ ทามิฟลู ซึ่งสิทธิบัตรเป็นของบริษัทโรช จากสวิสเซอร์แลนด์ โดยยังไม่รอให้เจ้าของสิทธิบัตรอนุมัติ


 


เวียดนามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประกาศว่าคงจะต้องผลิตทามิฟลูแล้วเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากเวียดนามนั้นเป็นประเทศที่อยู่ในข่ายที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกไปแล้ว 91 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 41 คน โดยเวียดนามกำลังวิตกอยู่ว่า หากควบคุมไม่ได้ ในอนาคตจะมีคนที่ติดเชื้อไข้หวัดนกสูงถึงร้อยละ 10 ของประชากรที่มีอยู่ 82 ล้านคน และอาจจะมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากไข้หวัดนกถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมดโดเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้


 


ดังนั้นจากเหตุการณ์ไข้หวัดนกในครั้งนี้ส่งผลสะท้อนในหลายเรื่องด้วยกัน เกิดการแย่งชิงทรัพยากร เช่น ยา และ วัคซีน แต่ละประเทศต่างเตรียมสำรองไว้ให้เฉพาะคนของชาติตัวเอง สัญชาตญาณของการเอาตัวรอด เกิดการกล่าวโทษและมีความหวาดระแวงต่อกัน อย่างเช่นไต้หวัน ที่ด้วยความหวาดเกรงถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่แพร่เชื้อก็บอกว่า ไก่ เป็ดที่ติดเชื้อไข้หวัดนกนั้นเป็นส่วนที่มีผู้ลักลอบนำเข้าจากจีน ส่วนไก่ในฟาร์มไต้หวันนั้นปลอดภัย หรือการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่เป็นพื้นที่มีไข้หวัดนก 


 


นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นความไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวในการทำงานของคนในเอเชีย หรือแม้แต่อาเซียนด้วยกัน แม้ในยามวิกฤติ  อย่างเช่นควรจะถึงเวลาร่วมมือกันในเรื่องของวัคซีนหรือยา แต่กลับกลายเป็นประเทศใดใคร่ทำก็ทำไป ทั้งๆ ที่ตอนนี้เองที่จะเป็นโอกาสร่วมมือกันหากจะต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามเงื่อนไขของข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อให้สามารถทำให้ยาถูกลงได้เพื่อรักษาชีวิตของประชากรในโลก


 


อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง การที่ไต้หวันได้ฉวยโอกาสในการผลิตยาโดยยังไม่ได้รอการอนุญาตจากบริษัทโรช เจ้าของสิทธิบัตร นั้นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศอื่นๆกล้าที่จะทำตาม แม้จะเป็นเรื่องผิดกฎ แต่นี่ก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิบัตรในเรื่องสุขภาพนั้นเป็นตัวการที่จะทำให้คนตายมากกว่าช่วยคน จึงควรที่จะได้มีการปรับเงื่อนไขหรือยกเลิกสิทธิบัตรเพื่อเห็นแก่ชีวิตมนุษย์


 


ในกรณีของไข้หวัดนกนั้น เป็นเพียงแค่การคาดคะเนว่าจะมีคนล้มตามมากก็สามารถออกมาละเมิดสิทธิบัตรได้แล้ว โดยเชื่อว่า หากเจ้าของสิทธิบัตรจะออกมาคัดค้านนั้นอาจสามารถถูกประณามได้ว่าไร้มนุษยธรรม ดังนั้นแล้วโรคอื่นๆ ที่เห็นอยู่ว่ามีคนล้มตายไปแล้วเป็นจำนวนมากอย่างเช่น เอดส์  ที่หลายประเทศมีการเรียกร้องให้มีมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือยกเลิกสิทธิบัตรก็อาจจะนำเอาไข้หวัดนกมาเป็นกรณีตัวอย่างได้


 


ดังนั้น แม้ในตอนต้นแต่ละประเทศในเอเชียอาจจะต่างคนต่างทำงานเพื่อรับมือกับปัญหานี้ แต่เชื่อว่า เนื่องจากโรคนี้ส่งผลกระทบให้กับทุกประเทศได้เท่าๆ กัน จะป้องกันประเทศตนเองอย่างเดียวคงไม่ได้


 


ดังนั้นไข้หวัดนกนี้เองอาจจะดึงความร่วมมือของประเทศในเอเชียกลับเข้าหากันอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่ร่ำรวยปฎิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net