Skip to main content
sharethis



 


ขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังเป็นห่วงกันเหลือเกินว่า การประชุมองค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอรอบโดฮา ที่จะจัดขึ้นที่ฮ่องกงกลางเดือนธันวาคมนี้ อาจล้มเหลวอีกรอบหลังชะงักงันมานาน ซึ่งจะสั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือขององค์กรแห่งนี้และการค้าระหว่างประเทศภายใต้โลกเสรีทุนนิยม ในอีกด้านหนึ่งขบวนชาวนาทั่วโลกก็เตรียมผนึกกำลังกันต่อต้านเวทีดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเวทีแห่งการปล้นสะดมและทำร้ายคนยากจนทั่วโลกมากว่า 10 ปี และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 องค์กรเกษตรกรนานาชาติหลายองค์กร ร่วมกับ สมัชชาคนจน, ประเทศไทย และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้ร่วมกันออกร่างคำประกาศที่เรียกว่า "เราจงมาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการประชุมองค์การการค้าโลกที่ฮ่องกง (14 - 18 ธันวาคม 2548)" เพื่อแสดงท่าทีที่มีต่อการประชุมครั้งนี้แล้ว โดยมีรายละเอียดคำประกาศ ดังนี้


 


……………………………….


 


10 ปีองค์การการค้าโลก - 10 ปีแห่งการปล้นสะดมและทำลาย


องค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอเป็นองค์กรที่มีอายุถึง 10 ปีแล้ว  และได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องตกอยู่ในความยากลำบาก นโยบายตลาดโลกเดียวก่อให้เกิดภาวะคุกคามต่อความหลากหลายในโลกใบนี้  ทุกๆ ประเทศกำลังผ่อนคลายกฎระเบียบทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายขององค์การการค้าโลก  การผูกขาดทางการค้าและอำนาจการควบคุมที่อยู่ในมือบรรษัทข้ามชาติด้วยวิธีการแปรรูปกิจการของรัฐ  เพื่อเป็นหนทางในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน  เมล็ดพันธุ์พืช  ป่าไม้  ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และพลังงาน เป็นปัญหาที่คนยากคนจนในโลกนี้ได้ดำเนินการต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อวิถีชีวิต  ตัวอย่างเช่น  ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เกษตรกรชาวอินเดีย 50,000 คนต้องฆ่าตัวตายเนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายการค้าเสรีภาคเกษตรโดยองค์การการค้าโลก   ดังนั้น เกษตรกร  แรงงานภาคเกษตร  ชนกลุ่มน้อย  ชาวประมงพื้นบ้าน  และชุมชนในชนบทหลายล้านคนต้องจำยอมละทิ้งถิ่นฐาน และเข้าไปอาศัยสลัมของเมืองใหญ่  เพื่อขายแรงงานเลี้ยงชีพ ซึ่งต้องแลกกับความทุกข์ยาก  การถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกดขี่ต่างๆ นานา


 


นอกจากสภาพความเป็นอยู่ในชนบทที่ถูกทำลาย  กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดน้อยลง  ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายอนาคตของโลกทั้งมวล  ความมั่งคั่งและอำนาจที่กระจุกตัวอยู่กับคนเพียงกลุ่มหนึ่ง  ประกอบกับการเอารัดเอาเปรียบคนจนที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก  โดยยินยอมให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและสินค้าโดยเสรี  อย่างไรก็ตาม มนุษย์จากประเทศยากจนไม่มีสิทธิในการเข้าถึงเสรีภาพ   สำหรับผู้ที่พยายามจะหลีกหนีความทุกข์ยากด้วยการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ขโมยความมั่งคั่งเหล่านั้นไป ต้องเผชิญกับแนวคิดเรื่องการกีดกันทางเชื้อชาติ  ความรุนแรง และการเอารัดเอาเปรียบที่เพิ่มมากขึ้น  กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ยังเป็นตัวควบคุมให้เกิดการปรับรื้อโครงสร้างภาคบริการสาธารณะและนโยบายสวัสดิการรัฐเสียใหม่  ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผู้หญิง  เด็ก และคนชรา  ในท้ายที่สุด  การทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม  และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยด้วยวิธีการกำหนดเรื่องของสินทรัพย์ส่วนบุคคล ว่าอยู่เหนือภูมิปัญญาและรูปแบบวิถีชีวิต  โดยยอมให้สื่อตะวันตกเข้าครอบงำเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพล  และส่งผลกระทบเลวร้ายในแง่ของการบิดเบือนข้อมูล และทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์


 


ทุนนิยมเป็นระบอบที่ไม่มีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย  และในฐานะที่องค์การการค้าโลกเป็นหนึ่งในองค์กรขับเคลื่อนสำคัญ  จึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน  เพราะอยู่บนพื้นฐานของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจากทั่วโลก (รวมทั้งประเทศที่ดูเหมือนว่าจะเป็นประชาธิปไตย)  ที่นโยบายเศรษฐกิจคือการใช้ทุนเป็นตัวกำหนด   ความไร้ซึ่งประชาธิปไตยสามารถสะท้อนให้เห็นได้บางส่วนจากความรุนแรงที่กระทำกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว กลุ่มผู้ประท้วงที่เพิ่มมากขึ้น  ประชาชนขาดเสรีภาพ  และในสงครามล่าอาณานิคมยุคใหม่ที่ก้าวร้าวล่วงล้ำถึงทรัพยากรธรรมชาติ  ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย"  ดังนั้น  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างทางเลือกจากประชาชนระดับรากหญ้า


 


ประชาชนที่ถูกกดขี่จากทุกที่ต้องทำงานด้วยความสมานฉันท์ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านมติที่ผ่านความเห็นชอบจากองค์การการค้าโลก ถ้าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก  องค์การการค้าโลกมีความเชื่อมโยงโดยรวมกับสถาบันระดับโลก เช่น กลุ่มประเทศจี 8  ไอเอ็มเอฟ  และธนาคารโลก  รวมทั้งกระบวนการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและข้อตกลงทางการค้าต่างๆ  ซึ่งเป็นกลลวงของบรรษัทข้ามชาติและกลุ่มมหาอำนาจโลก   วันเคลื่อนไหวในระดับโลกเกิดขึ้นครั้งแรกเพื่อต่อต้านทุนนิยมในปี 2541  เพื่อให้ตรงกันกับการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่เมืองเจนีวา และการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศจี 8 ในสหราชอาณาจักร  "การเคลื่อนไหวของขบวนการต่างๆ" ที่เติบโตขึ้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการเคลื่อนไหวเหล่านี้  และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน


 


เราจึงขอส่งเสริมให้กลุ่มองค์กร  นักเคลื่อนไหว และขบวนการต่างๆ ทั่วโลกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนมวลชน และกิจกรรมที่ไม่ได้รวมศูนย์ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ไม่ได้คำนึงถึงขนาด หรือสถานที่)  เพื่อร่วมต่อต้านการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกในฮ่องกง (ระหว่างวันที่ 14 - 18 ธันวาคม 2548) การประชุมครั้งนี้จะจัดให้มีขึ้นในสถานที่ที่ปลอดภัย  โดยมีทะเลกั้น เพื่อที่จะป้องกันมิให้มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น  แต่ทว่าเราจะมิให้พวกเขาเหล่านั้นหลบซ่อนตัวจากความเสียหายที่พวกเขาสร้างขึ้นจนกระทบประชาชนทั่วโลก   การเคลื่อนไหวที่หลากหลายจะก่อให้เกิดเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต  ทั้งการต่อต้านและข้อเสนอ  ทั้งการคัดค้านและการสร้างสรรค์  การเคลื่อนไหวต่อสู้กับองค์การการค้าโลกยังคงดำเนินอยู่ทั่วโลก  เพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องต่อต้านการดำเนินนโยบายขององค์การการค้าโลกในประเทศต่างๆ และต่อต้านทุนนิยมในระดับโลก


 


มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรื่องราวการต่อต้านองค์การการค้าโลกของท่านกับคนอื่นๆ  ผ่านทาง www.indymedia.org  และสื่ออื่นๆ เช่น www.all4all.org  เราหวังว่าจะได้นำเรื่องราวของท่านมาผลิตจดหมายข่าว People"s Global Action บนสิ่งพิมพ์และหน้าเว็บ เป็นภาษาอังกฤษและสเปน  ซึ่งจะสามารถแปลเป็นภาษาต่างๆ และเป็นข้อมูลแจกจ่ายไปทั่วโลก  เพื่อเพิ่มพูนความรู้ร่วมกัน และขยายแนวร่วมในการต่อต้านให้มากขึ้นไปอีก


 


 


ร่างคำประกาศโดย


Indian Coordination Committee of Farmers' Movements (BKU(All India), KRRS,


Shektari Sangathana,


Tamilnadu Farmers Association(TVS),


Kerala Coconut Farmers Association,Nandi Raitha Samkya )


All-Nepal Peasant Association, Nepal


Krishok Federation, Bangladesh


สมัชชาคนจน, ประเทศไทย


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net