Skip to main content
sharethis


วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2005 17:42น. 

เต็งกูอารีฟิน บินเต็งกูจิ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เหตุการณ์ที่หมู่บ้านกะทองเมื่อ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้ ได้สร้างปริศนาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่า ด้วยสาเหตุและกลุ่มบุคคลใดที่ลงมือสังหารหมู่ครอบครัวอาแวบือซาทั้ง 9 คนอย่างเหี้ยมโหดไม่เว้นแม้แต่เด็กทารกอายุเพียง 8 เดือน


 


นับจากวันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ (21 พ.ย.48) ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดภาคใต้ต่างทยอยกันไปเยี่ยมเยียนและถามไถ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากชาวบ้านกะทอง ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากชาวบ้านกะทองนั้น แตกต่างไปจากคำแถลงของทางราชการในประเด็นต่างๆ เหล่านี้คือ


 


1.นายสูเด็ง อาแวบือซา หัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตพร้อมกับคนในครอบครัว รวมเก้าศพนั้นเคยเป็นสมาชิกหรือเป็นแนวร่วมของขบวนการโจรก่อการร้ายจริงหรือไม่?   คำตอบของญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดและชาวบ้านกะทองต่างปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า นายสูเด็ง ไม่เคยเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมโจรก่อการร้ายแต่อย่างใด เว้นแต่จะมีชื่อในบัญชีดำของราชการ


 


2.นายสูเด็ง ผู้ตาย  ถูกกล่าวหาว่าเคยเป็น หรือเป็นแนวร่วมขบวนการโจรแต่เข้ามามอบตัวต่อทางราชการโดยให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับโจรก่อการร้าย  จริงหรือไม่ ?  คำตอบจากผู้นำท้องถิ่นและญาติพี่น้องใกล้ชิดต่างปฏิเสธว่า นายสูเด็งไม่เคยอยู่ในฐานะผู้หลงผิดและเข้ามอบตัวต่อทางราชการและแจ้งข้อมูลใดๆ แก่ทางราชการแต่อย่างใด


 


3.ฐานะของทางครอบครัวนายสูเด็ง เป็นอย่างไร? คำตอบคือ มีฐานะค่อนข้างยากจน แต่ขยันทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวโดยมีอาชีพกรีดยาง และทำนา นายสูเด็งส่งลูกเรียนหนังสือไทย โดยเฉพาะน.ส.รีดา อาแวบือซา บุตรสาว ซึ่งได้เสียชีวิตในวันเวลาเกิดเหตุเช่นกัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา และกำลังทำงานในองค์กรรัฐแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นบุตรคนอื่นๆ ก็กำลังศึกษาเช่นกัน


 


4.ความประพฤติของนายสูเด็งนั้น เป็นอย่างไร? คำตอบคือ  นายสูเด็งแม้จะเป็นคนเงียบขรึม แต่จะทำงานช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชน ด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าผู้ใดจะออกปากขอให้ช่วยเหลือ จึงเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านในหมู่บ้านและบ้านใกล้เคียง


 


ความคิดเห็นของชาวบ้านจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


1.ก่อนจะเกิดเหตุ ชาวบ้านคนหนึ่งเปิดประตูบ้านเพื่อทำธุระ ได้เห็นกลุ่มคนจำนวนมากเข้าไปในหมู่บ้าน กลุ่มคนดังกล่าวลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ  พูดติดต่อกันด้วยวิทยุสื่อสาร จึงปิดประตูบ้าน จนกระทั่งไม่กี่นาทีก็ได้ยินเสียงปืนและระเบิดโจมตีในหมู่บ้าน


 


2.ชาวบ้านเล่าว่า พบร่องรอยบางอย่างที่พบเห็นบนพื้นดินบริเวณที่เกิดเหตุ คล้ายของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


3.หลังจากเกิดเหตุ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแจ้งเหตุแก่ผู้ใหญ่บ้าน  ซึ่งแจ้งต่อนายอำเภอในเวลาประมาณ 02.00 น.เศษ  แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไประงับเหตุหรือติดตามคนร้าย จนกระทั่งช่วงสายของวันรุ่งขึ้น  (ฝ่ายเจ้าหน้าที่คงกลัวคนร้ายลอบทำร้าย)


 


4.วันรุ่งขึ้นได้มีชาวบ้านใกล้เคียงจำนวนมากเข้าไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร  แต่ชาวบ้านไม่อาจจะเข้าไปยังบ้านที่เกิดเหตุได้เพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้น   ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ประสงค์จะให้คนทั่วไปรับรู้ และเห็นสภาพที่ได้เกิดขึ้น   ซึ่งขัดแย้งกับให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่อ้างว่า ถูกชาวบ้านขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยังที่เกิดเหตุ จนต้องใช้กำลังทหารตำรวจจำนวนมากเข้าเคลียร์พื้นที่จึงเข้าไปได้   และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่คนดังกล่าว เข้าไปในที่เกิดเหตุก็เป็นเวลากว่า11.00 น. เข้าไปแล้ว


 


5.ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า พิธีศพผู้เสียชีวิตทั้ง 9 คน ญาติมิได้ทำการอาบน้ำศพ เหมือนศพทั่วไป เพราะมีความเชื่อว่า ผู้ตายถูกฆ่าตายโดยการต่อสู้จากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือว่าเป็นการตายชาฮีต (โดยเพื่อพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุว่า การตายของครอบครัวนี้ เป็นการตายที่ควรยกย่องสรรเสริญ ไม่ควรจะกล่าวในทางร้ายใดๆ


 


การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลในต่างประเทศ


องค์กรสิทธิมนุษยชนมาลายูปาตานี แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ www.pmhro.org ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง "เหตุการณ์สังหารชาวบ้านรำไม-บองอ นราธิวาส" มานำเสนอ มีสาระโดยสรุปดังนี้


 


ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง "เหตุการณ์สังหารชาวบ้านรำไม-บองอ นราธิวาส" มานำเสนอ มีสาระโดยสรุปดังนี้ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง "เหตุการณ์สังหารชาวบ้านลาไม-บองอ นราธิวาส" มานำเสนอ มีสาระโดยสรุปดังนี้ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง "เหตุการณ์สังหารชาวบ้านลาไม-บองอ นราธิวาส" มานำเสนอ มีสาระโดยสรุปดังนี้ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง "เหตุการณ์สังหารชาวบ้านลาไม-บองอ นราธิวาส" มานำเสนอ มีสาระโดยสรุปดังนี้


 


การสังหารและก่อเหตุรุนแรงต่อชาวบ้าน(ชาวมลายู)เป็นประจำทุกวันนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไม่สามารถให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยแก่ชาวมลายูปาตานีได้ ดังนั้นในนามองค์กรเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวมลายูปาตานี ขอเรียกร้องดังนี้


 


1.ขอให้องค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมาธิการความมั่นคง จะต้องจัดตั้งคณะสืบสวนข้อเท็จจริงระหว่างประเทศขึ้น เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงกรณีการสังหารหมู่ชาวบ้านบนแผ่นดินปาตานี และนำเข้าพิจารณาในองค์กรเพื่อความยุติธรรมระหว่างประเทศ


 


2.ขอเรียกร้องให้องค์การประชุมมุสลิมโลก (OIC) เข้ามามีบทบาทโดยเร่งด่วนเพื่อให้การปกป้องคุ้มครองแก่ชาวมลายูปาตานี


 


3.ขอเรียกร้ององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายประณามการกระทำของผู้มีอำนาจไทยที่กระทำต่อชาวมลายูปาตานี


 


โศกนาฏกรรมที่บ้านกะทอง กลายเป็นรอยด่าง ที่ตอกย้ำความรู้สึกแปลกแยกและชิงชังในจิตใจชาวมุสลิมต่อเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง   จึงเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องเร่งหาคำตอบที่สมเหตุสมผล เพื่อตอบคำถามแก่ประชาชนภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศทีกำลังเคลื่อนไหว ในปริศนาบ้านกะทอง ๐


                                                                                                 


 --------------------------------------------------------------------------------


การเสนอข่าวของสื่อมวลชนมาเลเซีย


 


(หนังสือพิมพ์ เบอริตา ฮาริยัน ของมาเลเซีย ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 2548   ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่อ้างกับผู้สื่อข่าวว่า เดินทางมาจากบ้านกะทอง อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านกะทอง เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา) 


 


รันตูปันยัง มาเลเซีย - พวกเราเดินทางมาที่นี้เพื่อที่จะเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับการฆ่ายกครัว 9 ศพและบาดเจ็บอีก 9 คน ในเหตุการณ์ที่คนร้ายยิงและวางระเบิดชาวบ้านกะทอง อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่พุธที่ผ่านมา


 


"การรายงานข่าวของสื่อไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ตรงตามความเป็นจริงเหตุการณ์ฆ่ายกครัวที่จริงแล้วเป็นฝีมือทหารไม่ใช่เป็นการกระทำของแนวร่วมตามที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ข่าว"


 


"ผมเห็นกับตาตัวเองขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารกำลังยืนอยู่หน้าบ้านที่เกิดเหตุ" เป็นคำบอกเล่าของชายวัยอายุ 30 ปี ที่เดินทางมาพบผู้สื่อข่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 4 คนและเด็กอีกจำนวนหนึ่ง 


 


ชายคนดังกล่าวซึ่งมีอาชีพกรีดยาง เดินทางมายังมาเลเซียเพื่อที่จะบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกะทอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียประมาณ 100 กิโลเมตร


 


ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย ชาย 3 คน หญิง 2 คน อายุระหว่าง 20-35 ปี พร้อมกับเด็กอีก 2 คน ได้ขึ้นรถกระบะออกจากบ้านกะทอง เวลา  16.00 น. และมาถึงที่รันตูปันยัง เวลา 19.00 น. ตามเวลาของมาเลเซีย ก่อนจะมีการติดต่อประสานงานกับผู้สื่อข่าวในโกตาบารู และพบปะกันเวลา 23.00 น.


 


ชายผู้บอกเล่าเรื่องราวกล่าวว่า พวกเรามาที่นี่เพื่อเปิดเผยเหตุการณ์ หลังจากพบว่า สื่อมวลชนไทยรายงานข่าวไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


 


เขาได้เล่าเหตุการณ์ที่เขาอ้างว่า เกิดขึ้นจริงว่า "ผมตื่นขึ้นเวลาประมาณ 01.30 น. หลังจากได้ยินเสียงปืนและระเบิด ผมก็รีบกระโดดออกจากบ้านเพื่อหลบภัย"


 


"ในขณะนั้น ผมเห็นผู้ชายใส่ชุดทหารถือปืนออโตเมติก ยืนอยู่หน้าบ้าน ขณะเดียวกันก็เห็นบ้านของเพื่อนบ้าน เสียหายจากแรงระเบิด หลังจากเหตุการณ์ ผมได้วิ่งหนีและเจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนมาถูกที่ขาซ้ายของผม ผมวิ่งหนีห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตรเพื่อเอาชีวิตรอด" เป็นคำบอกของชายที่ปกปิดนาม


 


ชายคนดังกล่าว ยังเล่าอีกว่า ชาวบ้านเห็นทหารกลุ่มหนึ่งออกจากชายป่าหลังหมู่บ้านที่เกิดเหตุในช่วงเช้า เวลาประมาณเวลา 8.30 น. โดยนั่งเฮลิคอปเตอร์ที่มารับบริเวณทุ่งนาหลังบ้านที่เกิดเหตุ


 


สิ่งที่เกิดขึ้นได้เพิ่มความไม่สบายใจต่อชาวบ้านที่เกิดขึ้น และทำให้พวกเขาเชื่อว่า เหตุดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่อยู่เบื้องหลัง


 


ชายคนดังกล่าวยังเล่าว่า เพื่อนบ้านอายุ 33 ปี กล่าวกับเขาว่า เขาพร้อมกับภรรยาและลูกๆ ตื่นนอนเพราะได้ยินเสียงปืนและระเบิด ที่เกิดขึ้น "ลูกของผม 2 คน ตกใจ หลังจากระเบิดทำให้กระจกแตก"


 


พวกเราทั้ง 4 คน พ่อ แม่ ลูก เกิดความหวาดกลัว โดยกอดกัน และหลบเข้าข้างฝา จนกระทั่งได้เสียงระเบิดเงียบไปนานประมาณ 20 นาที 


 


ชาวสวนยางคนดังกล่าวเล่าว่า เวลาประมาณ 02.30 น. ชาวบ้านในหมู่บ้านออกจากบ้านไปยังบ้านที่เกิดเหตุและได้พบศพทั้ง 9 คน อยู่บนบ้าน โดยสภาพถูกยิงที่ศีรษะ "ผมรู้สึกเสียใจและโกรธแค้นที่คนร้าย ทำได้แม้กระทั่งฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 14-22 ปี โดยการยิงที่ศีรษะ"


 


เพื่อนบ้านอีกคนอายุ 22 ปี บอกว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์ ทุกคนกำลังหลับอยู่ "น้องของผม 3 คน และลูกพี่ลูกน้อง อายุระหว่าง 14-22 ปี นอนอยู่ชั้นบน ผมและพ่อแม่นอนในห้องชั้นล่าง "โดยทันทีทันใด เราถูกปลุกด้วยเสียงระเบิด น้อง 3 คนและลูกพี่ของผม บาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกระเบิด ที่วางไว้หน้าบ้าน" ชายซึ่งไม่ได้รับบาดเจ็บคนดังกล่าว กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net