ความมั่นคงทางอาหารกับเชื้อไข้หวัดนก

 ธีรมล บัวงาม : สำนักข่าวประชาธรรม           

แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

แม้ไข้หวัดนกจะสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจการส่งออก และทิ้งความบอบช้ำให้เกษตรกรมากอย่างไร แต่หากมองในมุมบวกการเกิดขึ้นของไข้หวัดนกได้เชื่อมร้อยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และอาหารปลอดภัยมากขึ้น  อีกทั้งยังช่วยขยับประเด็นทางสุขภาพของคนในประเทศ ให้ขึ้นมาทัดเทียมกับการขึ้นลงของตัวเลขการส่งออกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม!

 

สำนักข่าวประชาธรรมจึงขอเก็บตกประเด็นจากวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (ธันวาคม 2548) จัดโดยโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งพยายามรวบรวมตัวแทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ว่า วิกฤตไข้หวัดนกจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารของไทยต่อไปในอนาคต

 

ป่วย 21 ราย ตาย 13 ชีวิต

น.สพ.พลายยงค์ สการะเศรณี หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อในคนและสัตว์ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดนกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยทั่วโลก 130 เสียชีวิต 67 คน ไทยมีผู้ติดเชื้อ 21 ราย เสียชีวิต 13 เป็นอันดับสองรองจากประเทศเวียดนาม การระบาดในประเทศไทยมี 3 รอบ รอบแรกพบผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย รอบสองป่วย 5 รายเสียชีวิต 4 ราย และในรอบปัจจุบันพบผู้ป่วย 4 รายเสียชีวิต 1 ราย โดยการติดเชื้อทั้ง 21 รายมีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสไก่ที่ป่วยตาย 12 ราย อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีสัตว์ตายผิดปกติ 6 ราย และสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 2 ราย ส่วนในสัตว์ปีกพบการระบาดกระจายเป็นจุดๆ ในเกือบทุกจังหวัด

 

น.สพ.พลายยงค์ อธิบายว่า ไข้หวัดนก (H5N1) ก็คือไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง มนุษย์จะป่วยเป็นโรคนี้เมื่อได้รับเชื้อในปริมาณมากๆ เท่านั้น จึงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีกิจกรรมสัมผัสไก่โดยตรง เพราะหากกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้รับเชื้อ H5N1เข้าไป อาจทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ สามารถระบาดจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งเป็นข้อกังวลของชาวโลก   ขณะนี้ก็พบรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากเวียดนามว่ามีการระบาดจากคนสู่คนแล้ว

 

"ต้องป้องกันความเสี่ยงจากไข้หวัดนก โดยป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกสู่คน ควบคุมโรคในสัตว์ปีกไม่ให้มีการระบาดอย่างรวดเร็ว และป้องกันเชื้อโรคกลายพันธุ์ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการรวมพันธ์ระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อไข้หวัดนก อีกทั้งต้องเฝ้าระวังไม่ใช้เชื้อ H5N1 กลายพันธุ์ในสัตว์อื่น เช่น หมู ซึ่งจะทำให้เชื้อติดต่อมาสู่คนได้" น.สพ.พลายยงค์ เสนอแนะ

 

ชู 6 ยุทธศาสตร์ปราบไข้หวัดนก

อย่างไรก็ตามภายหลังไข้หวัดนกได้เริ่มระบาดในไทยครั้งแรกในปี 2546 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในช่วง 3 ปี (พ.ศ.2548-2550) ว่าสำหรับการแพร่ระบาดในสัตว์ ต้องไม่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเศรษฐกิจภายใน 2 ปี และลดการระบาดในสัตว์ปีกพื้นเมือง ไก่ชน สัตว์ปีกสวยงาม และสัตว์ปีกต่างถิ่นภายใน 3ปี อีกทั้งควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในสัตว์อื่นๆ ภายใน 3 ปี ส่วนเป้าหมายควบคุมการระบาดในคนนั้นต้องไม่มีการติดต่อจากสัตว์สู่คนภายใน 2 ปี และมีความพร้อมในการรองรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 1 ปี

 

นอกจากนี้ยังมีอีก 6 ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกอย่างเชื่อมโยงและบูรณาการ ดังนี้ 1.พัฒนาระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค ด้วยการปรับปรุงการเลี้ยง พัฒนาระบบโซนนิ่งเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้าย ทีมเฝ้าระวังและควบคุมโรคทั้งสัตว์ปีก และสัตว์ปีกธรรมชาติ ศึกษาสถานการณ์และให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง 2.เฝ้าระวังและควบคุมโรคเมื่อเกิดการระบาด 3.สร้างและจัดการความรู้ไข้หวัดนก โดยพัฒนาวัคซีน ชุดตรวจวินิจฉัย ยารักษาไข้หวัดนก และจัดให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่ให้ความรู้ตลอดเวลา 4.สร้างเสริมศักยภาพขององค์กรและบุคลากร โดยให้มีหน่วยระบาดวิทยาเฝ้าระวังทุกอำเภอ พัฒนาแพทย์ด้านโรคติดต่อและให้มีห้องแยกผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรง ฯลฯ 5.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน และ 6.พัฒนากลไกการจัดการอย่างบูรณาการ    

 

"เป้าหมายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ต้องทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงไก่ เพราะหากควบคุมโรคในสัตว์ปีกได้ประชาชนก็จะปลอดภัย"ดร.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น

 

ดร.จิโรจ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ยังมีอุปสรรคด้านความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค ซึ่งอุตสากรรมขนาดกลางและใหญ่นั้นไม่มีปัญหา  แต่สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่แบบหลังบ้าน   หรืออยู่ร่วมกันตามธรรมชาติ   การปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงอาจเป็นการเพิ่มภาระการลงทุน และหนี้สิน ดังนั้นความพยามยามจะปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงจึงต้องพบกันครึ่งทาง

 

นายศักดิ์ณรงค์ อุตสาหกุล สถาบันอาหาร ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการแก้ปัญหาของรัฐด้วยการเปลี่ยนเป็นระบบปิด หรือนโยบายการทำลายไก่นั้นส่งผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะกับชาวบ้าน และประชากรที่รายได้น้อย ซึ่งต้องพึ่งพาแหล่งโปรตีนจากไก่อยู่ ฉะนั้นข้อเสนอเรื่องการใช้วัคซีนเชื้อตายในไก่ ซึ่งได้รับการยืนยันองค์กรโรคระบาดระหว่างประเทศว่าสามารถใช้กับสัตว์ปีกได้ โดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคทางอุจจาระ และไม่ส่งผลกระทบต่อคน ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา และตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ เพราะโรคนี้อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

 

อนาคตส่งออกไก่ไทย

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุถึงผลกระทบของไข้หวัดนกว่า ข่าวการเสียของผู้ป่วยในเดือนมกราคม 2547 ได้ทำให้การบริโภคเนื้อไก่ทั้งประเทศลดลงอย่างมาก ต่อมาภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดงาน "มหกรรมกินไก่ไทยปลอดภัย100%" ส่งผลให้การบริโภคค่อยๆ กระเตื้องขึ้น และปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อมีการระบาดรอบ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2547 จนกระทั่งมีรายงานว่ามีความเป็นไปได้ในการติดเชื้อจากคนสู่คนในวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ทำให้การบริโภคลดลงไป 30% โดยสรุปการบริโภคโดยเฉลี่ยจากภาวะปกติในปี 2546 ที่ 13  กก.ต่อคนต่อปี ลงมาอยู่ที่ 8  กก.ต่อคนต่อปีในปี 2547สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

ในส่วนของผลกระทบของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก และการส่งออก พบว่า หลังการรายงานเรื่องไข้หวัดนกญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปประกาศยกเลิกการนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกหดตัวถึง 93% จาก 388,913 ตันในปี 2546 เหลือเพียง 26,137 ตันในปี 2547 แต่ในทางกลับกันการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปหรือไก่ปรุงสุกขยายตัวสูงขึ้น 23%ต่อปี เนื่องจากเชื่อว่าปลอดภัยจากการติดเชื้อ สำหรับการส่งออกในปีนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยคาดว่าการส่งออกจะเป็นเนื้อไก่แปรรูปทั้งสิ้น และไทยอาจสูญเสียตลาดส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งอย่างถาวรหากวิกฤติการณ์ไข้หวัดนกยังดำเนินต่อไปในระยะยาว

 

นายณัฐศักดิ์ พัฒน์กุลชัย ผู้จัดการใหญ่บริษัทสหฟาร์ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมไก่ของไทยต้องลดกำลังการผลิตลงประมาณ 600 ล้านตัว ส่งผลกระทบโดยรวมต่อแรงงานในโรงงานชำแหละ แรงงานเลี้ยงไก่ กว่าแสนคน และยังเพิ่มภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการต้องหาเครื่องจักรในการแปรรูปไก่ปรุงสุก จนบางรายต้องออกจากธุรกิจนี้ไป

 

"เราเสียโอกาสการส่งออกไก่มากกว่า 5 ปีและยังเพิ่มคู่แข่งรายใหม่เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และผู้ผลิตในประเทศผู้นำเข้า เช่น ยุโรป"

 

"ประเทศไทยถูกยอมรับจากทั่วโลกว่าไก่จากที่ผลิตจากไทยมีความปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่สิ่งที่ทำดีๆ ตามมาตรฐานของฝรั่งกลับเป็นผลดี เมื่อเกิดไข้หวัดนก ทั้งที่ผู้นำเข้าเขาก็รับรู้ว่าไก่ในอุตสาหกรรมการส่งออกไม่ได้เป็นไข้หวัดนก แต่เกิดกับไก่ของชาวบ้านที่เลี้ยงตามธรรมชาติ และตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการส่งออกไก่ประเภทนั้นเลย" นายณัฐศักดิ์ กล่าว

 

ด้านนายดิสทัต โรจนาลักษณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อินทรีย์ กล่าวแย้งว่า เรื่องหวัดนกต้องมองดูยาวๆ ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะ30-50 ปีที่ผ่านมาไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ที่มีความหนาแน่นในพื้นที่อันจำกัด และเร่งผลผลิตอย่างเข้มข้น ไก่ในระบบอุตสาหกรรมซึ่งเครียด และอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อได้รับเชื้อหวัดนกเข้าไป ไก่ในโรงงานจึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อให้แข็งแรงขึ้น ในขณะที่ไก่พื้นบ้าน หรือไก่ตามธรรมชาติแม้จะได้รับเชื้อโรคเหมือนกัน แต่ก็แข็งแรงและต้านทานโรคได้ดีกว่า

 

"ระบบฟาร์มใหญ่จึงมีปัญหาในตัวของมันเอง ดังนั้นมาตรการของรัฐที่ทำให้เข้าใจว่าไก่ในระบบปิด หรือโรงงานมีความปลอดภัย เป็นเพียงแต่เป็นป้อมปราการไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปเท่านั้น แต่มันยังมีระเบิดเวลาเรื่องอื่นๆ เช่น การดื้อยา การเลี้ยงที่ทารุณ การใช้ฮอร์โมน และสารตกค้างที่มีอยู่มากมาย ไม่ได้ถูกหยิบยกมาแก้ไข้จากมาตรการของไข้หวัดนกเลย" นายดิสทัต กล่าว

 

อาหารปลอดภัยโจทย์ใหม่ที่ยังรอคำตอบ

นายดิสทัต กล่าวต่อไปว่า อาหารปลอดภัยทุกวันนี้จะหมายความเพียงแค่ความสะอาด ปลอดเชื้อโรคเท่านั้น แต่เรื่องคุณค่าของอาหารที่แท้จริง หรือความสด การไม่มีฮอร์โมน สารตกค้าง ในทุกกระบวนการผลิตกลับถูกมองข้าม  ปัจจุบันตนและสมาชิกในกลุ่มได้หันมาศึกษาวิธีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เพราะการให้ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมากที่สุด จะทำให้มีความแข็งแรง ต้านทานโรค ส่วนผลผลิตนั้นเป็นผลประโยชน์ที่ตามมาทีหลัง ซึ่งแนวทางนี้ภาครัฐยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ในขณะนี้ผู้บริโภคบางส่วนได้เริ่มให้ความสำคัญกับการอุดหนุนสินค้าเกษตรกรรมที่มีวิธีการผลิตแบบธรรมชาติ แม้ราคาจะสูงกว่าก็ตาม

 

"นโยบายที่ผ่านมาไม่ได้เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ผลประโยชน์กลับอยู่ที่อุตสาหกรรมส่งออก และผู้บริโภค ผมว่าเราต้องคำนึงด้วยว่าชีวิตของชาวบ้านมีค่า เพราะผู้บริโภคความเสี่ยงน้อยแต่ถูกความสำคัญมาก นายกเดินสายโชว์กินไก่ แต่คนอยู่ในกระบวนการเลี้ยงที่เข้าไปสัมผัสโดยตรงกลับไม่มีการให้ความรู้ ส่วนการปรับปรุงวิธีการเลี้ยงสัตว์ก็ควรแยกแยะและยืดหยุ่นตามข้อเท็จและเงื่อนไขของตัวเกษตรกรด้วย" นายดิสทัต กล่าวทิ้งท้าย

 

ไม่ว่าบทสรุปของเรื่องทั้งหมดจะออกมาเป็นเช่นไร ไทยก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก และการเกิดของขึ้นของเชื้อโรคอื่นๆ อยู่ ดังนั้นมุมมองและเสียงสะท้อนจากสถานการณ์วิกฤตไข้หวัดนกจากการพูดคุยในครั้งนี้ จึงเป็นกรณีศึกษาอันมีค่าต่อการพัฒนาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัยในอนาคต เสมือนดั่งเสียงไก่ขันที่ช่วยปลุกเราให้ตื่นขึ้นจากการหลับไหล และความฝันอันแสนหวาน แล้วลุกมาเผชิญหน้า แก้ปัญหาบนโลกที่เป็นจริง

กลับหน้าแรกประชาไท


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท