หญิงเอเชียนับล้านเสียชีวิตจากทำแท้งและคลอดลูก

 

 

 

ประชาไท- สิบปีให้หลังนับตั้งแต่มีแผนปฎิบัติการไคโร สิทธิทางด้านสุขภาพทางเพศ และการอนามัยเจริญพันธุ์แทบไม่คืบหน้า เผยยอดผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงเสียชีวิตไปแล้วนับล้านคนเนื่องจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร และอีกหลายหมื่นคนต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากผลของการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การคลอด และการไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์

 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นการค้นพบจากการศึกษาของ Asia Pacific Research and Resource Centre for Women (ARROW) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำการติดตามการนำแผนปฎิบัติไคโร (International Conference on Population and Development- ICPD) มาใช้ในประเทศต่างๆ ในเรื่องของสุขภาพทางเพศและการอนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 10 ปี

 

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวทำขึ้นใน 8 ประเทศในเอเชีย กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์ และผลของการศึกษาได้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในที่ประชุมเอเชีย-แปซิฟิค เรื่องสุขภาพทางเพศและการอนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิครั้งที่ 3 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 17-20 พย. ที่ผ่านมา

 

ผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศต่างๆ ยังล้มเหลวในการป้องกันการเสียชีวิตจากภาวะความเป็นแม่ ตามแผนปฎิบัติการไคโร โดยพบว่าตัวเลขอัตราการตายอันเนื่องจากความเป็นแม่ใน 8 ประเทศที่ทำการศึกษานี้สูงถึงประมาณ 2 ล้านคน โดยที่ไม่มีรายงานว่า ประเทศใดในทั้ง 8 ประเทศนี้มีตัวเลขจำนวนของการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลดลงเลย 

 

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า มีผู้หญิงเอเชียมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยสูงถึงประมาณ 10.5 ล้านคนต่อปี

 

ในการศึกษาใน  8 ประเทศ พบว่ามีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งแต่ละปีสูงถึง 25,953 คน โดยประเทศที่มีอัตราการตายสูงสุดคือ อินเดีย 17,680 คน รองลงมาคือปากีสถาน (3,380), จีน (1,650) อินโดนีเซีย (1,500)  ตามลำดับ ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปทั้งทวีป ที่มีตัวเลขการเสียชีวิตอยู่ที่ 500 คนต่อปี

 

ตัวเลขของการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่ส่งผลให้เกิดการทำแท้ง และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นผมาจากล้มเหลวเรื่องการสอนเพศศึกษา

 

ราชิดาห์ อับดุลลาห์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร ARROW กล่าวว่า อาจมีหลายเหตุผลที่ส่งมาถึงสามาเหตุของการทำแท้ง ตั้งแต่เรื่องของรัฐบาลที่ไม่ได้เห็นความสำคัญว่าเรื่องปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์เป็นปัญหา การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ส่วนหนึ่งอาจมาจากความล้มเหลวในการคุมกำเนิด แต่ปัจจัยที่มากกว่านั้นคือ ความล้มเหลวในเรื่องการสอนเรื่องเพศศึกษา

 

หทัยรัตน์ สุดา ผู้ช่วยโครงการ องค์กร PATH หนึ่งในวิทยากรที่นำเสนอเรื่องการทำงานเรื่องเพศศึกษากับเยาวชน ในการประชุมครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า เวลาพูดถึงการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการอนามัยเจริญพันธุ์ ก็มักจะเน้นไปยังเรื่องการอนามัยเป็นส่วนใหญ่และพยายามจะเลี่ยงๆ ที่จะเสนอเรื่องเพศศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เนื่องจากเกรงว่าจะไปเป็นการยั่วยุให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  ดังนั้นจึงพยายามประวิงเวลาที่จะพูดถึงเรื่องนี้ หรือไม่เช่นนั้นอาจจะไม่พูดถึงไปเลย

 

"การเริ่มสอนเพศศึกษาในเด็กยิ่งช้าเท่าไร บางครั้งก็อาจจะสายเกินไปก็ได้" หทัยรัตน์ ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเยาวชนมานานกล่าว

 

ประเทศต่างๆ ในเอเชียมองกว่า ประเด็นเรื่องเพศนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามและขัดต่อวัฒนธรรม จึงส่งผลให้หลายประเทศไม่กล้าที่จะสอนเรื่องเพศศึกษา หรืออาจเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้โดยตรง

 

ในเวียดนามการสอนเรื่องเพศศึกษาอยู่ในวิชาชีวิทยาในระดับมัธยมปลาย โดยเริ่มสอนเกี่ยวกับเรื่องอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และระบบอนามัยเจริญพันธุ์ในเด็กประมาณชั้น ป. 6  ในลาวไม่มีวิชาเพศศึกษาโดยตรง แต่มีเรื่องระบบอนามัยเจริญพันธุ์ในวิชาชีววิทยาในเด็กมัธยมปลาย ส่วนประเทศพม่าไม่มีการสอนเพศศึกษาเลย

 

อย่างไรก็ตาม ในภาคส่วนของคนทำงานในด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์นั้นก็ได้พยายามที่จะจัดโครงการเพื่อให้มีการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษากันมากขึ้น

 

ที่มาเลเซีย มารีนา มหาเธร์  นักกิจกรรมสังคมด้านเอดส์ บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ผลิตสื่อที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์นำเสนอทางโทรทัศน์ ในฟิลิปปินส์ก็มีการทำงานโดยการใช้ละครเป็นสื่อในการสื่อสารเรื่องนี้ และในอินโดนีเซียก็เริ่มมีการรณรงค์โดยกลุ่มศาสนาที่หัวก้าวหน้า กระนั้น อาจจะยังไม่สามารถพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเพศได้โดยตรง แต่ใช้คำว่าทางชีววิทยาหรือการอนามัยเจริญพันธุ์แทน

 

ในประเทศศรีลังกากองทุนเพื่อประชากรองค์การสหประชาติ (UNFPA) กำลังทดลองโครงการสอนเพศศึกษาให้กับเด็กตั้งแต่ชั้น ป. 1 โดยเริ่มจากเรื่องการดูแลและทำความสะอาดเนื้อตัวร่างกาย และจะพัฒนาสารที่จะสื่อกับเด็กให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมปลาย

 

อเสลา  กากูกัมพิทิยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามและประเมินโครงการกล่าวว่า "แต่ถึงอย่างไร เราเองก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสื่อสารในเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้หรือไม่ เพราะว่าการสอนเพศศึกษาในประเทศของเราก็เป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่เช่นกัน"

 

หทัยรัตน์ เจ้าของรางวัลอาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ ปี 2548 และผู้ฝึกอบรมการสอนเรื่องเพศศึกษาในเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานหรือการสอนเพศศึกษาที่มีอยู่นั้นจะเป็นไปในรูปแบบของการสอนพัฒนาการทางร่างกายและเรื่องของสุขอนามัยเป็นหลักซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด

 

"อยากให้มองประเด็นเรื่องนี้ให้รอบด้านว่า เพศศึกษานั้นไม่ใช่แค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งต้องครอบคลุมทั้งชีวิต ทั้งมิติของความเชื่อ ความสัมพันธ์"

 

การสอนเรื่องเพศศึกษานั้นประกอบด้วย องค์ประกอบ 6 ประการได้แก่ เรื่องพัฒนาการทางร่างกาย สัมพันธภาพ ทักษะการสื่อสาร สังคมและวัฒนธรรม การยอมรับพฤติกรรมและความหลากหลายทางเพศ และเรื่องของการป้องกัน

 

หทัยทัตน์มองว่า ทุกวันนี้การทำงานเรื่องเพศศึกษานั้นจำกัดวงอยู่เพียงแค่การป้องกัน และเรื่องพัฒนาการเท่านั้น ซึ่งอาจจะใช่สำหรับสถานการในขณะนี้ที่มีการพูดถึงเรื่องของการระบาดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ทั้งนี้คนที่ทำงานก็ไม่ควรที่จะหยุดยั้งอยู่แค่นี้ ควรจะตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่การทำงานที่ครอบคลุมทั้งหมดทั้ง 6 ประการแผนปฎิบัติการไคโร ซึ่งจริงๆ แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมาด้วยกัน

 

"หากเรารู้ทั้งหมดว่าร่างกายเราพัฒนาไปอย่างไร เราจะป้องกันตัวเองอย่างไร แต่เรากลับไม่รู้ถึงระดับความสัมพันธ์ หรือไม่รู้ว่าจะต่อรองกับคู่ได้อย่างไร หรือเราไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เป็นอยู่ให้กับคนรอบๆ ตัวเข้าใจได้ ความรู้ที่เรามีอยู่ตรงนี้ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว การสอนเรื่องเพศศึกษานั้นคงจะไม่ใช่แค่ให้ความรู้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่จะหมายรวมไปถึงความสามารถในการเลือก หรือการตัดสินใจได้เองในเรื่องของการมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ และเข้าใจถึงกระทบที่จะเกิดขึ้น หรือแม้ว่ามีปัญหาก็พร้อมและรู้ว่าจะรับมือกับปัญหาอย่างไรด้วย" หทัยรัตน์สรุป

 

----------------------------------------

สุทธิดา มะลิแก้ว

รายงานจาก กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท