ชายขอบคลื่นน้ำใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"สวรรค์หาย" เป็นภาวะที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน

ในขณะที่นักท่องเที่ยวนานาชาติยังดื่มด่ำกับความสุขจากการหยุดพักในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ระหว่างการอิ่มเอมกับหาดทรายงามและท้องทะเลสวย เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารและพนักงานบริการทั้งหลายกำลังมือเป็นระวิงกับการบริการลูกค้าไปพร้อมกับความสุขจากเม็ดเงินที่ลงทุนลงแรงไป จะแปรเป็นกำไรงามๆ ให้ชื่นใจ

 

"26 ธันวาคม 2547" วันที่ความเชื่อว่า เราอยู่ในดินแดนอันปลอดภัย ที่มหันตภัยโหดร้ายจากธรรมชาติไม่มีทางกล้ำกรายได้ถูกสั่นคลอน หลายแสนคนต่างเพศผิวพรรณขวัญกระเจิงหนีตายกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบกาย ขณะที่หลายสิบล้านคน ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสื่อต่างๆ ด้วยใจประหวั่นและงงงัน

 

เมื่อคลื่นลมสงบลง ความเสียหายที่เกิดขึ้นพัดพาเอาหัวใจของใครหลายคนสลายตามไปด้วย ผู้คนมากมายตามหาพ่อแม่พี่น้องที่พลัดหลงกันไป จากที่หวังว่าจะได้เจอในสภาพที่มีลมหายใจ ผันแปรมาเป็น...ขอเพียงได้พบร่างที่ไร้วิญญาณก็ยังดี สิ่งที่เป็นความชุ่มชื่นหัวใจที่พอจะชดเชยความโศกเศร้าได้บ้าง คือปรากฏการณ์คลื่นน้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่แยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

 

อย่างไม่แยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ?!?

 

เกือบจะเชื่ออย่างนั้นได้แล้วเชียว หากไม่มีเสียงกระทุ้งเตือนจากองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติว่า เกิดอะไรขึ้นกับแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนทำงานในพื้นที่ 6 จังหวัดประสบภัย กว่า 60,000 ชีวิต และไม่นับรวมที่หลบซ่อนทำงานอยู่อีกเกือบเท่าตัว โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศสหภาพพม่า

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) เริ่มติดตามข้อมูลอย่างจริงจังและพยายามที่จะสื่อสารให้สาธารณะชนได้รับรู้

 

"ก่อนเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามัน พวกเขาคือ แรงงานทาส ที่ต้องทำงานหนักทุกชนิด ในบ้าน ในโรงงาน ตามท้องทุ่ง ท้องทะเล ตามคำสั่งของนายจ้าง พวกเขาถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งจากกฎหมาย และจากนายจ้าง (แน่นอน มีนายจ้างที่ดีไม่น้อย) ...

 

"ไม่มีใครกล่าวถึงพวกเขาทางทีวี ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่มีการสำรวจการบันทึก ความเดือดร้อนที่พวกเขาได้รับ ไม่มีหน่วยงานใดออกมาประกาศให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างจริงจัง เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ทั้งที่พวกเขามีเป็นจำนวนมาก และกำลังทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จากความตาย การพลัดพราก และความไร้หวังในอนาคต"

 

ความต้องการความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค/การดูแลสุขภาพ นมผงสำหรับเด็ก, ผู้ที่เคยมีบัตรมีสิทธิอยู่และทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายต้องการทำบัตรใหม่ อยากที่จะกลับไปทำงานเหมือนเดิม และอย่างพื้นๆ ที่สุด คืออยากจะมีโอกาสได้ทำบุญให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิต แต่ความต้องการเหล่านี้ไม่มีเสียงตอบรับ

 

ศูนย์เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือวิบัติภัยแห่งเอเชีย (เอดีพีซี) ประเมินความสูญเสียและความเสียหายที่คลื่นยักษ์เกิดขึ้นกับประเทศไทยมีมูลค่า 82,000 ล้านบาท รอยเตอร์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 5,395 คน หายสาบสูญ 2,817 คน จำนวนคนที่ได้รับผลกระทบ 54,672 คน คิดเป็นครอบครัวแล้วเท่ากับ 12,068 ครอบครัว (มติชนสุดสัปดาห์ น.102, ฉ.1323)

 

รายงานพิเศษจากเนชั่นสุดสัปดาห์ (ฉบับที่ 708 น.26) ให้ข้อมูลว่า คณะรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ 1 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ 6 จังหวัดภาคใต้ มีอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ และอนุกรรมการฯดำเนินการด้านต่างๆ พร้อมผลการดำเนินงาน

 

ทว่าไม่มีอนุกรรมการสักชุดที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาแก่แรงงานข้ามชาติ ฤากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกมองว่ามีมูลค่าและเป็นผลกำไรทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 4 แสนคน จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 หรือประมาณ 20,600 ล้านบาท (การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์กับกลุ่มชนตามแนวชายแดนและแรงงานต่างด้าว น.2, เอกสารการสัมมนาประจำปี 2548 TDRI)

 

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงไม่แปลกที่สัญญาณเดือนภัยที่จัดตั้งขึ้นด้วยงบประมาณมหาศาล เพื่อเตือนภัยคนหลากชาติ หลายภาษาทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย จะไม่มีภาษาพม่า

 

คงไม่ใช่เรื่องตกหล่น แต่เป็นเรื่องของคนหล่นขอบที่ถูกมองข้ามความเป็นคนเสมอมา เนื่องด้วยอคติที่แฝงฝังดังที่สะท้อนออกมาในคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดระนอง เมื่อคราเชื้ออหิวาต์ระบาดในพื้นที่ว่า "อาจเป็นไปได้ที่ชาวมอแกนจากพม่ามาแพร่เชื้อให้ชาวมอแกนที่เกาะเหลา" (ประชาไท, 6 มิ.ย. 48)

 

หรือมนุษย์ที่มีชีวิตเลือดเนื้อจากประเทศสหภาพพม่าจะเป็นได้เพียง "เชื้อโรค"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท