ส่ง ส.ส.ถางพื้นที่เหมืองโปแตช อุดรฯ ก่อน ครม.สัญจร


รายงานโดย ลำดวล เลานา

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 48 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาผู้แทนราษฎร (ฝ่ายที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาภูมิภาค) ได้เดินทางเข้าพบกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อเวลาประมาณ ประมาณ 08.30 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการ กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม โดยมีราษฎรกลุ่มอนุรักษ์ฯ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพบปะมากกว่า 500 คน

 

นายวุฒิชัย สนิทวงศ์ชัย สส.พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาผู้แทนราษฎร (ฝ่ายที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาภูมิภาค) เปิดเผยในที่ประชุมติดตามสถานการณ์ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ว่า สืบเนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอดรธานี ราษฎรในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ไว้เมื่อคราวมาเป็นประธานสวดพระอภิธรรมศพนายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย ณ วัดโพธิสมภร เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2548 ที่ผ่านมานั้น โดยมีข้อเรียกร้องอยู่ 4 ประเด็นได้แก่

 

1.ขอให้ตรวจสอบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของโครงการเหมืองแร่โปแตช

 

2.ขอให้ตรวจสอบที่ดินที่ตั้งโรงงานแยกแร่และโรงแต่งแร่ว่าเป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่

 

3. ขอให้ตรวจสอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการไม่ถูกขั้นตอน ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ข้อมูลเก่า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมีสาระการจำกัดขอบเขตของผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการแต่เพียงประชาชนในเขตเหมือง ซึ่งไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจริง

 

4.ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ที่วางแผน ข่มขู่คุกคามแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และสร้างความขัดแย้งให้กับประชาชน

 

นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า ทาง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ได้มีการตั้งคณะศึกษาข้อเท็จจริงของโครงการนี้ตามข้อเรียกร้องของราษฎรกลุ่มอนุรักษ์ ฯ ตนพร้อมด้วย ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ส.ส.ในภาคอีสาน รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ลงมาติดตามรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ

 

นายเดชา คำเบ้าเมือง ราษฎรบ้านสาดนามูล ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรใต้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อ 26 ธ.ค.2543 ตามกฎหมายแร่ปี 2510 ที่ไม่มีสาระควบคุมเรื่องการทำเหมืองใต้ดิน ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีสาระเรื่องการทำเหมืองแร่ใต้ดินบังคับใช้ เมื่อ 1 ม.ค.2546 กรณีที่บริษัทเอพีพีซี ได้ยื่นขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2546 ตามเงื่อนไข พรบ.แร่ใหม่ และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นขึ้นรูปแผนที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่อีไอเอได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้วและบริษัทก็ยืนยันจะใช้รายงานอีไอเอฉบับเดิมนั้น ซึ่งชาวบ้านยอมรับไม่ได้เพราะมีข้อบกพร่องมาก และทำภายใต้เงื่อนไขเก่า

 

เรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานแต่งแร่ที่บริษัทอ้างว่าเป็นที่ในกรรมสิทธิ์ตนนั้น จากการเดินสำรวจและการสอบถามชาวบ้านรอบพื้นที่นั้นยืนยันว่าอยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และยังได้พบหลักฐานว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2487 ประเภทที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองดินแดง หรือบึงนาตาลซึ่งมีพื้นที่ 35,530 ไร่ ทั้งนี้จากการเดินสำรวจพบว่า ครอบคลุมพื้นที่ตั้งโรงงานแต่งแร่ดังกล่าวด้วย ทางกลุ่มอนุรักษ์จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความจริงข้อนี้โดยให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าไปเป็นกรรมการ เพื่อผลแห่งการรักษาไว้ซึ่งที่ดินสาธารณะซึ่งสมบัติของชาติ นายเดชา กล่าว

 

พ.ต.อ.วิฑูรย์ แสนพงษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ได้แถลงในที่ประชุมต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์เรื่องการข่มขู่แกนนำว่า หลังจากที่ได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจภูธรภาค 4 เรื่องการข่มขู่คุกคามแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีทางสำหนักงานตำรวจภูธรภาค 4 ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้สรุปทำสำนวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ในพื้นที่ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วและมิได้นิ่งนอนใจในการปฏิบัติหน้าที่ติดตามดูแลในพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดี และรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างดีที่สุด

 

ด้านนายประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า การมาของคณะ ส.ส.ในวันนี้ก็มีแง่ดี แต่ตนเห็นว่ามันเป็นการสร้างภาพทางการเมือง ว่ามีการจัดการปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชได้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการจัด ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและสร้างภาพทางการเมืองที่ดีให้ฝ่ายรัฐบาล

 

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีมานานกว่า 4 ปี และทั้ง 4 ข้อเรียกร้องของกลุ่มนั้นเรียกร้องมาโดยตลอด มีนักวิชาการ ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิก อีไอเอ เนื่องจากทำผิดขั้นตอนและผ่านความเห็นชอบก่อนที่จะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำเหมืองใต้ดินในประเทศไทย รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาพิจารณารายงานนี้และระบุว่ามีข้อบกพร่องที่ยอมรับไม่ได้ 26 ข้อต้องทำใหม่ รวมทั้งสัญญาที่บริษัทละเมิดสัญญาถือหุ้น 75% เกินครึ่งจึงเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญา

 

นายประจวบกล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเสนอของชาวบ้านต่อผู้ทรงคุณวุฒิสภาผู้แทนฯ คือข้อเดิมที่เรียกร้องมานานคือ ข้อหนึ่งขอให้ยกเลิกสัญญาเก่านี้แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ข้อสอง คือขอให้ยกเลิก อีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบ ของ คชก.ไป เมื่อ 26 ธ.ค.2543 นั้นเสียแล้วเริ่มต้นขบวนการจัดทำใหม่ เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนเพื่อให้เกิดการยอมรับโครงการ ถ้ามันดีต่อประเทศชาติและประชาชนจริงต้องได้รับการยอมรับ ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งและการไม่ยอมรับโครงการก็จะดำรงอยู่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าผลักดันโครงการโดยที่ใช้อีไอเอฉบับเก่า และสัญญาฉบับเดิมอยู่

 

นายวุฒิชัย สนิทวงศ์ชัย ประธานกรรมการฯ ได้ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวว่าภายหลังรับฟังคำชี้แจง และตัวแทนชาวบ้านพาคณะลงดูพื้นที่โรงงานแต่งแร่ของโครงการฯ ที่อยู่บริเวณหนองนาตาล ว่าหากพิจารณาโครงการนี้ต้องยึดหลักกฎหมายไทยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และที่สำคัญต้องยึดขั้นตอนตามกฎหมายแร่ฉบับปี 2545 เป็นหลักการดำเนินการที่ผ่านมาถ้าผิดจากกฎหมายฉบับปัจจุบันก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง และต่อเรื่องการให้ความเห็นชอบต่อ อีไอเอ โครงการนี้ไปแล้วในขณะที่ยังไม่มีการขึ้นรูปแผนที่ หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายแร่ปัจจุบัน บริษัทจะต้องจัดทำรายงานอีไอเอใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย ไม่ว่าสัญญาหรืออะไรก็ไม่มีอำนาจเหนือกว่ากฎหมาย นายวุฒิชัยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท