Skip to main content
sharethis

 



พล.ต.ขวัญชาติ กล้าหาญ


 



วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2005 18:35น. 

ปกรณ์ พึ่งเนตร, อาทิตย์ เคนมี : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


แม่ทัพภาคที่ 4 ดูจะเป็นบุคคลที่ต้องสังเวยกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด โดยหากขีดเส้นนับเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ไปแล้วถึง 3 คน


 


กลายเป็นเก้าอี้ปราบเซียนสำหรับวงการทหารไปเรียบร้อยแล้ว!


 


โดยนายทหารรายแรกที่ต้องหลุดจากเก้าอี้ตัวนี้ไปแบบน้ำตาคลอเบ้า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 ก็คือ พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ (ยศในขณะนั้น) หลังจากรัฐบาลให้เวลาเกือบ 3 เดือนในการคลี่คลายคดีปล้นปืนจากค่ายทหาร แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ มิหนำซ้ำยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก


 


และผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งแทน พล.ท.พงษ์ศักดิ์ ก็คือ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี โดยนายทหารผู้นี้นั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เพียง 7 เดือนเศษ ก็ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งในที่เกิดเหตุและขณะเคลื่อนย้ายถึง 85 ศพ


 


เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นสรุปออกมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ว่าเขามีความผิดพร้อมกับนายทหารระดับสูงในพื้นที่อีก 2 นาย พล.ท.พิศาล ก็แสดงสปิริตด้วยการขอย้ายตัวเองเข้าไปประจำกองทัพบกด้วยหัวใจอันบอบช้ำ


 


จากนั้นรัฐบาลได้ตั้งให้ พล.ต.ขวัญชาติ กล้าหาญ รองแม่ทัพภาคที่ 4 (ยศในขณะนั้น) ขึ้นรักษาการแทน ก่อนจะแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2548 นี้เอง


 


ยังไม่ทันข้ามปี พล.ท.ขวัญชาติ ซึ่งเคยได้รับความไว้วางใจให้ควบตำแหน่งผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.สสส.จชต.) ตามโครงสร้างใหม่ ก็กระเด็นตกเก้าอี้ไปอีกคน!


 


น่าสนใจตรงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงตัวแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อนๆ ล้วนมีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายกับสังคมได้ แต่การปลด พล.ท.ขวัญชาติ ในครั้งนี้ สร้างความกังขาให้กับฝ่ายต่างๆ ไม่น้อย ว่ารัฐบาลตัดสินใจด้วยเหตุผลอะไร


 


เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ณ ปัจจุบันก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุเลาเบาบางลงไปค่อนข้างมาก เหตุรุนแรงรายวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะถูกมองว่าเป็นเพียงภาวะ "ชั่วคราว" ก็ตาม


 


หันไปดูยุทธศาสตร์ด้านงานมวลชน ก็จะพบว่ายุคของ พล.ท.ขวัญชาติ ถือเป็นยุคที่มีแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ และเยาวชนที่หลงผิด ออกมามอบตัวกับทางการมากที่สุด


 


ขณะที่การทำงานกับฝ่ายตำรวจซึ่งนำทีมโดย พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ก็แทบจะไม่มีความขัดแย้งให้เห็น


 


ถึงนาทีนี้ เหตุผลที่พอเป็นไปได้ จึงน่าจะมีเพียงประการเดียว คือการเข้ามากุมบังเหียนกองทัพบกของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.คนใหม่ ในการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


 


แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิชาการด้านความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 เที่ยวนี้ น่าจะมาจากการที่ พล.อ.สนธิ อยากได้ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ในการแก้ไขปัญหา


 


"ผู้ใหญ่ในกองทัพและในรัฐบาลอาจจะมองว่า ปัญหาภาคใต้จะใช้กรอบคิดเดิมๆ มาแก้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องใช้แนวทางใหม่เข้ามาจัดการ เพราะทั้งสถานการณ์โลกและสถานการณ์ในประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตั้งแต่ พล.อ.สนธิ เข้ามารับตำแหน่ง ก็พยายามปรับเปลี่ยนการจัดวางกำลังในพื้นที่มากพอสมควร"


 


แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังมองว่า ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของการปลด พล.ท.ขวัญชาติ ก็คืองานด้านการข่าวที่ค่อนข้างล้มเหลว


 


"ต้องยอมรับว่า ถึงวันนี้การข่าวของกองทัพยังไม่ทันกับสถานการณ์ และไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เพราะที่ผ่านมายังคงเกิดเหตุรุนแรงในระดับปิดเมือง หรือปิดอำเภอโจมตีหลายครั้ง โดยที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่แทบไม่รู้ล่วงหน้า" แหล่งข่าว กล่าว


 


การวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านความมั่นคง ดูจะสอดคล้องกับความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ ที่มองว่า การย้าย พล.ท.ขวัญชาติ น่าจะมาจากเหตุการณ์รุนแรงที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีนาวิกโยธินเสียชีวิต 2 นาย อันถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของฝ่ายรัฐ


 


และหลังจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถล่มสถานที่ราชการใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา การลอบวางระเบิดเกือบ 20 จุดใน จ.นราธิวาส รวมทั้งเหตุสังหารหมู่ 9 ศพที่บ้านกะทอง ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส


 


แหล่งข่าวผู้นี้ ยังเห็นว่า การดัน พล.ต.องค์กร ทองประสม รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน พล.ท.ขวัญชาติ น่าจะทำให้การทำงานในพื้นที่สอดประสานกับระดับนโยบายมากยิ่งขึ้น เพราะ พล.ต.องค์กร มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พล.อ.สนธิ มากกว่า


 


ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงนี้ น่าจะส่งผลด้านลบมากกว่าด้านบวก เพราะการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งในระดับผู้บัญชาการไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งภายในระยะเวลาช่วงสั้นๆ 


 


"ยิ่งเป็นการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ดังนั้นการโยกย้ายจึงไม่ควรจะเกิดขึ้นในอัตราถี่ขนาดนี้ ยกเว้นว่าจะเกิดความผิดพลาดอย่างรุนแรงจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีตากใบหรือกรือเซะเท่านั้น" ดร.ปณิธาน กล่าว


 


ส่วนกรณีสังหารโหด 2 นาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ นักวิชาการผู้นี้ เห็นว่า ไม่แน่ใจว่ากรณีดังกล่าวเป็นความบกพร่องเรื่องขีดความสามารถส่วนบุคคล หรือเป็นปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวทางการเมือง แต่เหตุการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอก็ไม่ใช่เหตุการณ์วิกฤติถึงขนาดต้องเปลี่ยนตัวแม่ทัพ


 


"ถ้าไม่ใช่เหตุวิกฤติจริงๆ ก็ไม่น่าจะต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้าง" ดร.ปณิธาน ระบุ 


 


นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่มักนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจทุกยุคทุกสมัย ก็คือความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ


 


"แต่ผมมองว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ขณะนี้ ควรเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถส่วนตัวสูง มากกว่าจะเลือกบุคคลที่ใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาลหรือผู้นำในกองทัพ เพราะเมื่อผู้บัญชาการคนเก่าเริ่มสร้างความคุ้นเคยในพื้นที่ได้แล้ว กลับต้องถูกย้ายออกไป ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างและประชาชนหมดขวัญกำลังใจ หรือกระทั่งอาจเกิดความรู้สึกเหินห่าง จนเกิดช่องว่างทำให้เป็นปัญหาในการทำงานในพื้นที่ได้" 


 


ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า เท่าที่ดูยังมองไม่ออกว่าใครมีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามา ก็ยากที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้


 


"การเปลี่ยนม้ากลางศึกเช่นนี้ นอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้ว ยังอาจทำให้สถานการณ์ปะทุรุนแรงขึ้นอีก รวมทั้งอาจจะมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่การก่อเหตุเข้ามาสู่เมืองและชุมชนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ซึ่งจะเปิดช่องว่างให้ฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสนี้ก่อความไม่สงบได้ง่าย" ดร.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net