Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท - 7 พ.ย.48       ปกากญอริมสาละวินเจ๋ง สร้าง "งานวิจัย" ทรัพยากร-วิถีชุมชน เป็นข้อมูลสู้โครงการเขื่อน-ผันน้ำ โดยกลุ่มวิจัยไทบ้านหลายจังหวัดหลั่งไหลมาให้กำลังใจ ขณะที่ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนยอมเดินทางไกลมาร่วมชื่นชม พร้อมโฆษณา "หมูสมุนไพร" ทำชาวบ้านอึ้ง!


 


ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคณะ พาบรรดานักข่าวและเครือข่ายชาวบ้านที่ทำการวิจัยไทบ้าน ได้แก่ เชียงของ ปากมูล ราษีไศล แก่งเสือเต้น ลุ่มน้ำสงคราม และนครพนม รวมทั้งคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งหมดกว่า 100 ชีวิต ร่วมเปิด "งานวิจัยปกากญอ วิถีแห่งแม่น้ำ และผืนป่า ของ ปกากญอสาละวิน"


 


"ในขณะที่โครงการพัฒนาต่างๆ กำลังโถมเข้ามาในพื้นที่ งานวิจัยชิ้นนี้ หวังจะให้สังคมรู้ว่าในผืนป่าตลอดแม่น้ำสาละวินมีกลุ่มคนที่หากินและรักษาทรัพยากรธรรมชาติมาได้อย่างดี และพวกเขามีอยู่เยอะจริงๆ"เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ช่วยวิจัยจากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ต่างจากงานวิจัยไทบ้านชิ้นอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นการวิจัยโดยชาวบ้านเพื่อต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ที่ขาดการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ หากแต่งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นแรกที่จัดทำโดยกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดตัวที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยคณะวิจัยเป็นชาวบ้านปกากญอ ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงเชื้อสายหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนทั้งฝั่งไทยและพม่า ทำการสำรวจข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ 50 หย่อมบ้าน ใน 6 ประเด็น คือ 1. ระบบนิเวศแม่น้ำสาละวินและลำน้ำสาขา 2. พันธุ์ปลา 3. เครื่องมือหาปลา 4.พรรณพืชอาหารและสมุนไพรจากป่า 5.เกษตรปกากญอ 6. โป่ง สัตว์ป่า และการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยชุมชน (รายละเอียดงานวิจัย ติดตามในรายงานพิเศษเร็วๆ นี้)


 


ทั้งนี้ การเดินทางสู่บ้านสบเมยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถตู้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ต่อด้วยการล่องเรือเลียบแม่น้ำสาละวินอันเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทย-พม่าอีกราว 1 ชั่วโมง


 


ทีเซ (ไม่มีนามสกุล) คนขับเรือจากบ้านจอก่า หนึ่งในคณะวิจัยเล่าถึงแม่น้ำสาละวินเป็นภาษาปกากญอ


โดยมีล่ามช่วยถ่ายทอดว่า เขาขับเรือรับจ้างรับส่งคนในลำน้ำแห่งนี้มากกว่า 20 ปีทำให้รู้จักแม่น้ำสายนี้เป็นอย่างดี และรู้ว่ามันคือชีวิตของคนปกากญอที่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งในฝั่งไทยและพม่า


 


เขาเล่าว่า แม่น้ำสาละวินมี 5 แก่งอันตรายที่คนขับเรือควรระมัดระวัง ในหน้าฝนน้ำจะไหลเชี่ยวพัดพาเอาทรายละเอียดมาตกตะกอนริมฝั่ง ทำให้ชาวบ้านปลูกผักริมน้ำได้ดีในช่วงฤดูแล้ง


 


"ถ้าสาละวินอยู่อย่างปกติสุข กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่จีนจรดพม่าก็จะอยู่อย่างสงบสุขด้วยเช่นกัน" ล่ามแปลประโยคสุดท้ายของเขา


 


พะตีธวัชชัย จากบ้านโนนพอ เล่าถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการจับปลาซึ่งมีอย่างอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำสาละวิน นอกจากชาวบ้านจะใช้เครื่องมือพื้นบ้านที่สอดคล้องกับการจับปลาในแต่ละฤดูกาลแล้ว ยังร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยมีกฎเกณฑ์ห้ามช็อต ห้ามวางยาเบื่อปลาที่คนนอกเริ่มเข้ามาหาปลาด้วยวิธีการดังกล่าวบ้างแล้ว


 


นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านมาให้ข้อมูลเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของปกากญอ โดยครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน 4 แปลง มีระยะเวลาในการหมุนเวียนคราวละ 5-8 ปี อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านระบุด้วยว่าทางราชการพยายามจะให้ลดเหลือ 3 แปลง ซึ่งเป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเขา เพราะชาวปกากญอมีธรรมเนียมที่จะต้องขออนุญาตเจ้าป่าก่อนลงมือทำไร่ และหากฝันไม่ดีก็ไม่สามารถทำในพื้นที่ที่ตั้งใจไว้ได้ ต้องเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ ไม่เช่นนั้นอาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในครอบครัว


         


ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ที่นี่มีกิจกรรมหลากหลาย และมีกลุ่มคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่ระดับนโยบาย นายทุน ข้าราชการ โดยคนที่กลายเป็นเหยื่อตลอด ก็คือ ปกากญอ


 


เขากล่าววิจารณ์งานวิจัยชิ้นนี้ด้วยว่า ยังไม่ได้สะท้อนให้เห็นความยากลำบากของปกากญอ ตั้งแต่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติที่ห้ามชุมชนดั้งเดิมใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เคยทำกะปิก็ทำไม่ได้ เคยปลูกผักริมน้ำก็ทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมียุคของการสัมปทานป่าไม้ และโครงการของรัฐทั้งการผันน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กั้นแม่น้ำสาละวินที่เริ่มมีการพูดถึงอีกครั้งในระดับนโยบาย อันจะกระทบกับชีวิตปกากญอ และระบบนิเวศทั้งระบบ


 


"ขั้นต่อไปคือการยกระดับงานวิจัยเป็นวิชาการมากขึ้นโดยให้นักวิชาการเข้ามาช่วย และนำงานวิจัยไปใช้ต่อรองโดยให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น กรรมการสิทธิ ส.ว.ผลักดันหลักประกันของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยท้องถิ่น"ไชยณรงค์กล่าว


 


สันติพงษ์ มูลฟอง ผอ.ศูนย์การพัฒาเครือข่ายเด็กและชุมชน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่มากอีกประเด็นหนึ่งของชาวปกากญอคือ การไร้สัญชาติ โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีบุคคลไร้สัญชาติถึง 38,000 คน โดยเฉพาะชาวปกากญอที่อาศัยในพื้นที่มายาวนาน บางหมู่บ้านไม่มีสัญชาติทั้งหมู่บ้าน บางหมู่บ้านมีหลายร้อยคนแต่มีสัญชาติเพียง 16 คน


 


นิวัติ ร้อยแก้ว จากเครือข่ายวิจัยไทบ้าน เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวด้วยความเสียดายว่า งานวิจัยเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนในทุกๆ ที่ เช่นนั้นแล้ว เรื่องราวที่เกิดกับชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติก็คงไม่รุนแรงเช่นทุกวันนี้


 


นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างกลุ่มรักษ์เชียงของ (จ.เชียงราย) ที่มีงานวิจัยของชาวบ้านถึง 3 ชิ้นแล้ว และกำลังวิจัยประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนในลุ่มน้ำโขงด้วย โดยทั้งหมดถือเป็นความพยายามของชาวบ้านในการต่อสู้กับโครงการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ และเป็นที่ยอมรับ อย่างน้อยก็ในระดับท้องถิ่น หน่วยงานรัฐต่างๆ ยอมที่จะพูดคุยด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการพูดคุยโดยใช้องค์ความรู้


 


ผู้ว่าฯ โชว์ยุทธศาตร์แม่ฮ่องสอน


ในช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายดิเรก ก้อนกลีบ ได้ปลีกตัวจากภารกิจต่างๆ เดินทางไกลเข้ามาร่วมเปิดตัวงานวิจัยที่บ้านสบเมยโดยให้เหตุผลว่า เพราะได้รับการขอร้องจากเพื่อนสนิทคือ สามีของส.ว.เตือนใจ ดีเทศน์ ที่มาร่วมในงานนี้ด้วย โดยนายดิเรก กล่าวว่า แม้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียง 35 วัน แต่ก็ชื่นใจที่เห็นพี่น้องปกากญอรักษาทรัพยากรของประเทศเป็นอย่างดี


 


อย่างไรก็ตาม ปีนี้ทางจังหวัดจะประกาศยุทธศาสตร์ 5 วาระ คือ ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองสวรรค์แห่งการท่องเที่ยว โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่นกลับคืนมา


 


"ใครเป็นเผ่าไหนก็ต้องแต่งตัวเผ่านั้น ถ้าอายไม่แต่งก็ไปลาออกจากเผ่านั้นซะ เราต้องแข่งกับหลวงพระบางให้ได้" ผู้ว่าฯ กล่าว


 


ผู้ว่าฯ กล่าวต่อว่า อีกทั้งจะให้เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่การศึกษาทั่วถึง โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งหัวใจสำคัญคือ ไฟฟ้า ที่ในหลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น จึงมีโครงการที่จะแจกจ่ายโซล่าเซลล์ให้กับทุกหลังคาเรือน


 


ที่สำคัญ จะมีโครงการเอ็กซเรย์ทุกบ้านภายในเดือนนี้  โดยจะถ่ายรูปสมาชิกของทุกครัวเรือนที่ไร้สัญชาติเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้โครงการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐถึงมือประชาชนทุกคน เช่น โครงการหมูสมุนไพร ที่ส่งเสริมให้เลี้ยงหมูในหลุม อยากให้เป็นหมูโสมก็ให้กินโสม อยากให้เป็นหมูกระชายดำก็ให้กินกระชายดำ ซึ่งจะมีขั้นตอนการเตรียมหลุมที่สามารถนำมูลของหมูออกมาเป็นปุ๋ยคอกได้ทุกสัปดาห์


 


ผู้ว่าฯ กล่าวด้วยว่า อาชีพเสริมเหล่านี้จะทดแทนการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีกันครอบครัวละ 4 แปลง แต่อยากจะให้ลดเหลือครอบครัวละ 3 แปลง เพราะประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นตลอด อาจกระทบกับพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ นอกจากนี้การเอ็กซเรย์ทุกครัวเรือนยังเป็นประโยชน์ในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ โดยต่อไปนี้ทุกคนต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านทุกครั้งที่จะเผาที่ของตัวเอง และต้องให้ผู้ใหญ่บ้านร่วมเป็นพยานในการเผาด้วย เพื่อแก้ปัญหาไฟป่า


 


ท้ายที่สุดนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อให้ดูแลและเร่งจัดการปัญหาเรื่องสัญชาติ ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับชาวปกากญอหลายหมู่บ้าน และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ มากมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net