Skip to main content
sharethis


แม้วน้อย : ประวัติศาสตร์ชาติไทยยิ่งใหญ่ เราต้องรักชาติ แบ่งแยกไม่ได้ บรรพบุรุษกู้ชาติมาจากพม่า ต้องหลั่งเลือดพลีชีพ ภาคใต้เป็นของเรามาก่อน รัฐบาลส่งทหารไปรักษาดินแดนแล้ว


จิดภูมิ : เราว่าประวัติศาสตร์มันแม่งๆ อยู่นะ คนปัตตานีเขาก็บอกเขามีประวัติศาสตร์ แต่เราไม่ยอมรับ


แม้วน้อย : ก็เป็นเมืองขึ้นไง เคยส่งบรรณาการให้เรามาก่อน แล้วจะมาแบ่งแยกดินแดนได้ยังไง


จิดภูมิ : เอ.... ประวัติศาสตร์ไอ้ที่ว่านี่ เราเห็นว่ามีแต่ด้านที่เราพูดเองทั้งนั้น แต่งขึ้นเองฝ่ายเดียวหรือป่าว? อาจจะมีบิดเบือนจริงดังเขาว่าก็ได้นา


แม้วน้อย : ไม่บิดเบือน นายรักชาติหรือป่าวเนี่ย!


จิดภูมิ : อ้าว ถามดีๆ ให้ฟังคนอื่นบ้าง พูดอย่างงี้ เดี๋ยวสวย!


แม้วน้อย : อยากมีเรื่องก็เข้ามา เราไม่ยอมใครอยู่แล้ว


 


"เฮ้ย! หยุดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ"


 


แม้วน้อย : อ้าว คุณอา นันท์


นันท์ : อะไรกัน มีอะไรพูดกันดีๆ สิ รู้จักสมานฉันท์กันบ้างรึเปล่า


จิดภูมิ : คุณอา เราเถียงกันเรื่องประวัติศาสตร์กับภาคใต้ครับ


นันท์ : อืม.... เรื่องนี้มันน่าคิดนะ เพราะมันมีผลต่อวิธีคิดของคนในสังคม และจะสะท้อนออกมาในการจัดการปัญหาใน 3 จังหวัดตอนนี้ด้วย


จิดภูมิ : แล้วประวัติศาสตร์มันมีหลายมุมหรือเปล่าครับคุณอา


นันท์ : เอาอย่างนี้แล้วกัน อาไปฟังเสวนา "ประวัติศาสตร์ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส"  ของโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ชุด 3 จังหวัดภาคใต้ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา มีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจ และบางอย่างดูจะแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ที่เราท่องกันมาตั้งแต่ประถมอยู่หลายจุด แต่ก็มีกรณีตัวอย่างและอ้างอิงหลักฐานและวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ ลองพิจารณาดูเองนะ


 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


นักวิชาการอาวุโส จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


ประวัติศาสตร์จากส่วนกลางที่รับรู้กันไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้ภาพของประวัติศาสตร์ขาดความสืบเนื่อง ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็เป็นหน่วยที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง


 


แต่เมื่อมีการพูดถึงประวัตศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงหลัง ก็มีคำถามที่เกิดขึ้นตามมาว่า เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของใคร หรือศูนย์กลางอยู่ที่ไหน อย่างในกรณีของล้านนา เรามักจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่สยามเคยปกครอง แต่กลับไม่สนใจประวัติศาสตร์ของล้านนาที่พม่าเคยปกครองเช่นกัน และยาวนานถึง 200 ปี หรือหากจะกล่าวถึงศูนย์กลาง ศูนย์กลางทางการค้าของล้านนา ก็อยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ไม่ใช่อยุธยา


 


อีสานเองก็ไม่ต่างกัน หากถามถึงสำนึกในความเป็นศูนย์กลางของคนอีสานจะอยู่ที่เวียงจันทร์ ดังเช่น มหาศิลา ที่เกิดในประเทศไทย แต่เลือกที่จะเป็นคนลาวเพราะมีสำนึกผูกพัน จนต้องกลับไปทำสิ่งต่างๆ ให้กับลาว และก็กลายเป็นปราชญ์ของชาวลาว เป็นต้น


 


ในภาคใต้ ปัตตานี ก็ไม่เคยเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางเช่นกัน ดังนั้นหากไปวาดภาพให้ปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยก็จะทำให้มีปัญหา


 


ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ไทยไม่มีประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่มีนั้นก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติที่มีศูนย์กลางอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่บังเอิญว่าในช่วงสมัยที่ราชวงศ์จักรีมีอำนาจนั้น เป็นช่วงจังหวะที่รัฐใกล้เคียงอื่นๆกำลังอ่อนอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น พม่า มะละกา และอื่นๆ จึงทำให้เริ่มขยายอาณาเขตได้


 


ต่อมา ฝรั่งเริ่มเข้ามามีอำนาจมากขึ้น และเริ่มมาตั้งศูนย์กลางอำนาจตามจุดต่างๆ เช่น สิงคโปร์ พม่า การแผ่อิทธิพลดังกล่าวก็เริ่มทับศูนย์อำนาจของบางกอก รัฐราชสมบัติลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็เริ่มหดตัว แต่ก็ทำให้มีการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยรวมเอารัฐราชสมบัติอื่นๆ เช่น ปัตตานี หรือ ล้านนา มารวมไว้ และสร้างประวัติศาสตร์จากการมีรัฐราชสมบัติเดียวนี้เป็นแกนกลาง ซึ่งหากจะสร้างประวัติศาสตร์ประชาชาติขึ้นจริงต้องไม่ทำเช่นนั้น คือควรจะต้องเอาประวัติศาสตร์รัฐราชสมบัติอื่นๆมารวมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ให้ใครเหนือกว่าใครเพราะภูมิภาคอื่นๆก็มีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไป


 


และถ้าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ประชาชาติแบบนี้ ก็จะทำให้ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานี อีสาน ล้านนา หรืออื่นๆ


 


ทีนี้ เฉพาะส่วนประวัติศาสตร์ปัตตานี หากจะพูดถึง ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นรัฐชายฝั่ง ซึ่งมีลักษณะคือติดต่อค้าขายกับต่างชาติตลอดเวลา และมีศูนย์กลางที่เลื่อนไปเรื่อยๆ แต่มักไม่ไกลจากชายฝั่ง และรัฐชายฝั่งทั่วไปจะมีลักษณะของการขาดการกระจุกตัวของประชากรให้มารวมกันแบบรัฐภาคกลาง แต่ก็ทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากรเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไปกระจุกตัวตามเมืองท่าที่มีความเจริญได้ตลอดเวลา


 


อย่างไรก็ตามรัฐชายฝั่งปัตตานีในช่วงเจริญที่สุดก็คงมีประชากรมากพอที่จะสร้างเมืองที่มีขนาดใหญ่พอสมควรได้ จากหลักฐานที่พบคือ "เมืองยะรัง"


 


แต่เมืองในลักษณะรัฐชายฝั่งนี้ก็ป้องกันตัวเองได้ยาก จึงต้องหาวิธีการสร้างความมั่นคงแบบต่างๆ ได้แก่


 



  1. ร่วมมือระหว่างรัฐชายฝั่งด้วยกันเพื่อตั้ง " สหพันธรัฐ" เช่น ศรีวิชัย ทำให้รัฐใหญ่ๆไม่กล้าคุกคามได้โดยง่าย

  2. ทำให้เองกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ เพื่อดึงประชากรให้เข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังเช่น มะละกา

  3. สร้างความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับรัฐใหญ่ แต่ไม่ใช่ Colony (อาณานิคม) หรือเมืองขึ้นแบบฝรั่ง ซึ่งการส่งบรรณาการนี้มักจะส่งไปสร้างความสัมพันธ์ในรัฐใหญ่ๆหลายๆรัฐพร้อมกันเสมอ ดังปัจจุบันที่ไทยก็ติดต่อกับทั้งจีน และสหรัฐ  

 


ส่วนลักษณะการจัดการของรัฐปัตตานี หากเปรียบเทียบกับรัฐมลายูอื่นๆ จะคล้ายๆ กันคือ จะมีรายาที่อยู่เหนือผู้นำกลุ่มอื่นๆ และตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะสืบทอดกันมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่น


 


อย่างไรก็ตามผู้นำกลุ่มต่างๆ ก็ยังมีอำนาจสูง จนบางครั้งก็สามารถท้าทายอำนาจของรายาได้ แต่รายาจะมีราชสมภารบารมี ซึ่งผู้นำกลุ่มต่างๆยังต้องยอมรับ


 


และเมื่อไทยเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจึงทำให้ กลุ่มผู้นำเหล่านั้นก็เริ่มแย่งอำนาจกันเองภายในมากขึ้น เพราะต้องการการรับรองจากไทย ส่วนไทยก็ต้องการใช้ประโยชน์ในบทบาทนี้ และค่อยๆเข้าไปกลืนอำนาจของกลุ่มต่างๆจนหมด


 


ส่วนครูสอนศาสนาก็มีบทบาทสำคัญ และอาจเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่มีอิสระในช่วงเวลานั้น โดยอำนาจก็น่าจะสูงเพียงพอที่จะปะทะหรือต่อรองกับรายาได้ ดังจะพบร่องรอยของความขัดแย้งระหว่างรายากับครูสอนศาสนาได้จากนิทานชาวบ้านต่างๆใน 3 จังหวัดภาคใต้ เช่น การไม่ยอมรับศาสนาอิสลามของรายาในการเผยแผ่ศาสนาในปัตตานีช่วงแรกๆ จนครูสอนศาสนารักษาโรคให้หายได้ 3 ครั้ง จึงหันมานับถือ นิทานแบบนี้เป็นร่องรอยที่แสดงความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ในช่วงเวลานั้น


 


แต่เมื่อสมบูรณายาสิทธิราชย์สยามได้เข้าไปทำลายอำนาจของทั้งรายาและผู้นำกลุ่มต่างๆทั้งหมดแล้ว ประชาชนจึงต้องหาที่พึ่งใหม่เพื่อต่อรองกับอำนาจของสยาม นั่นก็คือการพึ่งอำนาจของครูสอนศาสนา ในขณะที่ครูสอนสาสนาเองก็ต้องรับหน้าที่นี้ เพราะสถานะของครูสอนศาสนาก็อยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์กับประชาชน ศาสนาอิสลาม จึงผูกพันกับพื้นที่มากนับจากช่วงเวลานั้น


 


ปกติเรามักพูดถึงการแข็งข้อในประวัติศาสตร์ช่วงสมัยรัฐราชสมบัติ ทั้งๆที่ในปัตตานีมีอะไรร่วมกับประชาชาติไทยเยอะมาก แต่สิ่งที่เราควรพูดถึงมากกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 มีอะไรกระทบกับปัตตานีบ้าง มีใครได้ใครเสีย ในสมัยจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์ รวมทั้ง  14 ตุลา ก็เช่นกัน คือปกติเรามักไม่สนใจประสบการณ์ร่วมของกลุ่มอื่นๆในประชาชาติไทยเลย เราต้องบอกให้ได้ด้วยว่าเผด็จการวัฒนธรรมทำให้เกิดอะไร กับทั้งคนไทยทั่วไป และคนกลุ่มอื่นๆ  ด้วย


 


ดังนั้น หากศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมกันทั้งหมดดังกล่าวจะเกิดประวัติศาสตร์ประชาชาติร่วมกันจากปัตตานีไปจนถึงเชียงใหม่ได้


 


ถ้ามองการแข็งข้อเป็นกบฏก็จะไม่มีวิธีการจัดการวิธีอื่น นอกจากการปราบปราม คนไทยมีสิทธิแข็งข้อตามรัฐธรรมนูญ คือแข็งข้อตามกฎหมายแต่ไม่ใช่จับปืนไปยิงกัน ดังนั้นถ้ามองเห็นประวัติศาสตร์ประชาชาติ ที่ทุกๆฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน จะทำให้เห็นวิธีจัดการอื่นๆอีกมากมาย แต่ที่ผ่านมาคือเราปล่อยให้เผด็จการอ้างความรักชาติเพื่อลิดรอนสิทธิประชาชนตลอดมา โดยมองไม่เห็นและไม่มีประวัติศาสตร์รัฐประชาชาติ สุดท้ายก็คือทำให้เราไม่เป็นประชาธิปไตย


 


ผศ.ดร.ชุลีพร วรุณหะ


อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยต้องศึกษาโดยใช้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ถ้าพูดถึงกรณีภาคใต้ก็ต้องยอมรับการมีอยู่ของ "รัฐสุลต่านปาตานี" คือต้องศึกษาและทำความเข้าใจตนตนและจิตวิญญาณจากในพื้นที่


 


ที่มาของแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากการเติบโตของรัฐไทยภายใต้แนวคิดชาตินิยมของรัฐไทยเอง ที่มีผลไปกระตุ้นให้คนปาตานีหรือปัตตานีมีแนวคิดชาตินิยมเช่นกัน ดังนั้นกรอบคิดที่ว่าดินแดนไหนเคยเป็นของใครมาก่อนนั้นต้องยกเลิก เพราะเป็นการเอากรอบบริบทปัจจุบันไปจับอดีต


 


ส่วนสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ปัตตานีก็คือปัตตานี ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐมลายูอื่นๆ แต่ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน


 


การก่อตัวของรัฐสุลต่านปาตานี ก็คือ


 


สถานที่ตั้งของ เป็นชุมชนแบบชายฝั่งทะเล ที่มักตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่ไม่ใหญ่ ชุมชนเกิดง่ายและสลายง่ายการรวมตัวของประชากรมีลักษณะกระจัดกระจายทำให้รวมศูนย์อำนาจใหญ่ยาก แต่การก่อตัวของรัฐเกี่ยวข้องกับการอพยพ และการค้าทางทะเล ซึ่งราวพุทธศตวรรษที่ 15 ก็เกิดรัฐสุลต่านปาตานีที่เป็นอิสลามขึ้น ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ก็มีความรุ่งเรืองสูง แต่ก็มีลักษณะวัฒนธรรมที่เป็นนานาชาติ สืบเนื่องมาจากบริบททางการค้ามีความสำคัญสูง


 


สำหรับอาณาจักรอยุธยานั้น ปาตานีมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นโดยเฉพาะทางการค้า โดยผ่านระบบบรรณาการ คือเกี่ยวข้องเชิงอำนาจแต่ไม่เกี่ยวข้องกับดินแดน คือเป็นเรื่อง "ปริมณฑลแห่งอำนาจ" ไม่ใช่เรื่อง "อาณาเขต" ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความหลวม แต่ผลประโยชน์จะเป็นสิ่งทำให้เชื่อมประสานกัน


 


อย่างไรก็ตาม ในภายหลังสยามเริ่มมีความคิดรัฐชาติสมัยใหม่ จึงอยากควบคุมปัตตานี อาจเป็นเพราะในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีบทเรียนจากความสัมพันธ์ที่หละหลวมจนมีปัญหาเรื่องการแตกเป็นก๊กเหล่าหลังเสียกรุง ผนวกกับบริบทของรัฐรอบข้าง เช่น พม่ากับเวียดนามก็เริ่มสนใจบริเวณคาบสมุทรมากขึ้น ส่วนอังกฤษก็เคลื่อนตัวเข้ามามีบทบาทบริเวณปีนัง ทำให้เริ่มมีผลกระทบกับสยาม ด้านรัฐมลายูอื่นๆในตอนใต้ ที่เคยเข้มแข็งก็เริ่มเสื่อมลง เช่น อาเจะห์ ยะโฮร์-รีเอา


 


เหตุผลข้างต้นทำให้ สยามสลายความเข้มแข็งของปาตานีด้วยการแบ่งเป็น 7 หัวเมือง โดยมีสงขลาเป็นผู้ดูแล ซึ่งทั้ง 7  หัวเมืองก็ยังไม่นึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่ต่อมาอาจด้วยความระแวงของสยามต่ออังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงกำหนดราชอาณาเขตที่รวม 7 หัวเมืองไปด้วย จึงเริ่มทำให้ 7 หัวเมืองไม่พอใจ เพราะทำให้รู้สึกว่าถูกตัดขาดจากโลกมลายู และถูกทำให้ตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามด้วยกำลัง


 


สาเหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยแรกของแนวคิดแบ่งแยก แต่อย่างไรก็ตามในระยะนั้น แนวคิดดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้นำ ไม่ได้ลงไปถึงพลเมือง แต่เมื่อมีนโยบายรัฐนิยมในยุคหลังจากนั้นทำให้เกิดการกระทบต่อวัฒนธรรม ปัจจัยดินแดนจึงขยายตัวไปมากขึ้น และลงสู่พลเมืองและมีความไม่พอใจร่วมกัน


 


 


ศรีศักร วัลลิโภดม


นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์


 


จะพูดถึงประวัติศาสตร์ที่แคบลงมา คือประวัติศาสตร์สังคม ที่มาจากภายในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มองเห็นคน เพราะจะทำให้เห็นความเคลื่อนไหว


 


ในอดีตโครงสร้างสังคมปัตตานีมีความกระชับ คนจะรู้จักกันหมด แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าใครเป็นใครไปแล้ว สังเกตได้ว่าในพื้นที่เริ่มเกิดช่องว่างระหว่างวัยขึ้น โดยผู้ก่อการมักจะเป็นหนุ่มสาวประมาณ 18-25 ปี แต่คนแก่ๆไม่รู้เรื่อง แล้วมักจะบอกว่าเด็กเหล่านี้เป็นคนดีหมด แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในท้องถิ่นไม่ได้ใกล้ชิดกันแบบเดิม


 


ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะมาจากการที่คนมีความสัมพันธ์กับนิเวศน์ธรรมชาติ และจะเป็นตัวบูรณาการสำนึกชาติพันธุ์ ในอดีตคนใน 3 จังหวัดอยู่ในนิเวศน์ธรรมชาติเดียวกันได้อย่างไม่มีปัญหาแม้จะต่างชาติพันธุ์กันก็ตาม


 


รัฐเดิมใน 3 จังหวัดนั้นมีศักดิ์ศรีในตัวเอง ซึ่งก็คือ ลังกาสุกะ ต่อมามีการย้ายตำแหน่งไปสู่เมืองท่าบริเวณกรือเซะ จึงมีมัสยิดประจำและกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของปัตตานีในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับจีน จึงเริ่มมีการเชื่อมสัมพันธ์บางอย่างกันด้วยตำนาน เช่น "ลิ้มกอเหนี่ยว" จะสังเกตได้ว่าตำนานเองอาจจะเปลี่ยนแปลงไปหรือมีหลายเรื่องให้รับรู้กัน นั่นคือธรรมชาติของตำนานที่จะเชื่อมหรือตอบโต้กัน เป็นการผสานความขัดแย้งที่มีระหว่างกันผ่านตำนาน


 


ในขณะเดียวกันทั้งชาวพุทธ และมุสลิม ก็จะมีฮีโร่ทางวัฒนธรรมร่วมกัน เช่นหลวงพ่อทวด ชาวมุสลิมก็นับถือ เวลามีงานที่วัดก็จะไปช่วยแม้จะไม่เข้าวัดก็ตาม เช่นเดียวกับเวลาชาวมุสลิมมีงานชาวพุทธก็จะไปช่วย


 


จุดขัดแย้งใหญ่ที่เกิดขึ้นก็เริ่มมาจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และที่แย่กว่านั้นก็คือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่เข้าใจว่าการศึกษาศาสนาของอิสลามนั้น คือวิถีชีวิตที่รวมทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกัน กระทรวงศึกษาเข้าไปทำลายดุลยภาพตรงนั้น


 


อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็คือการพัฒนาแบบสภาพัฒน์ที่เอาโครงการพัฒนาต่างๆเข้าไป  จนกลายเป็นเอาโลกียวิสัยเข้าไปทำลายศาสนา ทำลายทะเล ป่า ซึ่งตรงนี้ทำให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าขัดแย้งกัน


 


คนรุ่นเก่านั้นอยากใช้วิถีชีวิตเดิมๆ เพราะพื้นที่ก็มีความสมบูรณ์สูงอยู่แล้ว เมื่อมีการพัฒนาต่างๆเข้ามาก็ทำให้รับกับความเจริญแบบสภาพัฒน์ไม่ทัน


 


ส่วนคนหนุ่มสาวเองจะมีความรู้สึกตลอดว่าคนไทยพุทธมีอะไรหลายอย่างดีกว่า มาเลเซียก็ดีกว่า และถูกมองอย่างแปลกแยก ทำให้เกิดความรู้สึกทนไม่ไหวขึ้นมา


 


รัฐเองก็ไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีพลัง อำนาจต่างๆไปอยู่ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำชุมชนเช่นเดิม ซึ่งเคยมีองค์กรสุหร่อที่สามารถจัดการความขัดแย้งภายในกันเองได้ แต่การพัฒนาปัจจุบันเข้าไปทำลายจนหมด ดังนั้น การแก้ปัญหาก็คือการดึงให้กลับสู่พื้นฐานเดิมอย่างเกิดดุลยภาพ


 


ตอนนี้ใน กอส.มีข้อมูลจากทุกฝ่ายทำให้รับรู้อคติระหว่างกัน ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าทหารตำรวจกำลังอยู่อย่างลำบาก เพราะนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็ระบุว่า ผู้ก่อการเข้าถึงมวลชนแล้ว ทหาร ตำรวจก็กำลังกลายเป็นเป้าอย่างเดียว และไม่รู้จะไปรบกับใคร


 


ดังนั้นต้องนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปเสริมในการแก้ปัญหา และต้องเข้าใจนิเวศน์วัฒนธรรมด้วย ความขัดแย้งที่มีก็คือการรุกล้ำนิเวศน์วัฒนธรรม จากเดิมที่พุทธมุสลิมในพื้นที่มีร่วมกัน มีฮีโร่ทางวัฒนธรรมร่วมกัน เริ่มเห็นเค้าความแบ่งแยก ปัจจุบันกำลังมีกระบวนการทำมุสลิมให้เป็นออร์ธอดอกซ์ หรือฟอกให้บริสุทธิ์เกิดขึ้นแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net