เวที "เอเปค" ส่อเค้าเจรจาโดฮาไม่จบง่าย อียูเร่งสรุปลดอุดหนุนเกษตร

แม้การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ได้ปิดม่านจบลงไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่คำยืนยันถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีของประเทศสมาชิกเอเปคจากการประชุมครั้งนี้กำลังจะเริ่มขึ้น


 

เรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายแม้แต่ประเทศนอกกลุ่มเอเปก ให้ความสนใจ ย่อมหนีไม่พ้นทิศทางการผลักดันของประเทศสมาชิกในกลุ่มต่างๆ ต่อความคืบหน้าในการประชุมระดับรัฐมนตรี ในการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้งในวันที่ 13-18 ธ.ค. 2548 นี้

 

ถ้อยคำที่ถูกระบุลงไปใน 'ปฏิญญาปูซาน' หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปก ณ เมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของเกาหลีใต้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเป็นไปหลายด้านในความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ใช่เฉพาะแต่ความร่วมมือในเขตเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ผลจากความร่วมมือที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ ยังมีวัตถุประสงค์หนึ่งนอกจากการต่อสู้กับไข้หวัดนก การต่อต้านการก่อการร้าย คือ การร่วมกันผลักดันให้บรรลุผลการเจรจาการค้ารอบโดฮา ที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2544

 

ในปฏิญญาปูซานซึ่งผู้นำทั้ง 21 ประเทศสมาชิกเอเปกลงนามรับรองแล้ว ได้ระบุถึงความสำคัญของการเจรจา WTO ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้าที่ฮ่องกงว่า "ถึงเวลาแล้วที่ความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุผลของการเจรจารอบโดฮาต้องถึงบทสรุปภายในสิ้นปี 2549"

 

เนื่องจากการรอบโดฮานั้นมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มเอเปก ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีตัวแทนในเวทีการค้าโลกกว่า 50% และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาในระดับนานาชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนจีดีพีกว่า 60% ของโลก

 

แน่นอนว่า ผลที่เกิดขึ้นหลังการเจรจารอบโดฮาเสร็จสิ้น ย่อมสะท้อนมาจากความต้องการของประเทศพัฒนาแล้วและต้องมีประเทศกำลังพัฒนาร่วมอยู่ในหลักการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเจรจาด้วย

 

อย่างไรก็ตามการประชุมเอเปกที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ถูกมองด้วยสายตาดูแคลนในหลายประเด็นทั้งจากนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนหลายสำนัก เช่นหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ยังแสดงความเห็นกับผลการประชุมเอเปกว่า "ผู้นำทั้ง 21 ประเทศรังสรรค์ถ้อยคำในแถลงการณ์ที่คลุมเครือ และเบากว่าสิ่งที่สหรัฐ ออสเตรเลีย และแคนาดาต้องการเสียด้วยซ้ำ"

 

บทวิเคราะห์นี้อ้างถึงข่าวที่ระบุว่า สหรัฐ ออสเตรเลียและแคนาดา ต้องการให้มีถ้อยคำที่ระบุถึงอียูอย่างชัดเจนลงไปในแถลงการณ์ของที่ประชุมระดับผู้นำเอเปกว่า อียูคืออุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้า อันจะนำไปสู่การบรรลุผลการเจรจาการค้าทวิภาคีรอบโดฮา เนื่องจากอียูปฏิเสธการตัดกำแพงภาษีและการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรกรรมมาตลอด

 

แต่ข้อเรียกร้องของทั้ง 3 ประเทศ กลับถูกคัดค้านจากผู้นำอีก 18 ประเทศสมาชิกเอเปกในระดับทางการ ขณะที่นอกห้องประชุมประธานาธิบดีวิเซนเต ฟอกซ์ แห่งเม็กซิโก ยังให้ความเห็นถึงอียูกับผู้สื่อข่าวว่า "ตอนนี้ถึงเวลาที่ยุโรปต้องทบทวนตัวเองและถอนตัวได้แล้ว" และไม่รีรอที่จะพุ่งเป้าไปที่สเปนและฝรั่งเศส ในฐานะประเทศที่มีฐานเสียงทางการเมืองพึงพิงอยู่กับภาคการเกษตร

 

ทั้งนี้ ความคิดของประธานาธิบดีวิเซนเตยังสอดคล้องกับความเห็นของนายบัน คี-มูน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ที่ระบุว่า "เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ในเกมที่ดำเนินมาถึงจังหวะที่ลูกบอลอยู่ในเขตแดนของยุโรป"

 

ดังนั้น ระยะเวลาอีก 2-3 สัปดาห์ก่อนการเจรจารอบโดฮาครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ สหภาพยูโรปย่อมตกเป็นเป้านิ่งของการกดดันจากหลายประเทศ ในฐานะผู้แข็งข้อเพื่อยืนยันรักษาตลาดและผลประโยชน์ด้านการค้าการเกษตรภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการค้าเสรีเดินทางมาเคาะประตูบ้าน หลายประเทศย่อมต้องเปิดประตูต้อนรับแม้จะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม แม้แต่อียูก็มิอาจจะอยู่นิ่งและวางเฉยต่อไปได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 21-22 พ.ย. กรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงจัดการหารือ 2 นัดสำคัญ

 

นัดแรกเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 โดยรัฐมนตรีการค้าของอียูจัดการประชุมร่วมกับตัวแทนสมาชิก 25 ประเทศถึงความจำเป็นที่จะต้องตัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าด้านเกษตรกรรมในกลุ่มสมาชิกอียู ออกไปอีกหลายข้อ ทั้งที่ก่อนหน้านี้อียูได้ลดอุปสรรคทางการค้าในสินค้าประเภทนี้ไปแล้ว 46% แต่ยังไม่เพียงพอและยังห่างไกลจากข้อตกลงในกรอบการค้า WTO

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีแข็งขืนของฝรั่งเศสในเรื่องการลดอุปสรรคทางการค้าและการลดการอุดหนุนการเกษตร ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ลดละ

 

รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพีในบรัสเซลส์ระบุถึง วิวาทะระหว่างนาย ฟิลิปเป ดูสต์-บลาซี  รมต.ต่างประเทศฝรั่งเศสกับนายปีเตอร์ แมนเดลสัน หัวหน้าการค้าอียู โดยยกคำโต้แย้งของรมต.ต่างประเทศฝรั่งเศสที่บอกว่า นายแมนเดลสันใช้วิธีเผด็จการเพื่อให้รมต.จากประเทศสมาชิกอียูออกเสียงเห็นด้วยกับการลดอุปสรรคทางการค้าการเกษตร ขณะที่นายแมนเดลสันกล่าวว่า การตกลงขั้นสุดท้ายไม่มีทางเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้แล้ว เพราะมันล้มเหลวไปตั้งแต่การเจรจาที่ลอนดอนและเจนีวา เมื่อต้นเดือนพ.ย.แล้ว

 

ส่วนการประชุมของอียูอีกนัด เริ่มต้นในวันอังคารที่ 22 เป็นการประชุมเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาล ซึ่งอียูถูกเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าจากสมาชิก WTO มาตลอด โดยอียูมีแผนจะตัดการรับประกันราคาน้ำตาลไม่ให้เกิน 39% ไปตลอด 2 ปีนับตั้งแต่ปี 2550 และยินดีจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ผลิตน้ำตาลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายน้ำตาลของอียูกลับส่งผลกระทบกับผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำตาลในกลุ่มประเทศ ACP (African,Caribbean and Pacific States) ซึ่งสมาชิก ACP ระบุว่า พวกเขาจะสูญเสียรายได้จากนโยบายดังกล่าวถึง 480 ล้านเหรียญ แม้อียูจะเสนอเงินช่วยเหลือให้อีก 40 ล้านยูโร แต่เม็ดเงินจากกองทุนนี้กลับตกไปที่การกอบกู้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำตาลของกลุ่มมากกว่าจะชดเชยความสูญเสียแก่ผู้ผลิต

 

ดังนั้น ก่อนการเจรจารอบโดฮาอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นขึ้น ระยะทางสู่ความสำเร็จของการบรรลุข้อตกลงรอบนี้ ยังคงอยู่บนเส้นด้ายที่มีแต่ความไม่ชัดเจน และแกว่งไกวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการตกลงกันไม่ได้ในหลายระดับและหลายประเด็น พร้อมกับคำถามก้อนโตในประเด็นการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับการสร้างความร่วมมือในทางการค้าโลก ยังเป็นสิ่งที่ทั้งที่ประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาต้องตอบคำถามให้ได้ ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่ห้องเจรจา

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท