Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาไทติดตามรายงานข่าวความเคลื่อนไหวประท้วงของกลุ่มผู้พิการ โดยยังเป็นที่กังขาต่อความเหมาะสมหรือไม่ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้สลายการชุมนุม แต่นั่นอาจจะยังไม่เท่ากับคำถามใหญ่ที่ตามมา วันนี้เพื่อนผู้พิการในสังคมไทยเขามีสภาพชีวิตอย่างไร การล่ามโซ่กับรางรถไฟ ยังทิ้งปริศนาไว้ในใจ ว่าความทุกข์ร้อนของเพื่อนเราถึงขีดไหนหรือ จดหมายฉบับนี้ไอาจยังไม่ได้ตอบคำถาม แต่ก็พอจะบอกเล่าความเป็นไปบางอย่างได้ ประชาไทจึงขออนุญาตนำมาแบ่งปัน


............................


 


เรียน เพื่อนร่วมชีวิตผู้พิการทุกท่าน


 


      จากภาพเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของคนพิการกลุ่มต่างๆ ในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา ได้บ่งบอกอะไรบางอย่างว่าเกิดความผิดปกติในการดำรงชีวิตของคนพิการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ในขณะที่ข่าวคราวภาครัฐที่ปรากฏสู่สายตาสังคม ประชาชน ทำให้เข้าใจไปว่ารัฐบาลนี้ให้การดูแลคนพิการอย่างดี แต่ล่าสุดคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อนตาบอดที่ประสบความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพ การเรียกร้องมิใช่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืนในวันที่ ๑ หรือ ๒ ธันวาคม หากแต่มีความพยายามนำเสนอหลายรูปแบบ ทำจดหมาย ประชุมร่วม ยื่นข้อเสนอผ่านสื่อมวลชน ฯลฯ แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการเยียวยา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น การเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งมวลชนทำกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ แต่ยังมีเรื่องเล็กเรื่องน้อย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ที่สร้างปัญหาที่ยั่งยืนให้คนพิการและครอบครัว ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามกระแสประชานิยมภายใต้รัฐบาลนี้ได้กลบเกลื่อนความเดือดร้อนของพวกเราไว้สนิทอยู่ใต้พรม แม้ว่าหลายท่านอาจมองภาพการเคลื่อนไหวของเพื่อตาบอดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ที่ผ่านมาว่าไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ แต่ผมใคร่ขอวิงวอนให้ท่านมองย้อนสภาพเป็นอยู่ของคนพิการส่วนใหญ่แทนที่จะมองเพียงภาพที่เห็นวันนั้นตามข่าวสื่อมวลชน (ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จะทราบดีว่าสื่อลงข่าวแบบลำเอียง คนตาบอดเจ็บหลายคน แต่ข่าวกลับว่าตำรวจเจ็บหลายคน) ประเด็นสำคัญคือต้องถามตัวเองว่าชีวิตพวกเราเป็นอย่างไร สุขสบายจริงหรือ ปัญหาเก่าๆ ถกกันกว่ายี่สิบปี ได้รับการเยียวยาอะไรบ้าง โรงเรียนยังไม่รับเด็กพิการ สภาพแวดล้อมอันแสนลำบาก สิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาภาษามือและล่ามภาษามือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนตาบอดและหูหนวก ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนพิการทางสติปัญญา ทางจิต พฤติกรรม ฯลฯ มากกว่าที่จะมองว่าการประท้วงของเพื่อนตาบอดเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเข้าทางเขาเต็มๆ ที่ต้องการย่อยสลายพลังคนพิการ แบ่งแยกแล้วปกครอง


 


      เราจะปล่อยชีวิตพวกเราเป็นไปตามยถากรรมอย่างนี้เรื่อยๆ หรือเราจะสามัคคีมาร่วมกันคิดอ่าน ไม่งั้นเราตกขบวนแน่ๆ กระแสหลักของงานด้านสตรีก็ไม่สนใจสตรีพิการ กระแสหลักของงานด้านเด็กก็ไม่สนใจเด็กพิการ กระแสหลักของงานผู้สูงอายุก็ไม่สนใจคนแก่พิการ ทั้งหมดถูกกีดกันให้ไปอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่มคนพิการ" เรื่องของคนพิการจึงดูซับซ้อน สับสน ใหญ่โต จนรัฐบาลเองก็ไม่อยากเข้ามาดูแลจริงจัง ขอเน้นว่า ดูแลจริงจังนะครับ ไม่ใช่ว่ารัฐไม่ดูแลเลย 


 


      วันที่ ๑๐ ธันวาคม ทุกปี ไม่ใช่แค่เป็นวันรัฐธรรมนูญ เท่านั้น แต่เป็นวันที่ระลึกสิทธิมนุษยชนสากลอีกด้วย คนพิการทั่วประเทศมีประมาณ ๖ ล้านคน เรามี พรบ ฟื้นฟูมาตั้งแต่ ๒๕๓๔ เริ่มจดทะเบียน ๑ พ.ย. ๓๗ จนปัจจุบันจดทะเบียนคนพิการได้เพียงสี่แสนกว่า ในจำนวนนั้นพบคนพิการที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน กว่าสองหมื่นคน รัฐบาลรู้มานานแล้วแต่ทำอะไรบ้าง การจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการรุนแรงและยากจนเป็นไปอย่างสับสน กองทุนฟื้นฟูขาดสภาพคล่อง ระงับกู้ ระงับโครงการ รัฐบาลพูดกรอกหูประชาชน จะโละรถเมล์เก่า ซื้อใหม่ ๔๐๐๐ คัน เป็นก๊าซเอ็นจีวี ติดแอร์ทุกคัน แต่ไม่คิดว่าควรเป็นแบบไหนที่คนพิการใช้ได้ จะสร้างสถานีขนส่งใหม่ มีห้องน้ำ มีที่จอดรถ แต่ไม่มีเลยที่จะคิดถึงคนพิการ ส่วนระบบขนส่งมวลชนนั้นหากไม่ตามติดละก้อ อย่าหวังว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือมีแบบที่เราใช้ได้จริง เรื่องระบบขนส่งสาธารณะ รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดถึงคนพิการเลย สิทธิมนุษยชนที่จะเดินทางไปไหนมาไหนอย่างเสรีก็ถูกละเมิดโดยรัฐเอง ณ วันนี้ พ่อแม่ยังต้องแบกลูกอุ้มหลานที่พิการไปโรงเรียนที่ไกลแสนไกล ขอให้ได้เรียน คุณภาพการเรียนการสอนยังไม่ต้องพูดถึง ทนไม่ได้ก็เอาลูกหลานออกไป ในขณะที่ ศธ ก็โฆษณาชวนเชื่อว่ารับเรียนร่วม ๓๐๐ โรง ๒๐๐๐ โรง ล่าสุดจะขอเงินหวยบนดินอีกแล้วเพื่อเพิ่มเป็น ๘๐๐๐ โรง อบรมครูเพิ่มด้วย สารพัดเหล่านี้ อ้างมากี่ปีแล้ว แทบเรียกได้ว่าเกือบเหมือนเดิม มีศูนย์การศึกษาพิเศษอีก ๑๒ เขต ๗๕ จังหวัด ๑ ส่วนกลาง หมดทรัพยากรไปเท่าไหร่ครับ สิทธิมนุษยชนที่จะได้รับการศึกษาก็ถูกละเมิดโดยรัฐเอง


 


      เรามีกฏหมายฟื้นฟูเพียงฉบับเดียวตั้งแต่ ๒๕๓๔ บัดนี้เราตระหนักแล้วว่าไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี ของคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีกฏหมายฉบับใหม่ที่มีลักษณะขจัดการเลือกปฏิบัติ มีสภาพบังคับ มีบทลงโทษ หรือ Anti-discrimination Act หรือ Disability Discrimination Act เป็นต้น หรือจะเอา พรบ ฟื้นฟูเดิมมาทบทวน แก้ไขปรับปรุงอย่างละเอียดรอบคอบ ฉบับร่างที่บางคนกำลังจะบอกว่าอยู่ที่ ครม แล้วนั้น ขอเรียนว่าเอากลับมาทำใหม่ดีกว่า อย่าดันทุรังต่อไปเลย


         ผมอยากกระตุ้นพวกเราใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ทุกกลุ่มความพิการและผู้ปกครอง รวมพลังเป็นหนึ่ง บอกให้สังคม บอกรัฐบาล ให้รู้ว่าปัญหาคนพิการมีมากมาย แทนที่จะมัวมองว่าการเคลื่อนไหวของเพื่อนตาบอดเมื่อสัปดาห์ก่อนเหมาะหรือไม่เหมาะ นั่นเป็นเพียงวิธีการนำเสนอ แต่ข้อเท็จจริงคือคนพิการมีปัญหาเยอะแยะไปหมด ใช้โอกาสนี้เคลื่อนไหวร่วมกันด้วยความสามัคคี หลังจากที่เรื้อเวทีการต่อสู้ร่วมกันมานาน เราถูกชี้นำให้ต่างพิการต่างทำ ใครแข็งแรงกว่าไปก่อน แล้วกลุ่มที่อ่อนแอเล่า จะทำอย่างไร กลุ่มร่างกายแขนขานั้นพอจะวิ่งตามตาบอดไปได้ กลุ่มผู้ปกครองออทิสติกไปเร็วกว่าเพื่อน ใครจะช่วยหูหนวก ใครจะช่วยผู้ปกครองเด็กสติปัญญา ใครจะช่วยเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน เป็นต้น ดังนั้นเราควรใช้โอกาสนี้ จะมีสัปดาห์สิทธิมนุษยชนสากล เริ่มตั้งแต่ ๙ ธ.ค. ไปจนถึงวันที่ ๑๖ ธ.ค. ช่วยกันคิดหน่อยครับ พูดกันในเรื่องที่กระทบส่วนรวม ไม่ลงรายละเอียดความพิการ ไม่เน้นเรื่องหวย ช่วยกันกระจายจดหมายนี้ให้เพื่อน เสนอความเห็นมาทางอีเมล์ หรือเข้าไปในกระทู้ มพพท ก็ได้ ช่วยโพสท์ในเว็บอื่นๆ ด้วยก็ดีครับ หากจะต้องเคลื่อนไหว เราอยากใช้ชื่อว่า "กลุ่มพันธมิตรคนพิการแห่งชาติ (National Disability Alliance: NDA" ทุกสมาคม ทุกองค์กร มูลนิธิ กลุ่ม ชมรม สามารถร่วมกลุ่มพันธมิตรคนพิการแห่งชาติได้ 


 


พันโท ต่อพงษ์ กุลครรชิต


หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


rdo@dpiap.org


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net