Skip to main content
sharethis


ภาพจากhttp://www.greenpeace.org/seasia/th/


ประชาไท—1 ธ.ค. 48        เรือเดินสมุทร เรนโบว์ วอร์ริเออร์ กรีนพีซ เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว พร้อมเปิดรายงานอนาคตอันร้อนระอุ หวังกระตุ้นคนไทยจัดการด้านสิ่งแวดล้อมก่อนโลกร้อนถึงขึ้นวิกฤติ เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่บริเวณท่าเรือคลองเตย 2-4 ธ.ค.นี้



เรือเดินสมุทรหรือนักรบสายรุ้งของกรีนพีซ ทำหน้าที่สื่อสารให้โลกได้รู้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนของวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ กำลังจะกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเดินทางไปเยือน ออสเตรเลีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เรือนักรบสายรุ้งเคยเดินทางมาเมืองไทยแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2543 และ ปี 2547 โดยกิจกรรมต่างๆ จะมีขึ้นในวันที่ 2-4 ธ.ค.นี้ ณ ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ การมาเยือนครั้งนี้กรีนพีซต้องการปฏิวัติพลังงานสะอาดและนำเสนอหนทางที่จะรอดพ้นจากภาวะโลกร้อน



พร้อมกันนี้ กรีนพีซได้เปิด
รายงานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในเอเชียฉบับล่าสุด โดยระบุว่าประเทศอุตสาหกรรมต้องหยุดสร้างภาวะโลกร้อนให้กับประเทศกำลังพัฒนาหากไม่ต้องการให้หายนะทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น


 


รายงานดังกล่าว ระบุว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้เกิดขึ้นในเอเชียแล้ว อาทิ ธารน้ำแข็งละลายในปริมาณมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำท่วมในเขตที่ราบลุ่มโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ติดชายฝั่ง มีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนตกหนัก เกิดภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ เกิดพายุไซโคลนรุนแรงมากขึ้น ภาคการเกษตรและการประมงได้รับการคุกคาม น้ำบริสุทธิ์เสี่ยงต่อการปนเปื้อนโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออกแพร่ระบาดทุกปีเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยมากกว่า 400 ล้านคน จากภาวะน้ำท่วมในเอเชีย ระหว่างปี 1987-1997 ซึ่ง 44% ของหายนะภัยจากภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 228,000 คน คิดเป็น 93%ของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมทั่วโลก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นมูลค่า 136 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


 


ขณะที่ รายงานดังกล่าว ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ได้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงและเป็นอันตรายต่อผู้คนหลายล้านคน ดังนั้นการชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะเท่ากับเป็นการช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคและจำกัดระดับความเสียหายของระบบนิเวศ  หากการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียสนั้น จะต้องลดระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกจากระดับของปี 2533 ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในกลางศตวรรษนี้ และประเทศอุตสาหกรรมจะต้องลดปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้นให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2593


 


เนื่องจากพบว่า ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ให้กับประเทศในเอเชีย และผ่านการให้ทุนสนับสนุนเทคโนโลยีสกปรกจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เป็นต้น


 


นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว แต่เรายังมีทางออก รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนทัศนคติอย่างสิ้นเชิง เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จะใช้เงินลงทุนมหาศาลกว่าการลงทุนในพลังงานลมหรือชีวมวลในอีก 5-7 ปีข้างหน้า เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต้องพึ่งพาราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดโลก และสามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตอันใกล้ได้ เป็นต้นว่าผู้ติดตั้งกังหันลมสามารถที่จะประกันราคาของการใช้พลังงานได้เป็นเวลา 15-20 ปี ขณะที่ราคาของเชื้อเพลิงถ่านหินขึ้นอยู่กับราคาถ่านหินเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมามีราคาสูงและไม่มีแนวโน้มจะลดลง"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net