Skip to main content
sharethis

เอกสารประกอบการจัดงาน "มหกรรมปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" ปฏิบัติการภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2548 ณ พื้นที่ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่


 


.......................................................................


ภาพรวมสถานการณ์ที่ดิน


1.เนื้อที่ของประเทศไทย ประมาณ 321 ล้านไร่ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ได้เน้นการพัฒนาเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามระบบทุนกระแสหลัก โดยใช้อุตสาหกรรมเป็นหลัก ละเลยภาคการเกษตร จึงมีการลงทุนเก็งกำไรในที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินได้พุ่งขึ้นสูงกว่าความเป็นจริง ธุรกิจซื้อขายที่ดิน ก่อให้เกิดกำไรมหาศาล พื้นที่เกษตรถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรไปสู่นายทุนเป็นจำนวนมาก และการขยายตัวของเมืองและเขตอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรกลุ่มหนึ่งต้องเข้ามารับจ้างในเมือง และส่วนหนึ่งต้องพึ่งพื้นที่ป่าเอาชีวิตรอด


 


2.ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ดินช่วงปี พ.. 2538 - 2542 พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 82.2 ล้านไร่ ในปี 2538 เป็น 80.6 ล้านไร่ ในปี 2542 ขณะที่พื้นที่ถือครองทางการเกษตรลดลงจาก 132.5 ล้านไร่ ในปี 2538 เป็น 131.3 ล้านไร่ ในปี 2542


 


3.งานวิจัยเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจที่ดินของไทยในศตวรรษใหม่" ของปรีชา วทัญญู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเศรษฐกิจที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน (2544) ระบุว่า "ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย กล่าวคือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศเป็นเจ้าของผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ที่เหลือร้อยละ 90 เป็นผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ไร่เท่านั้น คนไทยอีกประมาณ 811,871 ครอบครัวยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเองส่วนเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอต้องเช่าที่ดินทำกินมีจำนวน 1- 1.5 ล้านครอบครัว"


 


4.งานศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดิน (2543-2544) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในหัวข้อ "การถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด" สรุปได้ว่า มีการกระจุกตัวของที่ดินและมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่เต็มที่ ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจมาก เนื่องจากสาเหตุ ดังนี้


 


(1) หน่วยงานบริหารจัดการที่ดินกระจายอยู่ในกระทรวงและกรมต่างๆ ขาดความเป็นเอกภาพ


(2) ทรัพยากรดินและที่ดินเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ที่ดินผิดประเภท หรือการใช้ไม่เหมาะสมกับสมรรถนะของดิน


(3) ขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะจำกัดขนาดของการถือครองที่ดิน ทำให้การถือครองที่ดินกระจุกตัว มีการกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไรที่ดิน


(4) ขาดมาตรการทางภาษีที่จะทำให้มีการกระจายที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในสังคม


(5) มีผู้ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย


(6)สิทธิในที่ดินที่ประชาชนได้รับแตกต่างกัน


(7) เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินจากความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน


 


นโยบายทักษิณกรณีที่ดินและความยากจน


1.นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลทักษิณ ด้วยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เพื่อขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปภายใน 6 ปี (2547-2552) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบการจดทะเบียนความเดือดร้อนหรือความต้องการของประชาชนรวม 7 ประเภท พบว่ามีการลงทะเบียนคนจน กว่า 9 ล้านคน


 


2.ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย พบว่าชาวบ้านไปลงทะเบียน กรณีปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน ประมาณ 4.8 ล้านครอบครัว จำแนกเป็นไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเกือบ 9 แสนราย มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอกว่า 5 แสนราย และมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กว่า 8 แสนราย เบื้องต้นรัฐกำหนดจะจัดสรรที่ดินเพื่อให้คนจนไร้ที่ดินเช่าครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ แต่พบว่ารัฐสามารถจัดหาที่ดินนำมาจัดสรรให้คนจนเหล่านั้นมีเพียง 29 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งสามารถจัดสรรให้คนจนไร้ที่ดินได้แค่ 2.1 ล้านครอบครัว ในสัดส่วนครอบครัวละ 13.8 ไร่ และยังขาดที่ดินอีกกว่า 40.5 ล้านไร่ เพื่อจัดสรรให้คนยากจนที่ลงทะเบียนไร้ที่ดินอีกกว่า 2.7 ล้านครอบครัว ซึ่งรัฐยังไม่รู้ว่าจะเอาที่ดินที่ไหนมาจัดสรรให้


 


3.กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน(ศตจ.มท.) ได้เสนอรายงานผลการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548 พบว่า "รัฐไม่มีที่ดินเพียงพอต่อผู้มาลงทะเบียน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางในการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติม"


 


รูปธรรมความล้มเหลวที่รัฐละเลย


1. การชุมนุมเรียกร้องของสมัชชาคนจนกรณีที่ดิน ประกอบด้วย กลุ่มปัญหาที่ดินในเขตป่า 87 กรณี กลุ่มที่สาธารณประโยชน์ 15 กรณี ที่ผลักดันให้รัฐบาล พลเอกชวลิตฯ แก้ไขปัญหาและทิ้งค้างไว้มาจนถึงรัฐบาลทักษิณกลับไม่เร่งนำข้อร้องเรียนของสมัชชาคนจนมาดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อกันเขตที่ดินทำกินออกจากเขตป่า หากปรากฏว่าประชาชนทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า กลับไม่มีการดำเนินการให้เสร็จสิ้นและไม่สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ป่าเร่งดำเนินการจับกุมประชาชนที่อยู่ในเขตป่า


 


2.กรณีปัญหาของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เรียกร้องให้มีปฏิรูปที่ดินที่ดินของเอกชน ในพื้นที่ลำพูน - เชียงใหม่ ซึ่งพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งในที่สาธารณประโยชน์ ที่ สปก. และที่ดินของเอกชน เพื่อให้รัฐบาล นำที่ดินที่เป็นหนี้เสียจากการกู้เงินธนาคารนำมาจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร เพื่อนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาประโยชน์ โดยให้ชุมชนดำเนินปฏิรูปที่ดินและจัดการที่ดินด้วยชุมชนเองในพื้นที่นำร่อง 27 พื้นที่ของ สกน. เพื่อป้องกันการขายที่ดินให้แก่ผู้อื่น แต่รัฐบาลทักษิณกลับมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ยกเลิกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งหมด


 


3.กรณีบริษัทเอกชนทำสวนป่าปลูกปาล์มและยางพารา และทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 9 แห่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 43 ราย และจังหวัดกระบี่ จำนวน 14 ราย จากการตรวจสอบของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน เมื่อวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2546 เครือข่ายฯพบว่ามีที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถูกนำไปใช้ประโยชน์ทำสวนป่าอย่างผิดกฎหมาย ข้อมูลของป่าไม้พบว่า พื้นที่เช่าหลายแปลงได้หมดสัญญาเช่า และอยู่ในระหว่างการขอต่อสัญญาเช่า แต่บริษัทยังครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่เหล่านั้น ปรากฏว่าการตรวจสอบร่วมกับรัฐไม่คืบหน้าแต่อย่างใด เครือข่ายฯ จึงเข้าไปครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนฯที่ทำสวนป่าเพื่อเรียกร้องให้รัฐเร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว แต่รัฐบาลทักษิณได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับกรณีจังหวัดลำพูน ด้วยการสลายการชุมนุมในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2546


 


4.กรณีของเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เรียกร้องให้รัฐปรับปรุงและพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมที่ชุมชนตั้งอยู่ และให้สิทธิความมั่นคงในรูปแบบการเช่าที่ดินระยะยาว ยุติการไล่รื้อ ปัญหาที่พบคือ รัฐไม่สามารถนำที่ดินมาจัดที่อยู่อาศัยโดยให้เช่าในระยะยาวได้ แม้นว่า กรณีที่ดินการรถไฟฯ จะสามารถเจรจา ขอเช่าระยะยาว 30 ปีได้ 6 ชุมชน ระยะสั้น 3 ปีอีก 6 ชุมชน แต่จำนวนชุมชนแออัดทั่วประเทศ กว่าประมาณ 3,750 ชุมชน จำนวน 1.14 ล้านครอบครัว ประชากร 5.13 ล้านคน ยังคงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลต้องคิดใหม่ว่า โครงการของรัฐจะต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานว่า บ้านมั่นคงของชุมชนเมืองจะต้องอยู่ใกล้แหล่งงานและอาชีพ การทำสัญญาเช่าที่ดินที่มีความมั่นคงในระยะยาว ย่อมเป็นแรงจูงใจในการปับปรุงที่อยู่อาศัยของชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง


 


5.กรณีล่าสุดกลุ่มปัญหาที่ดินของผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ ภายหลังคลื่นหายไป พบว่าที่ดินเกือบทั้งของชุมชน หรือที่สาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านริมฝั่งทะเล ถูกเอกชนนายทุนหรือนักการเมืองระดับชาติ นำมาออกเอกสารสิทธิ์ เก็งกำไรกับธุรกิจท่องเที่ยว เกือบทั้งสิ้น


 


จริงหรือที่นายกฯ พูดว่า ในปี 2552 ประเทศไทยจะไม่มีคนจนอีกต่อไป


แม้ว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม นับจากการก่อตั้ง "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2518 หรือ 31 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่ารัฐทุนนิยมชนชั้นปกครองจะไม่ได้ยินหรือแยแส ปฏิบัติการอย่างจริงจังที่อย่างใด


 


ดังนั้น ในระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2548 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย องค์กรจัดต้องของชาวนายุครัฐบาลทักษิณ จึงได้จัดให้มี "เวทีมหกรรมปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนปฏิบัติการภาคประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน" ณ พื้นที่ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอรูปธรรมการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนและร่วมกันตรวจสอบชำแหละนโยบายทุนนิยมขายฝัน ประชานิยมลมลวงของรัฐบาลทักษิณต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net