Skip to main content
sharethis



จากสยามประเทศสู่รัฐไทยไม่ปรากฏว่า มีนโยบายเกี่ยวกับคนตาบอดเลย ความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการให้ทาน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2542 สตรีตาบอดชาวอเมริกัน นาม เยเนวีฟ คลอฟิลด์ ได้เริ่มงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดในไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด


 


จนถึงปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่า เกือบทั้งหมดของงานด้านคนตาบอดเป็นภาระขององค์กรภาคเอกชน แต่ด้วยข้อจำกัดของภาคเอกชน และการขาดความรับผิดชอบของภาครัฐ จึงทำให้คนตาบอดไม่ถึงร้อยละ 10 จากจำนวนคนตาบอดทั่วประเทศกว่า 600,000 คน ที่พอจะได้รับเศษทานแห่งการพัฒนาอยู่บ้าง ต่อไปนี้เป็นเครื่องยืนยันความอัปยศอันเกิดจากการไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย


 


อัปยศ 1. คนตาบอดจำนวนมากไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านและไม่มีบัตรประชาชน โดยปรากฏว่า มีกฎหมายที่กำหนดให้คนตาบอดไม่ต้องทำบัตรประชาชนก็ได้ จึงเปิดช่องให้มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่โดยการนำชื่อและรหัสบัตรประจำตัวของคนตาบอดไปออกบัตรให้คนต่างด้าว นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนตาบอด และนับเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง


 


อัปยศ 2. การไม่มีบัตรประชาชน เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้คนตาบอดจำนวนมากไม่สามารถทำนิติกรรม การทำสัญญาและการใช้สิทธิต่างๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากจากธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศ, การขอมีบัตรเบิกเงินอัตโนมัติ (ATM), การใช้บัตรเครดิต, การรับมรดกและการครอบครองมรดกโดยชอบธรรมจากทายาทด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งการใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย


 


อัปยศ 3. ปัจจุบันทั้งประเทศไทยมีโรงเรียนสอนคนตาบอดของรัฐเพียง 2 แห่ง รับนักเรียนได้เต็มที่ไม่ถึง 500 คน ในขณะที่มีนักเรียนตาบอดรอโอกาสทางการศึกษานับแสนคน และงบประมาณที่รัฐสนับสนุนการศึกษาของคนตาบอดโดยเฉลี่ยหัวละไม่ถึง 1,000 บาทต่อปี ในขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาของชาติมีอยู่ถึง 1.6 แสนล้านบาทต่อปี


 


อัปยศ 4. ปัจจุบันอัตราส่วนครูต่อเด็กตาบอดไทยในวัยเรียนเท่ากับ 1:600 และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าครูเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านเขียนอักษรเบรลล์ได้ แต่รัฐก็มิได้มีแผนการใดเพื่อแก้ปัญหานี้


 


อัปยศ 5. รัฐบาลไทยไม่เคยสนใจปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ของคนตาบอดตั้งแต่เกิดจนตาย ดังจะเห็นได้จากไม่มีห้องสมุดของรัฐแม้เพียงแห่งเดียวที่คนตาบอดสามารถใช้ประโยชน์ได้และไม่มีแหล่งผลิตสื่อ ทั้งอักษรเบรลล์ สื่อเสียง/สื่อทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นของรัฐ เอกสารสาธารณะเกือบทั้งหมดก็ไม่เคยได้รับการผลิตในรูปแบบของสื่อที่คนตาบอดสามารถใช้ประโยชน์ได้ แม้กระทั่งเว็บไซต์ของรัฐบาลไทยก็ยังถูกประเมินจากต่างประเทศว่ามีการอำนวยความสะดวกให้คนพิการตามมาตรฐานสากลต่ำกว่าเว็บไซต์ของรัฐบาลเวียดนาม


 


อัปยศ 6. ปัจจุบันอัตราส่วนครูสอนไม้เท้าขาวสำหรับคนตาบอดต่อจำนวนคนตาบอดเท่ากับ 1:3,000 ในขณะที่สิ่งแวดล้อม สิ่งปลูกสร้างและระบบขนส่งเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่อการเดินทางของคนตาบอด ทำให้คนตาบอดตกท่อ ชนสะพานลอย,ต้นไม้ มีเรื่องกับผู้ค้าหาบเร่ ถูกรถเฉี่ยวชนบนทางเท้า ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยรู้จักมาตรฐานการก่อสร้างตามหลักการออกแบบที่เป็นธรรมที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้


 


อัปยศ 7. รัฐบาลไทยไม่เคยใส่ใจต่อปัญหาของคนสายตาเลือนราง ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แม้บริการพื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นก็ไม่ได้รับการบรรจุไว้ในกฎหมาย จึงทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวขาดหลักประกันโดยสิ้นเชิงในการรับบริการนี้


 


อัปยศ 8. ปัจจุบันมีคนตาบอดที่มีงานทำไม่ถึงร้อยละ 5 ในขณะที่มีศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการของรัฐเพียงแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรฝึกอาชีพให้แก่คนตาบอด นอกจากนี้กระบวนการจัดหางานให้แก่คนตาบอดของรัฐไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารัฐจัดหางานให้คนตาบอดได้ไม่ถึง 500 คน หรือเฉลี่ยปีละไม่ถึง 50 คน


 


อัปยศ 9. รัฐบาลไทยกำหนดเงื่อนไขที่ยุ่งยากและไม่เป็นมิตรต่อคนตาบอดที่ประกอบอาชีพต่างๆ โดยสุจริตขึ้นหลายประการ เช่น การกำหนดว่าการตาบอดเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทย การจับกุมนักดนตรีตาบอดที่แสดงในที่สาธารณะโดยอ้าง พ.ร.บ.ขอทาน ฉบับพ.ศ.2484  มีกฎหมายกว่า 50 ฉบับที่กีดกันไม่ให้คนตาบอดเข้าไปทำงานในหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ และการประเมินให้ข้าราชการตาบอดต้องพ้นจากตำแหน่งข้าราชการ โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันการประกอบอาชีพการค้าสลากของคนตาบอด ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศปีละประมาณ 2,400 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้รัฐบาลปีละเกือบ 700 ล้านบาท แต่สถานภาพในการทำงานของคนเหล่านี้กลับมีลักษณะไม่ต่างกับแรงงานทาส


 


อัปยศ 10. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเป็นกลไกหลักช่องทางเดียวของรัฐที่เปิดโอกาสให้คนตาบอดและคนพิการทุกประเภท สามารถใช้ประโยชน์ในการกู้ยืมเงินมาประกอบอาชีพอิสระหรือขอรับเงินอุดหนุนโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรด้านคนตาบอดหรือคนพิการ โดยที่แต่ละปีรัฐส่งเงินเข้ากองทุนเฉลี่ยปีละ 25 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4.25 บาทต่อคนพิการหนึ่งคน


 


อัปยศ 11. จากจำนวนคนตาบอดหลายหมื่นคนที่มีสภาพความพิการรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กลับมีเพียงห้าพันคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล คนละ 500 บาทต่อเดือนหรือเฉลี่ยวันละ 70 บาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ขั้นต่ำของเส้นความยากจน (ประมาณ 40 บาทต่อวัน) หนำซ้ำบ่อยครั้งเงินเหล่านี้ยังถูกเบียดบังจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนจะเหลือตกถึงมือคนตาบอดเพียงคนละสิบบาทต่อวัน


 


อัปยศ 12. รัฐบาลไม่สนใจต่อปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนตาบอด โดยเฉพาะการกีดกันไม่ให้คนตาบอดทำประกันภัย ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ


 


อัปยศ 13. คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคนพิการซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ เป็นได้แค่เพียงไม้กันหมาให้แก่รัฐบาล เป็นเพียงเวทีการพิจารณากิจกรรมขนาดย่อมหรือการขอเงินจำนวนไม่กี่บาทมาแบ่งกันทำโครงการนำร่องเท่านั้น หาได้เป็นกลไกอันทรงประสิทธิภาพในการนำเสนอนโยบายระดับมหภาคที่เป็นกลาง ต่อเนื่องและยั่งยืนได้เลย กระทั้งแม้ปัญหาวิกฤตสลาก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้คนพิการไปทุกหย่อมหญ้า คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดนี้ก็อับจนปัญญาที่จะคิดอ่านแก้ไขอะไรได้ คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดนี้จึงเป็นยิ่งกว่าเสือกระดาษ ที่ทำได้แต่การประชุมอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อจัดทำเอกสารส่งไปให้คนบางคนขยำเล่นระหว่างเส้นทางไปถึง ฯ พณ ฯ ซึ่งยากนักที่จะมีโอกาสได้อ่าน คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดนี้จึงมีเพียงเกียรติ แต่ไม่อาจรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการไว้ได้


 


อัปยศ 14. รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสแบบเหมารวม โดยนำปัญหาและความต้องการของคนตาบอด คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่มมารวมศูนย์ไว้ ณ ที่เดียว เพื่อเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณรายตัว


 


อัปยศ 15. แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนหรือนโยบายด้านการพัฒนาอื่นๆ แต่กลับปรากฏว่า คนตาบอดแทบไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายกระแสหลักเหล่านี้ เช่น มีคนตาบอไม่ถึง 30 รายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งจัดสรรบ้านและที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ยากไร้หลายแสนราย มีคนตาบอดไม่ถึง 100 รายที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท มีคนตาบอดไม่ถึง 50 รายที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาของรัฐบาล คนตาบอดและคนพิการหลุดจากกรอบการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลดังจะเห็นได้จากนโยบายจดทะเบียนคนจน


 


อัปยศ 16. สตรีตาบอด นอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกับบุรุษแล้ว ยังต้องตกอยู่ในชะตากรรมที่โหดร้ายทารุณยิ่งกว่านั้นหลายเท่า ทั้งถูกเมินเฉย/กีดกันจากกลุ่มสิทธิสตรีกระแสหลัก และยังไม่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายด้านคนพิการ/ตาบอดโดยรวม ยิ่งร้ายไปกว่านั้น ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือการกดขี่ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีตาบอดที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือไม่มีงานทำ หรือสูงอายุ หรือเป็นสมาชิกชนเผ่าอื่น


 


อัปยศ 17. รัฐบาลไทยมุ่งเน้นการทำให้ชาวโลกประทับใจและกระทั่งสำคัญผิดไปว่า ประเทศไทยมีนโยบายและการปฏิบัติต่อคนพิการที่ดีและน่าเอาอย่าง นับตั้งแต่การช่วยกันตกแต่งผลงานด้านคนพิการอย่างสวยหรูเกินจริงจนได้รับรางวัล เอฟ ดี อาร์ (FDR) จากองค์การสหประชาชาติ ชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการจัดทำร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิคนพิการ ได้รับการยอมรับและยกย่องล้นหลามในองค์การสหประชาชาติ (เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยยังไม่ถูกประณามจากชาวโลก) แต่คนตาบอดไทยก็ยังคงถูกขังลืมอยู่ในประเทศของตน ประเทศที่ผู้นำกำลังฝันจะครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net