Skip to main content
sharethis



 


วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2005 16:52น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เหตุการณ์รุนแรงที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งจบลงด้วยความสูญเสียทั้งชีวิตของชาวบ้านตันหยงลิมอเอง และนาวิกโยธิน 2  นาย เพิ่งผ่านไปเพียงเดือนเศษ และคงยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ


 


สิ่งที่ยังคงค้างคาในความรู้สึกก็คือ ข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการให้นักข่าวมาเลเซียเดินทางมาทำข่าว ความชุลมุนวุ่นวายในวันนั้น และแม้สุดท้ายนักข่าวมาเลเซีย 6 คนจะเดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุ แต่ทุกอย่างก็สายเกินไป


 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักข่าวมาเลเซียกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการติดต่อจากทางการไทยให้เข้าไปทำข่าวที่บ้านตันหยงลิมอตามคำ เรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน โดยพวกเขาได้เล่าย้อนถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ในวันนั้น และผลกระทบที่พวกเขาได้รับตามมา


 


นักข่าวโทรทัศน์วัยกลางคนซึ่งเกาะติดสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทยมาตลอด เล่าว่า ช่วงสายๆ ของวันที่ 21 กันยายน เขาได้รับการติดต่อให้เข้าไปทำข่าวที่บ้านตันหยงลิมอเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ตึงเครียด ซึ่งเมื่อเขาทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมด ก็ได้เดินทางไปยังด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสทันที


 


"แต่เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมให้ผมเข้าไป ทั้งๆ ที่ผมก็เคยเข้าไปทำข่าวในฝั่งไทยเป็นประจำ แม้ผมจะพยายามต่อรองอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยินยอม ผมจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับ"


 


เขาเล่าต่อว่า เมื่อเดินทางกลับมา ก็ได้ติดตามข่าวที่ตันหยงลิมออย่างต่อเนื่อง และรู้สึกว่าหลังจากนาวิกโยธิน 2 นายเสียชีวิต สถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียดมาก ขณะเดียวกันก็เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจากกรณี 131 คนไทยที่อพยพข้ามฝั่งไปยังมาเลเซีย จึงพยายามเดินทางกลับไปทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไทยเช่นเดิม 


 


"ตอนนั้นผมจึงสอบถามไปยังสำนักงานใหญ่ของสื่อที่ผมทำงานอยู่ แต่ทางบรรณาธิการกลับแจ้งว่าจะข้ามไปฝั่งไทยก็ได้ แต่จะไม่รับรองความปลอดภัยให้ ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากจะบอกว่าถ้ารัฐบาลไทยรับรองความปลอดภัยให้ผม ผมก็จะเข้าไปทำข่าวอีก เพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชาวมาเลเซียเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่"


 


ขณะที่นักข่าวอีกราย หนึ่ง ซึ่งทำงานกับสำนักข่าวชื่อดังของมาเลเซีย เล่าว่า ได้รับการติดต่อจากฝ่ายทหารของไทยให้เข้าไปช่วยทำข่าวที่ตันหยงลิมอ ซึ่งตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ชุมนุมตามปกติ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยครั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


"พอผมไปถึงด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ก็ได้รับแจ้งว่า จะต้องไปช่วยตัวประกัน ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร แต่เมื่อสุดท้ายพวกผมไปไม่ทัน และเหตุการณ์จบลงด้วยความสูญเสีย ผมก็รู้สึกเสียใจ เพราะทหารไทยก็ย้ำกับผมว่าต้องการให้ไปช่วยชีวิตตัวประกัน และช่วยรัฐบาลไทยในการคลี่คลายปัญหา"


 


นักข่าวผู้นี้ เล่าต่อว่า หลังกลับจากประเทศไทย ก็ได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวที่บ้านตันหยงลิมออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข่าว 131 คนไทย แต่ก็ไม่ได้นำเสนอข่าวผ่านทางสื่อมาเลเซีย เพราะได้รับการร้องขอจากรัฐบาลกลาง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องภายในของไทย


 


"แต่ผมก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า ข้อเท็จจริงในวันนั้นเกิดอะไรขึ้น นาวิกโยธินทั้ง 2 นายเสียชีวิตเพราะอะไร และชาวบ้านตันหยงลิมอที่ถูกยิงที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน ถูกใครสังหาร"


 


อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า หลังเกิดเหตุการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอ เขายังเคยเดินทางเข้าไปทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ครั้ง ในช่วงก่อนครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสได้จัดงานขึ้น และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของไทยมาร่วมงานด้วย ทว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไทยที่ประจำอยู่ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก กลับเปลี่ยนไป


 


" ตอนนั้นผมไปกัน 5 คน เป็นนักข่าว 3 คน และมีช่างภาพ 2 คน แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งว่า การจะเข้าไปทำข่าวใน 3 จังหวัด จะต้องให้ทหารพาไป แล้วก็ติดต่อให้ทหารมา เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารมาถึง ก็ค้นตัวพวกเราทุกคน และไม่อนุญาตให้ช่างภาพ 2 คนเดินทางเข้าไป โดยให้เข้าเฉพาะนักข่าว 3 คนเท่านั้น สุดท้ายช่างภาพของเราต้องเดินทางกลับ"


 


"คุณคงรู้จักเสื้อกั๊กที่ผู้สื่อข่าวชอบใช้" เขาว่าพลางชี้มือไปที่เสื้อกั๊กซึ่งเพื่อนของเขาใส่อยู่ "คุณดูก็แล้วกันว่ามีกระเป๋ากี่ใบ วันนั้นเจ้าหน้าที่ไทยขอตรวจค้นทุกกระเป๋า"


 


นักข่าวผู้นี้ยืนยันด้วยว่า การเดินทางเข้าไปทำข่าวในประเทศไทย เขาไม่ได้มีเจตนาไปทำข่าวเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่ต้องการเข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น


 


" เราเป็นเพียงคนกลาง และไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด นักข่าวไทยก็มาที่นี่ได้อย่างอิสระ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ยอมให้พวกเราเข้าไปทำข่าวโดย อิสระบ้าง"


 


นักข่าวคนเดียวกัน ยังวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความจริงจังที่จะแก้ปัญหามาก แต่อาจจะมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้น จึงทำให้ปัญหาไม่สามารถยุติได้


 


เขายังกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลไทยเปิดกว้างให้นักข่าวมาเลเซียเข้าไปทำข่าว และเปิดข้อมูลของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างโปร่งใส เพื่อพวกเขาจะได้นำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อไป


 


 "เราต้องการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักข่าวไทยอย่างใกล้ชิด อยากจะข้ามไปฝั่งไทยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราอยากฟังความจริง เพราะสิ่งที่เรารับรู้ ก็รับรู้ผ่านข่าวสารของสื่อต่างประเทศ และจากคำบอกเล่า ซึ่งถือเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียว ผมยืนยันว่าเราไม่เคยคิดแทรกแซงกิจการภายในของไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net