Skip to main content
sharethis


ภายใต้ความเงียบ ถึงวันนี้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Growth Triangle : IMT - GT)" ก็ดำเนินการมาถึงปีที่ 12 แล้ว เป็น 12 ปี ที่ความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ มีความคืบหน้ามาตามลำดับ

 


ความคืบหน้าล่าสุด เพิ่งเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกันของ 3 ประเทศ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2548 โดยแยกการประชุมออกเป็น 3 ระดับ


 


สภาธุรกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย -ไทย ซึ่งเป็นภาคเอกชน ประชุมระหว่างวันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน 2548


 


การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งเป็นภาครัฐ ประชุมในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548


การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548


 


หากชายตามองไปยังกลุ่มธุรกิจที่แนบแน่นอยู่กับกลุ่มทุนของคนในรัฐบาล การประชุมใหญ่ IMT -GT ครั้งนี้ นับเป็นการประชุมที่น่าสนใจอีกครั้ง


 


ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลความคืบหน้าการประชุม IMT - GT ครั้งล่าสุด ผ่านบทสัมภาษณ์ 3 คีย์แมน IMT - GT ฝ่ายไทย


 


หนึ่ง สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ เลขานุการสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


สอง อาคม เติมวิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


สาม สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล IMT -GT


……………………………………………


 



 


สุรชัย จิตภักดีบดินทร์


เลขานุการสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


 


 "ที่ประชุมสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย ระหว่างวันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน 2548 มีการหารือกันใน 4 กลุ่มสาขาเทคนิคปฏิบัติการ (ITG) ได้แก่ สาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สาขาการพัฒนาด้านการค้า ณ จุดแรกเริ่ม (Trade in situ) สาขาตลาดเสรี : เขตโทรคมนาคมพิเศษ (Open market)  และสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง (Hinterland)


 


ฝ่ายไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะเสนอเพิ่มพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และกลุ่มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง เข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาล โดยทางสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอต่อรัฐบาล ผ่านที่ประชุมสภาหอการค้าไทย ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเดือนตุลาคม 2548 ไปแล้ว และจะเสนอต่อที่ประชุมสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย อย่างเป็นทางการ ในการประชุมครั้งต่อไป


 


พร้อมกันนี้ ฝ่ายไทยเสนอว่า ได้กำหนดให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกพืชผักและผลไม้ ส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นแหล่งผลิตและส่งออกวัตถุดิบอาหารฮาลาล ขณะที่จังหวัดกระบี่ ที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT ในอนาคต จะเป็นแหล่งพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมัน และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านปาล์มน้ำมันระหว่าง 3 ประเทศ


 


ทางสภาธุรกิจของอินโดนีเซีย ได้เสนอเพิ่มพื้นที่ 2 จังหวัดตอนใต้ของเกาะสุมาตรา เข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT ด้วย ที่ประชุมรับรอง ส่วนการเพิ่มพื้นที่รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT มีการรับรองในคราวประชุมสภาธุกิจ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 - วันที่ 2 ตุลาคม 2548 ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซียไปแล้ว


 


สำหรับการประชุมกลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ สาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สภาธุรกิจฝ่ายไทยแจ้งว่า การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่เปิดเส้นทางการบินหาดใหญ่ - ภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวภาคใต้ของไทย เดินทางระหว่างภูเก็ตกับหาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น ขณะนี้สภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กำลังผลักดันรัฐบาลให้เปิดเส้นทางการบินสายนี้อยู่


 


นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้แจ้งอีกว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะแล้วเสร็จในปี 2551 สามารถรองรับเรือเฟอร์รี่ขนาดใหญ่ รองรับการเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างเมดาน - ปีนัง - สตูลได้


 


ส่วนสาขาการค้าการลงทุน ที่ประชุมตกลงจะจัดงาน IMT - GT เทรดแฟร์ ที่จังหวัดสงขลา ในเดือนเมษายน 2549 ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเน้นสินค้า OTOP IMT - GT


 


นอกจากนี้ยังหารือถึงการตั้ง IMT - GT พลาซ่า ใน 3 ประเทศ โดยฝ่ายไทยจะตั้งในจังหวัดสงขลา ส่วนอินโดนีเซียจะตั้งที่เมืองบาตัม ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ขณะที่มาเลเซียจะตั้งที่เมืองมะละกา และที่ด่านจังโหลน ชายแดนไทย - มาเลเซีย


 


สาขาตลาดเสรี : เขตโทรคมนาคมพิเศษ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการกำหนดค่าโทรศัพท์ราคาเดียว ราคาถูก ในพื้นที่ IMT - GT ผ่านบัตรเติมเงิน หรือคอลลิ่งการ์ด ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียเห็นด้วย ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียยังขอรับไปศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า จะต้องมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีเครือข่ายนักลงทุนรองรับอยู่แล้ว เช่น ไทยมีบริษัท แอดวานส์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือเอไอเอส ส่วนมาเลเซียมีเทเลคอมมาเลเซีย เป็นต้น เพียงแต่ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงร่วมทุนเท่านั้น


 


นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือเรื่องการตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ IMT - GT เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ โดยขอเวลาจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้ว โดยให้แต่ละฝ่ายเจรจากับสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ของประเทศตัวเอง สำหรับฝ่ายไทย จะเจรจาขอเวลาจากช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


 


สาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง ฝ่ายไทยเสนอว่า ในส่วนของการพัฒนาอาหารฮาลาล ให้แต่ละประเทศ ซึ่งมีมาตรฐานรับรองอาหารฮาลาลอยู่แล้ว รับรองอาหารฮาลาลของอีก 2 ประเทศด้วย เพื่อให้การส่งออกอาหารฮาลาล จากพื้นที่ IMT - GT ไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมได้รับความเชื่อถือ และมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียเห็นด้วย ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียยังแบ่งรับแบ่งสู้ รับไปพิจารณาดูก่อน


 


ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยได้เสนองานวิจัยเรื่องการมาตรฐานการตรวจสอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับคณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหนังสือรับรองมาตรฐานการตรวจสอบอาหารฮาลาลในห้องปฏิบัติการของ 3 มหาวิทยาลัย จากทั้ง 3 ประเทศ ที่ได้ลงนามรับรองร่วมกัน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ที่ประชุมใช้ประกอบการพิจารณา และสร้างความมั่นใจให้กับ 2 ประเทศ ในมาตรฐานอาหารฮาลาลของไทยด้วย


 


นอกจากนี้ ทางสภาธุรกิจอินโดนีเซีย ได้เรียกร้องให้นักลุงทุนเข้ามาร่วมฟื้นฟูจังหวัดอาเจะห์ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคลื่นสึนามิด้วย ขณะที่ฝ่ายได้เสนอให้สหพันธ์ธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้างแห่งประเทศไทย (Federation of Design and Construction Services of Thailand : FEDCON) เข้าร่วมฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในอินโดนีเซียด้วย โดยฝ่ายมาเลเซียได้เสนอให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเครื่องมือในการฟื้นฟู


 


ขณะนี้ บริษัท ศรีตรัง อโกรอินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจยางพาราในจังหวัดสงขลา ได้เข้าไปร่วมลงทุนด้านการประมงและแปรรูปอาหารประมง ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียแล้ว โดยติดต่อผ่านสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย"


 


หมายเหตุ : - ผลการประชุมสภาธุรกิจ 3 ฝ่ายข้างต้น ได้นำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 14พฤศจิกายน 2548 และเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ตามลำดับ


 


 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ในการประชุม IMT - GT ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย ทางกลุ่มชินวัตรได้ลงนามใน MOU กับ P.T Medanmas Andalas อินโดนีเซีย และ Medanmas Sdn Bhd มาเลเซีย ร่วมลงทุนก่อสร้าง บำรุงรักษา และดำเนินการสถานีโทรทัศน์เอกชนในพื้นที่ IMT - GT โดยใช้เกาะลังกาวีเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติใบอนุญาตออกอากาศ และกำหนดเริ่มดำเนินการกลางปี 2544


 


……………………………………………


นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ


รองเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


 


"ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส คราวนี้ มีการหารือกันใน 6 สาขาความร่วมมือ หรือ 6 กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการ


 


หนึ่ง สาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ประชุมเน้นเรื่องโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่าง 3 ประเทศ คือ เมดาน - ปีนัง - สตูล และ กันตัง โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551 ขณะนี้รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณการก่อสร้างให้แล้ว


 


นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นให้เอกชนเปิดสายการบินระหว่าง 3 ประเทศ ทั้งที่เป็นสายการบินที่มีอยู่แล้ว และสายการบินที่เคยมีในอดีตให้กลับมาบินอีก เช่น เส้นทางบินระหว่างภูเก็ต - หาดใหญ่ โดยอาจจะเน้นสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งในทางปฏิบัติ จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่อไป


 


สอง สาขาการพัฒนาสหสาขา : การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดแรงงานให้เป็นระบบมากขึ้น เช่น ของไทยจะกุ๊กที่มีฝีมือ หรือแรงงานด้านธุรกิจสปา ซึ่งหากนักลงทุนต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานเหล่านี้ สามารถมาค้นหาได้ทันที แรงงานเหล่านี้ได้รับการรับรองความสามารถอยู่แล้ว


 


สาม สาขาการพัฒนารายสาขา : การท่องเที่ยว ทั้ง 3 ประเทศตกลงจะทำแผนการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยเริ่มจากไทยกับมาเลซียก่อน เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ มีกรอบความร่วมมืออยู่แล้ว


 


นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ภาคเอกชน ตั้งสมาคมการท่องเที่ยวในพื้นที่ความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศด้วย


 


สี่ สาขาการพัฒนาการค้าและการพัฒนา ณ จุดแรกเริ่ม ได้นำเรื่อง bussiness mathching ระหว่างนักธุรกิจของไทยกับอีก 2 ประเทศ ในด้านการค้า เสนอในระดับนโยบายให้กำหนดทำการค้าแบบหักบัญชี โดยมีธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (Exim bank) รองรับ


 


ห้า สาขาตลาดเสรี : เขตโทรคมนาคมพิเศษ เน้น 3 เรื่องด้วยกัน คือ การจัดทำเว็บไวด์เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในพื้นที่ IMT - GT ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับเป็นเจ้าภาพจัดทำเว็บไซด์นี้


 


เรื่องต่อมา คือ การตั้งสมาร์ทสคูล หรือโรงเรียนอัจฉริยะในระบบอิเล็คทรอนิค โดยเลือกโรงเรียนในพื้นที่เป็นโรงเรียนนำร่อง และเรื่องการกำหนดค่าโทรศัพท์ราคาเดียวกันในพื้นที่ IMT - GT ซึ่งทางคณะทำงานของสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย จะหารือกันอีกครั้ง โดยมีหลักการ คือ จะเปิดเสรีให้นักลงทุนสามารถลงทุนข้ามประเทศได้ ซึ่งของไทยมีผู้ลงทุนหลักอยู่ 2 ส่วน คือ ภาครัฐ ได้แก่ บริษัท กสท. จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชน ที่มีขีดความสามารถจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งทางคณะทำงานของสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้กำลังหารือกันอยู่


 


หก สาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง ได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการรับรองอาหารฮาลาล ในรูปเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาล เนื่องจากแต่ละประเทศ มีมาตรฐานการรับรองอาหารฮาลาลของตัวเองอยู่แล้ว แต่ในส่วนของไทยจะเพิ่มมาตรฐานอาหารระดับสากลด้วย


 


ในด้านปศุสัตว์ ทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมมือกันเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไขหวัดนก ซึ่งไทยมีประสบการณ์ในแก้ปัญหาไขหวัดนก ก็จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลข่าวสาร


 


ในพื้นที่ IMT - GT ทุกแห่ง นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้อยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้นักลงทุนจากนอกภูมิภาคเข้ามาลงทุนได้ ถ้าดูพื้นที่ทั้งหมดแล้ว จะพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก


 


ยิ่งถ้าร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผ่านออกมาบังคับใช้ได้ในอนาคต พื้นที่ที่มีการค้าการลงทุนอยู่แล้ว เช่น พื้นที่การค้าชายแดน ก็อาจจะกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เลย เช่นพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นต้น


 


ถ้ากำหนดจุดใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะสามารถพัฒนาการค้าการลงทุนในพื้นที่นั้นได้สะดวก เพราะจะมีสิทธิพิเศษต่างๆ มาก เช่น กรรมสิทธิในการถือครองที่ดิน เป็นต้น"


…………………………………………


 


สุวัจน์ ลิปตพัลลภ


รองนายกรัฐมนตรี


 


"แผนงาน IMT - GT เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมเสนอโครงการความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า การลงทุนและการบริการ โดยมีภาครัฐสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกกับการร่วมมือของภาคเอกชน


 


ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 ได้รับทราบข้อเสนอของสภาธุรกิจร่วมภาคเอกชนของ IMT - GT และความก้าวหน้าของคณะทำงาน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการค้าและการพัฒนาจากจุดแรกเริ่ม ด้านการพัฒนาโทรคมนาคม ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการพัฒนาพื้นที่นอกเขตเมืองและการค้าระหว่างพื้นที่ ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สำคัญ ดังนี้


 


ด้านการขนส่งทางทะเล มีการเตรียมเปิดการเดินเรือ Ferry Ro - Ro ระหว่างท่าเรือเบลาวัน - ปีนัง - สตูล/กันตัง จังหวัดตรัง และการขนส่งคอนเทนเนอร์ระหว่างกันตังกับปีนังทุกสัปดาห์ สำหรับท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จราวปี 2551 จะเป็นท่าเรือที่มีความสัมพันธ์แบบ sister port กับมาเลเซีย รวมทั้งจะผลักดันจังหวัดตรัง สู่ความร่วมมือทางธุรกิจการเดินเรือ และการท่องเที่ยวต่อไป


 


การขนส่งทางอากาศ มาเลเซียจะลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าธรรมเนียมอากาศยาน จากสายการบินของประเทศสมาชิกเป็นเวลา 2 ปี ตามที่ไทยและอินโดนีเซียได้ลดลงแล้ว


 


ด้านการค้า มีโครงการภาคเอกชนที่จะจัดตั้งให้มี IMT - GT Plaza ในแต่ละประเทศเป็นศูนย์แสดง และสั่งซื้อสินค้าที่ผลิตในพื้นที่ IMT - GT โดยของประเทศมาเลเซียจะจัดตั้งที่เมืองบูกิตกายูฮิตัม


 


สำหรับประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าทีมการส่งเสริมความตกลงชำระเงินแบบทวิภาคี (bilateral payment agreement) หรือการค้าหักบัญชี (Account Trade) จะเร่งผลักดันให้ประเทศสมาชิกเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ประสานงานด้านนี้กับ EXIM Bank ของไทย เพื่อให้มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น


 


นอกจากนั้น ตามที่ประเทศไทยได้จัดให้มีการจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ด้วยการนำนักธุรกิจไทยเดินทางไปมาเลเซียและอินโดนีเซียมาแล้ว ไทยยังต้องการให้โครงกานี้ดำเนินการต่อ จึงอยากให้ประเทศสมาชิกจัดโครงการดังกล่าวด้วย


 


ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยและมาเลเซียตกลงจะมีการศึกษา และจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยเชิญอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย


 


ด้านโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดตั้งเว็บไซด์ www.imt-gt.org เพื่อเป็นแหล่งรวมข้อมูลต่างๆ ของโครงการ IMT - GT ส่วนการส่งเสริมโครงการโรงเรียนพันธมิตร เพื่อใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการเรียนการสอน ตรงกับแนวทางของโครงการโรงเรียนในฝันของประเทศไทยอยู่แล้ว จึงเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเร่งคัดเลือกโรงเรียนตัวอย่างเข้าร่วมโครงการด้วย


 


ขณะนี้อาหารฮาลาลเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เพราะมีศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานผลักดันเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพ ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างมีความสนใจเป็นอย่างมาก และเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล เพื่อตรวจสอบและรับรองอาหารฮาลาล โดยมีหน่วยประสานงาน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Institute Pertanian Bogor (อินโดนีเซีย) และ Universiti Putra Malaysia (มาเลเซีย) ความก้าวหน้าดังกล่าว จะช่วยขยายตลาดอาหารฮาลาลของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะของประเทศไทยไปในตลาดโลก ซึ่งมีโอกาสอยู่อีกมาก


 


ไทยยังเสนอโครงการร่วมมืออีกหลายหลายโครงการ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์สอนภาษามาเลย์ โครงการความร่วมมือพัฒนาวิชาชีพด้านการเลี้ยงแพะเพื่อส่งออกในพื้นที่ IMT - GT การส่งเสริมการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นต้น


 


พร้อมกันนี้ ประเทศไทยเสนอให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครอบคลุมถึงเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์สามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net