Skip to main content
sharethis






 

 

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2005 14:03น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ภาพอนาคตเปรียบเสมือนการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งหมายถึงลู่ทางการรักษาที่ผ่อนเบาหรือแก้ไขปัญหาในอนาคตได้


 


สันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้วางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระหว่างผู้คนในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ปัญหาสำคัญคือ เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น กระทบความสัมพันธ์ทั้งสองมิติอย่างไร ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะชี้ให้เห็นแนวโน้มความรุนแรงในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง


 


แนวโน้มของเหตุการณ์รุนแรงในอนาคตอันใกล้


 


4 มกราคม 2547 : บุกปล้นปืนค่ายทหาร


คนร้ายบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4  ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ปล้นปืนไป 403 กระบอก สังหารทหาร 4 นาย พร้อมทั้งลอบวางเพลิงอาคารโรงเรียน และที่พักสายตรวจทั่ว จ.นราธิวาสพร้อมกัน 22 จุด


 


เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการโจมตีแกนแห่งอำนาจการใช้ความรุนแรงของรัฐ คือที่ค่ายทหาร ดังนั้นในสายตาของรัฐจึงต้องตอบโต้ด้วยการรื้อฟื้นสถาปนาอำนาจรัฐในพื้นที่ให้คืนมาโดยเร็วที่สุด ในแง่นี้ 4 มกราคม 2547 เป็นการกระทบกระแทกฐานะของรัฐในสายตาของประชาชน เพราะถ้ารัฐยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธของตนเองไม่ได้ จะทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนตามหน้าที่ของตนอย่างไร สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจึงถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง


 


12 มีนาคม 2547 : ทนายสมชาย


นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม ที่มีบทบาทในการว่าความให้กับชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 20 ปี หายตัวไปหลังพบกับเพื่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เชื่อกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเขา


 


การที่ทนายความที่ต่อสู้เพื่อมุสลิมที่ถูกกล่าวหาในปัญหาความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานถูกอุ้มหายไป เท่ากับการทำลายคนๆ หนึ่งซึ่งเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในระบบด้วยกระบวนการทางกฎหมายตลอดมา


 


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย จึงส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า กระทั่งคนที่มีศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของรัฐตลอดมา ยังไม่สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ คงไม่ต้องกล่าวว่า ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างไร


 


28 เมษายน 2547 : กรือเซะ


เมื่อผู้คนนับร้อยตัดสินใจถืออาวุธอย่างมีดพร้าเข้าโจมตีที่ทำการของรัฐพร้อมๆ กันใน 3 จังหวัด จนเจ้าหน้าที่โต้ตอบด้วยอาวุธปืน ทำให้ผู้ก่อการเสียชีวิต 106 คน


 


ปัญหาคือ คนที่ตายเหล่านี้ถูกจดจำอย่างไร  ศพของคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปฝังโดยไม่มีการอาบน้ำเหมือนศพมุสลิมทั่วไป แต่ฝังไปทั้งหยดเลือดและรอยกระสุน เพราะเห็นคนเหล่านี้เป็นผู้ตาย "ชะอีด" คือคนที่ตายด้วยน้ำมือของคนที่ไม่ใช่มุสลิมในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาศาสนาอิสลาม


 


การใช้มีดพร้าเข้าต่อสู้กับอาวุธสมัยใหม่ เป็นภาพของความกล้าหาญที่มีองค์ประกอบของศรัทธาไว้ด้วยอย่างสำคัญ การเลือกก่อการในวันสำคัญซึ่งคนท้องถิ่นเชื่อว่า เคยเกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายรัฐกับชาวมุสลิมที่ดุซงญอ นราธิวาส เมื่อปี 2491 มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเท่ากับว่าเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 พาคนเหล่านี้เดินเข้าไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เป็นการเชื่อมโยงความแปลกแยกระหว่างชาวมุสลิมในพื้นที่กับรัฐในปัจจุบัน เข้ากับประวัติศาสตร์การต่อสู้รุนแรงในอดีต การต่อสู้ในวันที่ 28 เมษายน 2547 คงทำให้ชาวไทยพุทธในพื้นที่รู้สึกผสมกันระหว่างความรู้สึกไม่เข้าใจการต่อสู้เช่นนี้ กับความหวาดกลัวที่คนธรรมดาๆ อายุตั้งแต่ต่ำกว่า 20 ปี ถึง 60 ปี ลุกขึ้นมาต่อสู้และยอมตายเพื่อความเชื่อของตัว


 


25 ตุลาคม 2547 : ตากใบ


เมื่อคนสามพันคนไปชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เรียกร้องทางราชการให้ประกันตัวชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คน สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 กันยายน 2547 ชาวบ้านปิดล้อมชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจสันติ ที่โรงเรียนบ้านไอบาตู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพราะเข้าใจว่าทหารยิงปืนใส่หญิงชาวบ้านคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ  ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม ชาวบ้านระบุว่ามีชายสองคนแต่งกายคล้ายทหารยิงปืน 3 นัด บริเวณชายหาด อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ชาวบ้านรุมล้อมเจ้าหน้าที่ไว้ แต่ทั้งสองกรณีคลี่คลายได้เมื่อเจ้าหน้าที่ยอมให้ตรวจสอบความจริง ใช้ความอดทน แม้ฝ่ายชุมนุมจะมีอาการก้าวร้าว


 


แต่เหตุการณ์ตากใบกลับพูดคุยไม่สำเร็จ เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน จับกุมไปอีก 1,300 คน ขณะลำเลียงผู้ที่ถูกจับกุมไปยังค่ายทหารที่ จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิตเพราะถูกทับหลายชั้นเป็นเวลานานถึง 79 คน


 


เหตุการณ์นี้สร้างความไม่ไว้วางใจให้ทวีขึ้นในหมู่ประชาชน เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ การปราบปรามด้วยกำลังจึงเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ ยิ่งกว่านั้นวิธีที่รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาจนเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายก็เป็นสิ่งที่รัฐเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้


 


ภาครัฐตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบตามที่ควร ผลคือความเชื่อถือไว้วางใจที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อรัฐยิ่งถูกกร่อนเซาะให้อ่อนแอลงไปอีก


 


เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูรู้สึกชัดว่า รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม และเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ไม่ได้แสดงอาการเสียใจกับความตายของคนเหล่านี้ และมีผู้เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ พี่น้องประชาชนไม่เคยคาดคิดมาก่อน และทำให้การอยู่รวมกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธ  ไทยมุสลิมเปลี่ยนไป


 


นอกจากนั้นในบริบทความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เหตุการณ์ตากใบเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อมวลชนและกลุ่มต่างๆ ในประเทศมาเลเซียวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในทางลบอย่างกว้างขวาง นับเป็นครั้งแรกที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภา โดยสมาชิกทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมกันประณามการใช้มาตรการรุนแรงควบคุมตัวผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 79 คน


 


นอกจากจะกร่อนเซาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวไทยเชื้อสายมลายูแล้ว กรณีตากใบยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงทั่วไปทั้งในแง่ที่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมถูกกดขี่ในประเทศไทย และในแง่ที่รัฐไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำทารุณผู้ถูกจับกุมถึงชีวิต


 


3 เมษายน 2548 : ระเบิดสนามบินหาดใหญ่


เกิดระเบิดหลายแห่งในพื้นที่ จ.สงขลา  โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟู สาขาหาดใหญ่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน และเสียชีวิต 1 คน


 


เหตุการณ์นี้เป็นการจงใจพุ่งเป้าไปที่ราษฎรสามัญในสถานที่สาธารณะ อีกทั้งเกิดขึ้นที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ นับแต่นั้นดูเหมือนว่าแนวโน้มการลอบวางระเบิดจะมีมากขึ้น


 


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำลายชีวิตปกติของสามัญชน ขณะเดียวกันก็สร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่แตกต่างกันอีกด้วย เพราะเป็นไปได้ว่าฝ่ายชาวไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ก็หวาดกลัว รู้ว่าตนจะประสบเคราะห์จากความรุนแรงด้วยน้ำมือผู้คนที่ต่างจากตัวเมื่อใดก็ได้ ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูก็ยิ่งตกเป็นเป้าแห่งความหวาดระแวงทั้งจากรัฐและจากชาวไทยพุทธในพื้นที่มากขึ้น


 


14  กรกฏาคม  2548 : ดับไฟปิดเมืองยะลา


เกิดเหตุปิดเมืองก่อความวุ่นวายในจังหวัดยะลา ไฟฟ้าดับ มีการวางระเบิดในที่ต่างๆ 5 ลูก ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ มีการวางเพลิงเผาร้านรวง ทำให้ชาวบ้านทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมบาดเจ็บ 17 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตสองคน ปรากฏการณ์นี้ทำให้รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามมา


 


ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชาวยะลาและผู้พบเห็นรู้สึกว่าได้สูญสิ้นชีวิตปกติที่ปลอดภัยไปแล้ว ความหวาดกลัวในความปลอดภัยของตัวระบาดไปทั่วในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด ผู้คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิมก็ไม่มั่นใจว่าอำนาจรัฐจะปกป้องคุ้มครองเขาได้ ขณะเดียวกันความระแวงแคลงใจระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมก็ทวีมากขึ้น


 


30-31 สิงหาคม 2548 : 131 ผู้อพยพ


อิหม่ามสะตอปา ยูโซะ ถูกลอบยิงที่บ้านละหาร อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ก่อนสิ้นใจสั่งชาวบ้านว่า อย่าให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูศพ เพราะมั่นใจว่า ผู้ยิงคือเจ้าหน้าที่รัฐ  กลุ่มชาวบ้านกว่า 400 คนเก็บตัวอยู่ในหมู่บ้านไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งบุคคลภายนอกเข้าไปภายในหมู่บ้าน หลังจากนั้นปรากฏว่ามีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเดินทางออกจากประเทศไทยหลบหนีไปในตุมปัส กลันตัน ซึ่งอยู่ตรงข้าม อ.ตากใบ ต่อมาทางการมาเลเซียได้ย้ายคนเหล่านี้ไปอยู่ตรังกานู


 


เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นนานาชาติที่ส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียยิ่งขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด เห็นว่ามาเลเซียควรให้คนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยในมาเลเซีย ขณะที่ผู้นำพรรคปาสในกลันตันเห็นว่า ต้องช่วยเหลือให้คนเหล่านี้มีสิทธิได้รับซะกาต หรือภาษีศาสนาที่มุสลิมทุกคนต้องบริจาค ขณะที่สื่อมวลชนมาเลเซียวิเคราะห์ว่า เป็นปัญหาท้าทายสำหรับมาเลเซีย ถ้ายอมรับให้เข้ามาได้ก็อาจทำให้กลุ่มอื่นๆ ทำตาม อีกทั้งถ้ามีการนำประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในเวลาที่นายกรัฐมนตรีบาดาวี เป็นประธานที่ประชุมมุสลิมโลกหรือโอไอซี ก็จะยิ่งทำให้มาเลเซียถูกเข้าใจผิดไปมากขึ้น


 


20-21 กันยายน 2548 : วิกฤตตันหยงลิมอ


หลังละหมาดมักริบ (หลังตะวันตกดิน) ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนรัวที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีผู้ถูกยิง 6 คน เสียชีวิต 2 คน เกิดข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุ


 


ไม่นานเจ้าหน้าที่มาถึง ชาวบ้านรวมตัวกันเตรียมเข้าล้อม เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ถอยออกไป แต่นาวิกโยธินสองนายออกรถไปไม่ทัน ถูกจับตัวไว้ตลอดคืน และรุ่งเช้ามีความพยายามเจรจาเพื่อให้ชาวบ้านปล่อยทหารทั้งสองนาย ต่อมาช่วงบ่ายวันที่ 21 กันยายน ทั้งสองนายก็ถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทำร้ายจนเสียชีวิต


 


กรณีนี้มีปมปัญหาหลายลักษณะ เมื่อเกิดเหตุร้ายและชาวบ้านไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นที่บ้านละหาร อ.สุไหงปาดี สะท้อนความไม่ไว้วางใจในรัฐอย่างร้ายแรง


 


การจับนาวิกโยธินทั้งสองไว้ อาจแสดงให้เห็นศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชน แต่การปล่อยให้ทั้งสองเสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าชุมชนได้ล่มสลายไป หมดความสามารถจะดูแลปกป้องคนที่อยู่ในอาณัติของชุมชนได้


 


ยิ่งกว่านั้นเหตุการณ์นี้ดูเหมือนทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่มหาชนทั่วไปมาก ถ้าข้อความที่สาธารณชนส่งเข้ามาตามรายการโทรทัศน์และวิทยุเป็นมาตรวัดความรู้สึกคนได้ คงต้องกล่าวว่าสังคมไทยตกอยู่ในความเกลียดชังอาจจะยิ่งกว่าความกลัว ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอกระทบกระแทกความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธทั้งในพื้นที่และในประเทศ กับชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ และอาจจะชาวไทยมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ด้วย


 


 


.......  ผลสะเทือนของเหตุการณ์ทั้ง 8 สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้ใจในรัฐเพราะเห็นว่าไม่สามารถปกปักรักษาพวกตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองได้


 


ในแง่นี้สัญญาณอันตรายของรัฐไทยอยู่ที่ กำลังเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซึ่งบางคนเรียกว่า "รัฐล้มละลาย" (failed states) รัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้  มีอาณาบริเวณที่รัฐเข้าไม่ถึงมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ที่อันตรายยิ่งกว่าคือ ไม่ว่ารัฐจะเป็นอย่างไร เข้มแข็งหรือล้มละลาย หากชุมชนยังเข้มแข็ง ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายยังอยู่ร่วมกันในฐานะพลเมืองเสมอกันได้ ประเทศก็ยังมั่นคงปลอดภัย


 


แนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับปัญหานี้ก็คือ ไม่เพียงรัฐอ่อนแอแทบหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองพลเมือง แต่ชุมชนเองก็ดูเหมือนเข้าใกล้กับความล้มละลายไปด้วย กรณีตันหยงลิมอเป็นกรณีที่ชุมชนหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองคนที่ตนรับภาระดูแลอยู่ได้ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งใน 3 จังหวัด และทั้งในประเทศก็ดูเหมือนจะถูกลิ่มแห่งความรุนแรงตอกให้แยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที


 


ชาวไทยพุทธบางส่วนในพื้นที่รู้สึกว่า คนไทยนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม "ต้องถอยร่นทางวัฒนธรรม" อำนาจรัฐก็ไม่ยุติธรรม เพราะลำเอียงเข้าข้างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู


 


ขณะที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกลับรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม และมักได้รับการปฏิบัติจากรัฐไม่เหมาะสมอันเป็นผลจากการปฏิบัติตนในฐานะมุสลิม เช่นหากแต่งกายตามแบบชาวมุสลิมในภาคใต้ จะถูกหวาดระแวงทำให้ถูกตรวจค้นมากขึ้น


 


อันตรายของลิ่มแห่งความรุนแรงนี้ นอกจากจะทำลายสถาบันทางวัฒนธรรมที่ผูกร้อยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เห็นคนที่แตกต่างจากตนทั้งที่อยู่ในสังคมการเมืองเดียวกันเป็นดังคนแปลกหน้าหรือกระทั่งเป็นศัตรู ยังทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับการใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นผลโดยตรงของความกลัวและความหวาดระแวงต่อกัน สภาพเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหานอกจากจะผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังจะทำให้อาการข้างหน้าเลวร้ายลงอีก ดังนั้นทางออกของสังคมไทยจึงจำเป็นต้องหันมาหาแนวทางสมานฉันท์ ( reconciliation)















 ข่าวประกอบ
 เปิดร่างรายงาน กอส. (ตอนที่ 1) : จินตนาการเพื่อสมานฉันท์
 เปิดร่างรายงาน กอส. ตอนที่ 2 : "ชาติพันธุ์และศาสนา" ข้ออ้างจุดไฟใต้


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net