Skip to main content
sharethis



 



 


บริเวณที่วงไว้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนชาวประมง 20 ครอบครัว ปัจจุบันถูกน้ำพัดพาไปทั้งบ้านและที่ดิน


 


 



ครอบครัวชาวประมงที่สูญเสียบ้านไปกับกระแสน้ำ


 


 


 



ถนนในหมู่บ้านซึ่งถูกตัดขาด


 


 


 



รอยสีน้ำตาลเป็นคราบน้ำที่ยังทิ้งร่องรอยให้สังเกตเห็นได้หลังจากน้ำลด


  


นักศึกษาและอดีตนักศึกษา 4 คน ได้รับข้อมูลว่า "บ้านกรูด" น้ำท่วมหนัก จากนั้น พวกเขาชวนกันลงไปในพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์และดูว่าจะช่วยอะไรชาวบ้านได้บ้าง เพราะพวกเขาเคยพบปะพูดคุยกับแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และเคยออกค่ายศึกษาเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้ามาหินกรูดมาก่อน ฟ้ารุ่ง ศรีขาว หนึ่งใน 4 คนนั้น บันทึกสิ่งที่พบในการลงพื้นที่ มากกว่าภัยธรรมชาติ....ภัยจากมนุษย์ด้วยกันเองก็ยังคงเป็นที่สุดแห่ง "ภัย" เสมอมา ไม่ว่าในนามของการ "พัฒนา" หรือ "ฟื้นฟู" ก็ตาม


.....................................................................................................................


 


วันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2548 เราและเพื่อนอีก 3 คน ได้ไปที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่บ้านกรูด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 กว่าปี


 


ตอนนี้น้ำลดลงแล้ว แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เสียทีเดียว เพราะต้องระวังภัยทั้ง 2 ทาง คือ ภัยจากน้ำที่อาจจะถูกปล่อยจากเขื่อนให้ท่วมหมู่บ้านบวกกับน้ำทะเลหนุน และภัยอีกทางที่เราควรจับตามองคือ ภัยจากคนของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น


 


พี่หน่อย (จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด) และลุงจิต เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ว่า เช้าวันนั้นน้ำขึ้นสูงมาก ชาวบ้านรีบขนย้ายข้าวของอย่างอลหม่าน ไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ อย่างที่ควรจะเป็น ชาวบ้านบางคนเสียชีวิตหลังจากลงไปต้อนวัวและหนีน้ำไม่ทัน บางคนจมน้ำไปต่อหน้าต่อตาลูก-เมีย เพราะน้ำเชี่ยวรุนแรงมาก ความรุนแรงเหล่านี้ ไม่ได้ถูกรายงานเป็นความเสียหายโดยเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค


 


พี่หน่อย เล่าถึงตอนที่ทางการมาประสานความช่วยเหลือว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ รายงานความเสียหายแก่นายอำเภอว่า คนในกลุ่มเดือดร้อนกว่า 200 คน ปรากฏว่า ได้รับความช่วยเหลือจากอำเภอเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปมา 50 ชุดและจากเทศบาล อีก 3 ชุด นอกจากนั้น การมาช่วยเหลือก็เป็นผักชีโรยหน้าจะเห็นได้จากการที่คนในหน่วยงานของสภากาชาดซึ่งมาร่วมกับทางอำเภอ ต้องการให้ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ มารับมอบของบริจาคเพื่อจะได้ถ่ายรูป แต่ชาวบ้านปฎิเสธพิธีการดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า "รู้สึกทุเรศ"


 


ลุงจิตเล่าต่อว่า หลังจากน้ำท่วมแล้วก็ไม่เหลืออะไรและกินอะไรไม่ลง แต่ตื้นตันใจจนน้ำตาไหลเมื่อเห็นพี่กระรอกและชาวบ้านจากบ่อนอกหุงข้าวและทำกับข้าวมาหม้อเบ้อเร่อหลายๆ หม้อ ขนใส่รถคันใหญ่มาช่วยชาวบ้านที่บ้านกรูด และของใช้ส่วนใหญ่ที่ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนในยามฉุกเฉินก็ได้มาจากพันธมิตร ที่ร่วมต่อสู้กันมา


 


หลายๆ กรณีในสถานการณ์แบบนี้ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าทางการในพื้นที่มีอคติและเลือกปฏิบัติต่อคนที่เคยคัดค้านโครงการของรัฐ ป้าข้างบ้านพี่หน่อย (ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นในการคัดค้านโรงไฟฟ้า) ถูกเศษโอ่งบาดเท้าตั้งแต่วันแรกที่น้ำมาในวันที่ 19 ต้องลุยน้ำขนข้าวของและทำกับข้าวที่เต้นท์บริการอาหารส่วนกลางตลอดวัน ไม่ได้รักษาแผลจนแผลอักเสบ แต่ได้รับยาจากรถยาของทางการเอาเมื่อวันที่ 27 ในขณะที่ชาวบ้านอีกบริเวณหนึ่งได้มานั่งพูดคุย (ขณะมาขอรับของบริจาค ที่เต้นท์บริการอาหารและเสื้อผ้าด้านหน้าที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด) เขาพูดคุยและถามว่า " เห็นรถยาวิ่งมาตั้งแต่วันแรก เขาไม่ได้วิ่งมาแถวนี้เหรอ?"


 


บ้านหลังใหม่ไม่พึ่งพารัฐ แต่ถูกรัฐคุกคาม


26 พฤศจิกายน 2548 พี่จัน เป็นคนหนึ่งที่ได้รับความเสียหายบ้านถูกซัดไปทั้งหลัง กำลังงัดแงะไม้จากบ้านหลังเดิมเพื่อสร้างบ้านเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากเพื่อนบ้าน มาช่วยกันสร้างบ้านเล็กหลังใหม่


 


27 พฤศจิกายน 2548 ขณะที่บ้านหลังเล็กกำลังเป็นโครงมีการมุงหลังคาและเตรียมไม้ตอกฝาบ้านอยู่นั้น คนของเทศบาลผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าและมีสายสัมพันธ์กับนายทุนในพื้นที่ ก็มาสั่งห้ามไม่ให้ทำบ้าน ด้วยเหตุผลว่าจะขุดลอกคลอง และสั่งให้พี่จันและครอบครัวไปอยู่บ้านน็อคดาวน์แทน ทั้งที่ตำแหน่งของบ้านพี่จัน ไม่ได้ลุกล้ำคลองสาธารณะ


 


การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกขององค์กรท้องถิ่น กลับกลายเป็นยินดีให้บริการ แต่นายทุนที่พยายามใช้เงินมาตระเตรียมทำธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจรีสอร์ทที่กำลังจะเกิดอันใกล้ การถมที่ดิน จนบ้านชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในที่ต่ำ ถูกน้ำขังและท่วมได้ง่าย กระทั่งการถมดินเตรียมพื้นที่ธุรกิจของนายทุนบริเวณริมคลองจนทำให้โค้งน้ำเปลี่ยนแปลงไป เทศบาลก็ไม่ได้เอาเรื่องแต่อย่างใด


 


การที่ทางเทศบาลบ้านกรูดยื่นข้อเสนอให้ผู้เสียหายจากน้ำท่วม ไปอยู่บ้านน็อคดาวน์เป็นการชั่วคราวนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุผล เพราะชาวบ้านจำนวนหนึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินเร่งด่วน แต่การขัดขวางคนที่มีเจตจำนงจะสร้างที่อยู่สร้างเนื้อสร้างตัว โดยไม่พึ่งพารัฐ แล้วผลักให้อยู่อย่างอนาถาโดยไม่จำเป็น ดูจะเป็นสิ่งผิดปกติเกินไป


 


ข้อสันนิษฐานอย่างกว้างๆ อันหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เทศบาลและนายทุนในพื้นที่ต้องการจะหาประโยชน์อะไร จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมาหมาดๆ หรือไม่? การผลักคนให้ไปอยู่รวมกันในบริเวณที่เรียกว่าบ้านน็อคดาวน์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นลักษณะของความเป็นอยู่อย่างลงหลักปักฐานอย่างเอกเทศ แล้วพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มานานและควรจะได้อยู่ต่อไปจะถูกใช้ทำอะไร? การฉวยโอกาสบนความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น


 


เย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548 ชาวบ้านได้มารวมตัวประชุมกันนับร้อยคน ที่หน้าที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เพราะกรณีเทศบาลสั่งห้ามพี่จันและเพื่อนบ้านไม่ให้สร้างบ้านอยู่ด้วยตัวเอง เป็นเหมือนการเปิดฉากให้คนที่บ้านกรูดต้องลุกขึ้นสู้อีก แม้ว่าบ้านเรือนข้าวของที่เสียหายไปกับน้ำท่วมยังไม่ทันได้ซ่อมแซมจัดหาให้ลงตัวเรียบร้อย แต่ดูเหมือนผลประโยชน์ของกลุ่มชุมชนนั้นไม่สามารถแยกออกได้จากผลประโยชน์ส่วนตัว การเริ่มก้าวเข้ามาบังคับเอาประโยชน์จากคนคนหนึ่งในชุมชน เป็นสัญญาณของการก้าวเข้ามาเอารัดเอาเปรียบคนทั้งหมดในอนาคต


 


เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่เพิ่งไปบ้านกรูด พูดกับเราว่า "ไม่คิดว่า เทศบาลมาห้ามพี่จันคนเดียว แล้วจะทำให้ชาวบ้านมาประชุมกันนับร้อยๆ แทบทั้งหมู่บ้านแบบนี้"


 


แน่นอน--- การต่อสู้ของคนที่บ้านกรูดยังไม่จบ!


-------------------------------------------------------------------------------------------


 


           


 


         


 


 



 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net