Skip to main content
sharethis


 



 


ตัวแทนองค์กรชาวบ้านและเครือข่ายชนเผ่าทั่วประเทศ ยื่นหนังสือจี้รัฐบาล ยอมรับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันเอาไว้เมื่อ 29 ม.ค.2547 ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำในมาตรา 10(c) ที่ระบุว่า รัฐต้องปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองสนับสนุนในการใช้ทรัพยากรชีวภาพตามวิธีการปฏิบัติตามวิถีดั้งเดิม


 


เมื่อวันที่ 21-22 พ.ย ที่ผ่านมา ที่ รร.ฮอลิเดย์การ์เด้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการจัดประชุมปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง "ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงในประเทศไทย" โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งตัวแทนองค์กรชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้สนใจทั่วไป รวมกว่า 150 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือในแบบพหุภาคี ในการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง ให้เกิดความสอดคล้องและยั่งยืน


           


เผย ไทย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อบังคับตามอนุสัญญาฯ


นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ รัฐบาลไทย ได้มีการลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(Convention on Biological Diversity : CBD) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2547 และมีผลทำให้เป็นสมาชิกของประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาที่สมบูรณ์ ในเดือน ก.พ.2547 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า รัฐภาคีที่ลงนามในอนุสัญญา ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อบังคับที่ระบุไว้ในข้อบัญญัติต่างๆ ของอนุสัญญา


 


"ดังนั้น กฎหมายและนโยบายที่มีและเกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกที่มี และจะต้องสอดคล้องกับหลักการและบทบัญญัติของอนุสัญญา โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการ เช่น มาตรา 10(c) ที่มีเนื้อหาระบุชัดว่า "รัฐต้องปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครอง สนับสนุนในการใช้ทรัพยากรชีวภาพตามวิธีการปฏิบัติตามวิถีดั้งเดิม" แต่ในทางปฏิบัตินั้น ชุมชนและประชาชนผู้เกี่ยวข้องยังมีการรับรู้และเข้าใจเนื้อหาสาระของอนุสัญญาฉบับนี้น้อยมาก อีกทั้งยังขาดการสร้างความตระหนัก การกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนผลักดันให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง"


 


เวเนซูเอลาก้าวหน้า รับรองสิทธิชนเผ่า


ด้านนายมาริซิโอ เฟอรารี่ ผู้แทนจากองค์กรที่ทำงานกับชนเผ่าในต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการทำการวิจัยศึกษาในหลายประเทศ พบว่า ประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(Convention on Biological Diversity : CBD) มีความคิดก้าวหน้า มีการรับรองสิทธิชนเผ่า ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายที่ขัดแย้งกันอยู่


 


"ฉะนั้น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพจะต้องดำเนินไปด้วยกัน ถ้าความหลากหลายทางวัฒนธรรมถูกคุกคาม ความหลากหลายทางชีวภาพก็ย่อมจะถูกคุกคามไปด้วย" มาริซิโอ เฟอรารี่ กล่าว


 


ตัวแทนชนเผ่ายื่นหนังสือ เปิดเผยข้อมูลอนุสัญญาฯ


หลังจากนั้น ในที่ประชุมได้มีการส่งตัวแทนชนเผ่า เข้ายื่นหนังสือถึงนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยผ่าน นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้แทนรับหนังสือ


 


โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า เนื่องจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่กับชุมชนท้องถิ่นโดยตรง รัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และรัฐจะต้องกำหนดนโยบายและส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างหลักสูตรท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม


                       


ต้องปรับปรุงแก้ไขนโยบาย และ กม.ป่าไม้ 5 ฉบับ ที่ขัดต่ออนุสัญญาฯ


นอกจากนั้น ตัวแทนชนเผ่ายังเสนอให้รัฐ ปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับ รวมไปถึงมติคณะรัฐมนตรี และนโยบายต่างๆ ที่ขัดต่อต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้รัฐปรับเปลี่ยนนโยบายและให้มีกฎหมาย ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและให้ชุมชนได้มีสิทธิในการทำนุบำรุงวัฒนธรรมของตนเองตามสิทธิที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ


 


ย้ำรัฐผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน


โดยเฉพาะกับปัญหาที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน คือ รัฐจะต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายป่าชุมชน ฉบับที่เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศได้ร่างขึ้นและผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะเอื้อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


 


ทั้งนี้ ตัวแทนชนเผ่ายังได้เสนอเรียกร้องให้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทำงาน หรือหากเป็นไปได้ควรตั้งคณะกรรมการอิสระในการติดตาม ดูแลให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งรัฐบาลได้ลงสัตยาบันไว้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547


 


ตัวแทน "ยงยุทธ" รับข้อเสนอตามอนุสัญญาฯ แต่ปัดป่าชุมชน


ในขณะที่ นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วย รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้แทน รมว.ทส.รับหนังสือ ก่อนกล่าวว่า จะนำเรื่องทั้งหมดที่ทางพี่น้องชนเผ่าได้เสนอเรียกร้องทั้งหมด ไม่ว่าในเรื่องของ การเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนอย่างทั่วถึง การปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นให้สอดคล้อง รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเสนอต่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทส. ทันที


 


"ถ้า รมว.ยงยุทธ เห็นชอบ ก็จะดำเนินการต่อไป โดยจะเชิญตัวแทนแต่ละฝ่ายมาคุยกันในทางปฏิบัติกันต่อไป ยกเว้น กรณีเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ตนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ และไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับใครได้" ผู้แทน รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net