Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ที่ห้องประชุมกองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะทำงานตรวจและติดตามผลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที 4/2548 มีนายบุญญวัฒน์ ชีช้าง ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุม 30 คน ใช้เวลาถกเถียงกันเกือบ 4 ชั่วโมง

 


ทั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากมีการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 โดยนายเทอดศักดิ์ ลักษณะหุต คณะทำงานและเลขานุการ พร้อมด้วยการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอปากพนัง ร่วมกันชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หลังจากเปิดประตูระบายน้ำ คุณภาพน้ำลดลง เนื่องจากปริมาณออกซิเจนน้อยลง และความเค็มของน้ำในแม่น้ำปากพนังสูงขึ้น แต่ตรงจุดแพรกเมือง ซึ่งตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถ้าความเค็มตรงจุดนี้ถึง 3 ให้ปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์นั้น ปรากฏว่าความเค็มตรงจุดดังกล่าวยังคงต่ำกว่า 3


 


นอกจากนี้ ยังพบว่าน้ำในคลองสายหลักมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น เมื่อประกอบกับคุณภาพน้ำต่ำลง จึงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำปากพนัง จึงเสนอให้เปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉิน เพื่อระบายน้ำที่มีความเป็นกรดออกสู่ทะเลโดยเร็ว ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 บางช่วงน้ำในคลองสายหลักมีค่าความเค็มสูงขึ้น ทำให้บางครั้งสำนักงานประปาปากพนังต้องหยุดสูบน้ำจากแม่น้ำปากพนังขึ้นมาผลิตน้ำประปาเป็นครั้งคราว โดยหันไปใช้น้ำในที่เก็บน้ำสำรองของการประปามาใช้แทน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีปัญหาน้ำประปาขาดแคลน


 


ทั้งนี้ ทุกส่วนยอมรับว่า เมื่อเปิดมาได้ระยะหนึ่ง ประกอบกับมีฝนตกหนัก สภาพต่างๆ ของน้ำดีขึ้น แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณน้ำฝน ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 600 กว่ามิลลิเมตร โดยตกจริงเพียง 200 กว่ามิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งจะมีผลต่อการรุกขึ้นมาของน้ำเค็ม 


 


ขณะที่คณะทำงานตรวจและติดตามผลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภาคประชาชน มีความเห็นต่างจากภาคราชการ เพราะเห็นว่า สาเหตุที่น้ำมีความเป็นกรด เนื่องจากการทะลักเข้ามาของน้ำจากพรุควนเคร็ง ไม่ได้มาจากการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ส่วนปัญหาคุณภาพน้ำที่ลดต่ำลง สืบเนื่องมาจากการปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์มานาน 5 ปี น้ำและตะกอนเน่าเสียไม่มีโอกาสได้ระบายลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ เมื่อมีการเปิดประตูระบายน้ำตะกอนเน่าเสียที่สะสมมานานจึงไหลออกสู่ทะเล


 


เป็นที่น่าสังเกตุว่า มีตัวแทนขององค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่ง ที่อยู่เหนือประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ยืนยันว่า หลังจากเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ น้ำในคลองย่อยมีคุณภาพดีขึ้น เพราะตะกอนเน่าเสียที่สะสมอยู่ได้ไหลออกไปหมด ขณะเดียวกัน มีตัวแทนชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังยืนยันว่า หลังจากเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ปรากฏว่าเกิดน้ำเน่าเสียทำให้ปลาตาย


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิแล้วได้มีการเปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉินด้วย ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในนคลองสายหลัก ดังนั้น ควรปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าไปในลำน้ำ โดยนายประเสริฐ คงสงค์ ชาวบ้านจากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ความเค็มที่สูงขึ้นเกิดจากอะไรกันแน่ พร้อมกับเสนอให้ปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อให้น้ำจืดไหลออกทางคลองสายหลัก ผลักน้ำเค็มพร้อมตะกอนที่ตกค้างอยู่ในแม่น้ำมานานออกสู่ทะเล และป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าสู่แม่น้ำปากพนัง


 


นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวว่า เนื่องประตูระบายน้ำเพิ่งเปิดมาได้เพียง 1 เดือน ยังไม่เห็นผลดีหรือผลเสียชัดเจน น่าจะเปิดให้ถึงเดือนมกราคม 2549  ตามข้อตกลงเดิมไปก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้ง


 


นายเลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เสนอให้คณะทำงานตรวจและติดตามผลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกันศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากการเปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิอย่างเป็นระบบ และเป็นวิชาการ ในส่วนของงบประมาณเพื่อการนี้ สามารถขอสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในระดับท้องถิ่นได้ เนื่องบริเวณลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่โครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในระดับท้องถิ่นอยู่แล้ว และควรต้องรีบตั้งคณะทำงานลุ่มน้ำย่อยด้วย


 


นายบุญญวัฒน์ กล่าวปิดประชุมว่า จะนำข้อมูลและข้อเสนอของที่ประชุมทั้งหมด นำเสนอต่อนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากประราชดำริ พิจารณาดำเนินการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net