รัฐจะเอาที่ดินที่ไหน? มาให้คนจน

สืบสกุล กิจนุกร / วิชณุพงษ์ คำคูณ สำนักข่าวประชาธรรม

 

คงต้องยอมรับว่านโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตามถือเป็นนโยบายสำคัญที่ท้าทายความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนั้นๆ แม้ว่าที่ผ่านมานโยบายดังกล่าวจะมีการดำเนินมาทุกรัฐบาลแต่ทว่าปัญหาความยากจนของประชาชนก็ยังมิได้หมดไป

 

ขณะที่ปัจจุบัน นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของพ...ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนภายใต้นโยบายประชานิยมนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ที่ทรงอิทธิพล สามารถเอาชนะใจประชาชนได้กว่าค่อนประเทศ เนื่องเพราะหลักการดำเนินนโยบายได้ใช้ประชาชนเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา เปิดโอกาสให้ประชนชนผู้ยากจนสามารถเข้าถึงทรัพยากรรวมทั้งบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง

 

รัฐบาลชุดนี้ประกาศจะมีการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะให้คนจนหมดไปจากประเทศภายในปี 2552 โดยมีการวางแผนดำเนินการไว้เป็น 3 ระยะคือระยะแรก(2547)เปิดโอกาสให้คนจนไปลงทะเบียนแสดงความเดือดร้อนและความต้องการในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่อยู่อาศัย ฯลฯ

 

ส่วนระยะที่ 2 (2548-2549) เป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของผู้มาจดทะเบียน ควบคู่กับการวางรากฐานแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)เร่งแก้ไขปัญหาที่มีคนลงทะเบียนเอาไว้ เช่นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สิน และการแจกที่ดินให้ประชาชนเช่าทำกิน ฯลฯ ซึ่งในระยะนี้จะมีการแก้ไขกฎหมายนับร้อยฉบับที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาของคนจน

 

ส่วนระยะสุดท้าย (2550-2551) คนจนทุกคนที่ลงทะเบียนได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วน และประเทศไทยมีกฎหมาย ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นนโยบายการลงทะเบียนคนจนจะทำให้คนจนในประเทศหมดไปนับจากปี 2552

 

สำหรับจำนวนตัวเลขประชาชนที่ลงทะเบียนคนจนตั้งแต่ปี 2547 พบว่ากรณีปัญหาที่ชาวบ้านไปลงทะเบียนมากที่สุดคือกรณีปัญหาการไร้ที่ดินทำกินซึ่งมีกว่า 4.8 ล้านครอบครัว จำแนกเป็นไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองจำนวน 2 ล้านครอบครัว มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ 1.6 ล้านครอบครัว และมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะอยู่ในเขตที่ดินรัฐ 1.2 ล้านครอบครัว

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนตัวเลขคนจนไร้ที่ดินที่ลงทะเบียนคนจนที่มีกว่า 4.8 ล้านครอบครัวนั้น ในเบื้องต้นรัฐกำหนดจัดสรรที่ดินเพื่อให้คนจนไร้ที่ดินเช่าครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ แต่พบว่าที่ดินที่รัฐสามารถนำมาจัดสรรให้คนจนเหล่านั้นมีอยู่ประมาณ 29 ล้านไร่ จากที่ดิน  7 ประเภท คือ ที่สาธารณประโยชน์ , ที่ราชพัสดุประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ , ที่ป่าสงวนแห่งชาติ , ที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี , ที่ดินในเขต ส... , ที่ดินที่ได้รับมอบให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ , ที่ดินที่ได้รับมอบให้จัดตั้งนิคมสหกรณ์แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ

 

นั่นหมายความว่า ที่ดินจำนวน 29 ล้านไร่สามารถจัดสรรให้คนจนไร้ที่ดินได้แค่ 2.1 ล้านครอบครัวจากทั้งหมด 4.8 ล้านครอบครัว และในจำนวน 2.1 ล้านครอบครัวนั้นได้ที่ดินเฉลี่ยครอบครัวละ 13.8 ไร่เท่านั้น ดังนั้นปัจจุบันรัฐบาลยังขาดที่ดินอีกกว่า 40.5 ล้านไร่ เพื่อจัดสรรให้คนจนไร่ที่ดินที่เหลือและกำลังรอการจัดสรรที่ดินจากรัฐบาลอีกกว่า 2.7 ล้านครอบครัว

 

ดังนั้น รัฐบาลจะเอาที่ดินที่ไหนมาจัดสรรให้คนจนไร้ที่ดินที่เหลือกว่า 2.7 ล้านครอบครัว

 

กรณีดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าความความสามารถและความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจากนโยบายดังกล่าวทำให้คนจนไร้ที่ดินได้รับการจัดสรรที่ดินโดยการเช่ากว่า 2.1 ล้านครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการได้รับการจัดสรรที่ดินมิได้สวยหรูและง่ายดายอย่างที่คิด

 

รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีการแจกที่ดินให้ชาวบ้านที่ลงทะเบียนคนจนกิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มิ..2548 ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นพ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบที่ดินให้ชาวบ้านกับมือ

 

ชาวบ้านกิ่ง อ.ดอยหล่อ ลงทะเบียนคนจนกรณีการขาดแคลนที่ดินทำกินทั้งหมด 6,700 ราย ขณะที่มีที่ดินที่สามารถนำมาจัดสรรให้ชาวบ้านเช่าได้กว่า 22,086 ไร่ แบ่งออกเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาภาค 3 ซึ่งมีจำนวน 12,086 ไร่ และที่ดินสาธารณะประโยชน์อีกกว่า 10,000 ไร่ แต่ในการดำเนินการพบว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรที่ดินได้เพียง 3,000 ไร่ให้กับชาวบ้าน 905 รายเท่านั้น

 

ร้ายไปกว่านั้น ในการคัดเลือกผู้ที่จะได้สิทธิในการเช่าที่ดินพบว่าอำนาจการดำเนินการและการตัดสินใจตกอยู่ที่ข้าราชการท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยที่ชาวบ้านเองไม่มีส่วนร่วมในการคัดเลือก ทั้งนี้เพราะหลังจากชาวบ้านลงทะเบียนคนจนแล้วทางราชการจะจัดรวบรวมรายชื่อแต่ละหมู่บ้านมาให้กำนันและกำนันจะแจ้งมายังผู้ใหญ่บ้านเพื่อดำเนินการคัดเลือกเรียงลำดับตามความจำเป็นมากไปสู่ความจำเป็นน้อย   

 

แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ที่ได้สิทธิในการคัดเลือกส่วนใหญ่จะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. ถัดมาก็เป็นเครือญาติของบุคคลเหล่านี้ โดยที่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินจริงๆจะถูกเสนอชื่อพ่วงท้ายเพื่อป้องกันคำครหาที่เกิดขึ้น กรณีเหล่านี้เจ้าหน้าที่รัฐมิได้เข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด  

 

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ารายละเอียดของสัญญาเช่าที่ดินนั้นยังขัดแย้งกับความเป็นจริงกล่าวคือชาวบ้านกิ่ง อ.ดอยหล่อ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม แบ่งเป็นทำสวนลำไยประมาณร้อยละ 70 ปลูกพืชผักร้อยละ 20 ปลูกพืชไร่ร้อยละ 10 แต่รายละเอียดของสัญญาเช่าระบุว่าเกษตรกรจะต้องใช้ที่ดินที่ได้รับจัดสรรทำไร่เท่านั้น หากเกษตรกรจะใช้ที่ดินในการทำการเกษตรด้านอื่นๆจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน

 

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพพื้นที่ที่นำมาจัดสรรให้ชาวบ้าน มีทั้งสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินลูกรังไม่เหมาะกับการทำการเกษตร บางพื้นที่มีหนองน้ำขนาด 1.5 ไร่ อยู่เพียง  3-4 หนองซึ่งไม่เพียงพอ ครั้นชาวบ้านจะขุดเพิ่มกลับขัดกับสัญญาที่ระบุว่าห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินหรือขุดคู คลอง บ่อหรือสระ รวมทั้งการห้ามตัดต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช

 

อย่างไรก็ตาม จากที่นโยบายดังกล่าวให้สิทธิชาวบ้านเป็นแค่ผู้เช่าที่ดินเท่านั้น ทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนในสิทธิบนที่ดิน เพราะไม่แน่ใจว่าที่ดินที่นำมาจัดสรรจะถูกนำไปใช้ในโครงการอื่นหรือไม่ ทำให้ในสัญญาเช่ามีการผลักภาระความเสี่ยงทุกอย่างให้กับชาวบ้าน เช่น กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของพื้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าเช่าได้ตลอดเวลา หรือชาวบ้านต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีที่ดินทั้งหมดทั้งที่มีอยู่เดิมหรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

 

หรือในระหว่างที่มีสัญญาเช่าหากทางราชการต้องการใช้ที่ดิน ทางราชการมีสิทธิเวนคืนที่ดินได้และชาวบ้านจะไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยใดๆ รวมทั้งหากครบสัญญาเช่าชาวบ้านต้องปรับสภาพพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และหากภายใน 30 วันเกษตรกรปรับสภาพพื้นที่ไม่เสร็จกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับชาวบ้าน 

 

นอกจากนี้ในสัญญาเช่ายังระบุว่าหากชาวบ้านไม่ทำประโยชน์ภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้สิทธิในการเช่าแล้ว กระทรวงการคลังสามารถยกเลิกสิทธิการเช่านั้นได้ และที่สำคัญหากชาวบ้านผู้ได้รับสิทธิรายใดทำผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งทางกระทรวงการคลังสามารถยกเลิกสัญญาเช่าได้

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสิทธิที่ชาวบ้านได้รับเป็นเพียงสัญญาเช่า มิใช่สัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่าซื้อ นั่นหมายถึงว่าชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดินได้เลย

 

ขณะที่ กรณีการจัดสรรที่ดินในเขตกิ่ง อ.ดอยหล่อนั้น เดิมทีพื้นที่บริเวณที่มีการจัดสรรให้เกษตรซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังที่ว่าการกิ่งอำเภอนั้นมีสภาพเป็นป่า โดยหน่วยงานทหารพัฒนาที่ 3 เป็นผู้ดูแลและปล่อยให้ทิ้งร้างมาตลอด ขณะที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนั้น

 

แต่ภายหลังที่มีสัญญาเช่าเท่ากับว่าที่บริเวณนี้มีคนที่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์และต้องเสียภาษีที่ดินให้กับกระทรวงการคลังทุกปี และที่สำคัญชาวบ้านต้องเสียค่าเช่าจากพื้นที่ตรงนี้ปีละ 70 บาทต่อไร่ต่อคน ทั้งหมด 3 ไร่ รวมเงินที่ต้องจ่าย 210 บาท ในปีแรกมีการชำระค่าธรรมเนียม 420 บาท และค่ารังวัด 100 บาทและค่าประกันการเช่าที่อีก 210 บาท ดังนั้นในปีแรกชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนทั้งที่ยังไม่เห็นที่ดินเลยจำนวน 940 บาทโดยในการให้สิทธิชาวบ้านในการเช่าที่ทั้งหมดประมาณ 905 ราย ดังนั้นในปีแรกที่ทางกระทรวงการคลังจะได้เงินประมาณ 850,700 บาท 

 

จากพื้นที่ๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับกระทรวงการคลังเลยกลับมีค่าเกือบ 1,000,000 บาท และตลอดระยะเวลาเช่าที่ ทางกระทรวงการคลังจะได้เงินจากการเช่าที่ปีละประมาณ 190,050 บาท นอกจากนี้ยังไมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสิทธิในการเช่าที่ผู้ให้เช่าสามารถเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาเช่าต่อได้และจะได้ค่าธรรมเนียมการเช่าเพิ่มขึ้น

 

กรณีเหล่านี้คงสร้างความชัดเจนขึ้นมาในระดับหนึ่งว่าการที่รัฐบาลโหมโฆษณาว่าจะจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรคนจนด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมาลงทะเบียนนั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการประกาศว่าจะแก้ปัญหาคนจนให้หมดไปภายในปี 2552 นั้นก็เป็นเพียงการขายฝันเท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท