Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลา 10..-10.55 นาฬิกา ศาลปกครองกลางได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในกรณีตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านเคหะวิตต์ เขตบึงกุ่ม 11 คน ฟ้องคดีต่อกรุงเทพมหานคร (ที่ 1) เขตบึงกุ่ม (ที่ 2) และนายสุรศักดิ์ สอนเคลือ ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม (ที่ 3) ในกรณีเขตบึงกุ่มนำกำลังเข้ารื้อถอนรั้วที่ชาวบ้านนำมาติดเพื่อซ่อมแซมรั้วหมู่บ้านที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมที่ถูกทำลายลงด้วยฝีมือของบุคคลภายนอก แต่เขตบึงกุ่ม โดยผู้อำนวยการเขตฯ อ้างข้อกฎหมายเข้ารื้อรั้วโดยมิชอบ โดยอ้างว่าชาวบ้านติดรั้วปิดกั้นถนนหมู่บ้านซึ่งถูกยกให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์แล้ว


 


ทั้งนี้ การที่ชาวบ้านซ่อมสร้างรั้วคืนดังกล่าว ทำให้นายทุนเจ้าของตึกให้เช่านอกหมู่บ้านซึ่งมีที่ดินติดหมู่บ้านผ่านเข้ามาใช้ประโยชน์ในถนนหมู่บ้านไม่ได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้อง จึงมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้นายทุน และก่อให้เกิดกรณีพิพาท และในที่สุด เดือนสิงหาคม 2547 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองดังกล่าว

ในการนั่งพิจารณาคดี ชาวหมู่บ้านเคหะวิตต์ต่างเดินทางเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ในขณะที่กรุงเทพมหานคร เพียงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนมานั่งฟังการพิจารณาเท่านั้น และไม่มีร่องรอยของตัวแทนเขตบึงกุ่ม ส่วนเจ้าของอาคารให้เช่า ซึ่งศาลเรียกให้เป็นผู้ร้องสอดได้มานั่งฟังอยู่ด้วย

นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ทนายความจากสภาทนายความ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดี แถลงเพื่อขอความยุติธรรมจากศาล เนื่องจากคดีเคหะวิตต์สามารถถือเป็นคดีตัวอย่าง โดยขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยในประเด็นถนนสาธารณประโยชน์ และการพยายามบิดเบือนเจตนาของกฎหมายเป็นหลัก

"ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ถนนในหมู่บ้านเป็นสาธารณูปโภคที่เป็นเอกสิทธิ์ของชาวหมู่บ้านทั้งมวล การที่เจ้าของโครงการไปยกถนนหมู่บ้านให้เป็นสาธารณะประโยชน์เพื่อเลี่ยงภาระการรับผิดชอบในถนน โดยชาวบ้านไม่รู้ด้วย และต่อมาเมื่อรู้ก็ได้คัดค้านแล้วแต่ไม่เป็นผล และต่อมามีคนภายนอกพยายามบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มีช่องโหว่ ทำให้คนนอกที่อยากมาใช้ถนนหมู่บ้านมาใช้ได้โดยเสรี ขอความกรุณาศาลให้วินิจฉัยไว้ให้เป็นบรรทัดฐาน ว่าหากเป็นที่สาธารณประโยชน์
ใครจะใช้ก็ได้ถูกต้องหรือไม่" นายชัยรัตน์กล่าว

ฝ่ายนางสาวเปรมฤดี ดาวเรืองผู้ฟ้องคดีที่ 1 แถลงหลังจากนั้นในนามชาวหมู่บ้าน พูดถึงความสงบสุขของหมู่บ้านเคหะวิตต์ ซึ่งตั้งมาถึง 30 ปีแล้ว การที่ข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ และนายทุน ร่วมกันรังแกชาวบ้าน โดยใช้วิธีการรุนแรงต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีข้าราชการไทย
และขอความยุติธรรมต่อศาล ซึ่งจะช่วยต่อชีวิตของชุมชนเล็กๆ นี้ไว้ได้

หลังจากฟังคำแถลงของผู้ฟ้องคดี ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงคดีต่อศาล โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า คดีหมู่บ้านเคหะวิตต์ อยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณา และมีมูลเหตุที่จะพิจารณาได้ ทั้งนี้
เนื่องจากหมู่บ้านเคหะวิตต์ เป็นหมู่บ้านที่มีรั้วรอบขอบชิดอยู่แต่เดิม แต่รั้วถูกทำลายลง การที่ชาวหมู่บ้านนำรั้วไปติดไว้คืนตามแนวรั้วเดิม จึงไม่ถือว่านำไปตั้งไว้บนที่สาธารณะ การที่เขตบึงกุ่มอ้างกฎหมายแล้วมาติดประกาศให้ชาวบ้านรื้อถอนรั้ว และภายหลังก็รื้อตัดรั้วเหล็กของชาวบ้านออกไปนั้น จึงเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิ์ของผู้ฟ้องทั้ง 11 และชาวบ้าน และต้องทำการซ่อมรั้วทดแทนให้ชาวบ้านตามที่ร้องขอ

หลังจากคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี องค์คณะผู้พิจารณาคดีทั้ง 3 ประกาศว่า จะแถลงคำพิพากษาตัดสินคดีในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ชาวหมู่บ้านเคหะวิตต์ที่มาฟัง ได้แสดงอาการปลื้มปิติกันโดยถ้วนหน้าในคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี และต่างก็หวังว่า คำตัดสินในวันที่ 30 ที่จะถึงนี้จะเป็นไปในทิศทางดังกล่าว

"เราต่อสู้มาเกือบสองปีในเรื่องรั้วหมู่บ้าน นับเป็นครั้งแรกที่กระบวนการยุติธรรมยอมรับว่าหมู่บ้านเคหะวิตต์มีรั้วอยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเขตบึงกุ่มไม่เคยยอมรับ แม้ชาวบ้านจะพยายามอธิบายอย่างไรก็ตาม เรื่องจึงต้องถึงศาลปกครอง วันนี้พวกเราดีใจมาก และรอคอยคำตัดสิน และหวังว่าคดีหมู่บ้านเคหะ
วิตต์จะเป็นตัวอย่างและเป็นประโยชน์แก่ชุมชนเมืองอื่นๆ ด้วย ในการพยายามต่อสู้เพื่อความสงบสุขของเราเอง" นายพิสิฐ ทิพย์พญาชัย หนึ่งในผู้ฟ้องคดีชาวกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net