Skip to main content
sharethis


ประชาไท - เครือข่ายผู้สบภัยสึนามิภาคประชาชน เดินหน้าจัดงานครบรอบ 1 ปี เปิดเวทีแฉรัฐบ้อท่าหมดปัญญาฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ยันแต่ละพื้นที่ยังมีปัญหาสารพัด ทั้งที่ดิน สาธารณูปโภค คนไทยไร้สัญชาติ รอรัฐแก้เพียบ


 


นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน  เปิดเผย "ประชาไท" ว่า กิจกรรมสำคัญของงานครบรอบ 1 ปี สึนามิภาคประชาชน ระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2548 ที่บ้านทุ่งว้า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คือ การนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ผู้ประสบภัยยังประสบอยู่ โดยตัวแทนเครือข่ายผู้ประสบภัยจากทั้ง 6 จังหวัด จะเดินทางมาร่วมนำเสนอปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข


 


นายไมตรี เปิดเผยต่อไปว่า จากการหารือกับตัวแทนเครือข่ายผู้ประสบภัยทั้ง 6 จังหวัด เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ที่อำเภอตะกั่วป่า ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ประเด็นปัญหาที่แต่ละพื้นที่จะมานำเสนอแยกออกเป็น 7 ประเด็น คือ ปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภค, ปัญหาจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการ sea food bank เป็นต้น, ปัญหาการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และระบบการเตือนภัย, ปัญหาการฟื้นฟูอาชีพ และสวัสดิการ, ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์, ปัญหาการสร้างบ้านพักถาวร และปัญหาเด็ก - เยาวชน


 


"ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภค ที่ปัจจุบันผู้ประสบภัยหลายชุมชน ยังต้องจ่ายค่าน้ำและค่าไฟฟ้าแพงกว่าอัตราทั่วไป เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ในที่ดินที่ยังมีปัญหา รัฐยังสร้างระบบสาธารณูปโภคให้ไม่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นปัญหาของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะปัญหาคนไทยพลัดถิ่น ที่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติอยู่จนถึงขณะนี้" นายไมตรี กล่าว


 


นายภควินท์ แสงคง ผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคนไทยพลัดถิ่นประมาณ 20,000 คน อยู่ในจังหวัดระนอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร โดยไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการและการดูแลจากรัฐ ทั้งที่เป็นคนไทย เพราะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เนื่องจากบรรพบุรุษอยู่บริเวณชายแดนฝั่งพม่า และพม่าไม่ยอมให้สัญชาติ ขณะที่รัฐไทยเอง ก็ยังไม่พยายามเข้าไปช่วยเหลือให้สัญชาติไทยกับคนไทยกลุ่มนี้ เมื่อเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้คนไทยกลุ่มนี้ มีปัญหามากที่สุดในทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย


 


"เมื่อไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เด็กที่เรียนหนังสือทางกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่รับรองวุฒิการศึกษาให้ เข้าไปทำงานโรงงานหรือในบริษัทก็ไม่ได้ เมื่อป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากกว่าคนไทยทั่วไป สวัสดิการหลายอย่างที่ควรได้รับก็ไม่ได้รับ" นายภควินท์ กล่าว


 


นายภควินท์ เปิดเผยอีกว่า ทางโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ภาคใต้ จึงได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จึงมีโครงการจะสำรวจข้อมูลคนไทยพลัดถิ่น จัดเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล จากนั้นจะทำบัตรประจำตัวผู้ขึ้นทะเบียนสำรวจไว้ เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทุกฝ่ายสามารถสืบค้นข้อมูลบุคคลคนไทยพลัดถิ่นจากฐานข้อมูลนี้ได้ ถ้ารัฐบาลยอมรับก็สามารถนำฐานข้อมูลตรงนี้ไปใช้ได้ทันที ขณะนี้ทางโครงการฯ ได้สำรวจข้อมูลไปแล้วประมาณ 50% คาดว่ากลางปี 2549 คน จะเริ่มทยอยออกบัตรประจำตัวผู้ขึ้นทะเบียนสำรวจได้


 


นายภควินท์ เปิดเผยด้วยว่า บัตรประจำตัวผู้ขึ้นทะเบียนสำรวจ จะมีหมายเลข 13 หลัก มีประธานเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น 3 จังหวัด และบุคคลที่เกี่ยวข้องลงนามรับรอง  ข้อมูลนี้สามารถยืนยันความเป็นคนไทย จากทะเบียนที่ขึ้นไว้ ซึ่งบอกระบุความเป็นมาของตระกูล ครอบครัว และบุคคล เหมือนกับทะเบียนราษฏร์


 


"ปัญหาทั้งหมดนี้ จะมีการหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ในงานครบรอบ 1 ปีสึนามิ เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไข" นายภควินท์ กล่าว


 


นางรจนา แพรศรีทอง เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านเด็ก มูลนิธิดวงประทีป เปิดเผยว่า ในการนำเสนอด้านเด็กและเยาวชนในงานครบรอบ 1 ปีสึนามิ จะแยกประเด็นออกมาให้เห็นว่า ปัญหาต่างๆ ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องทุนการศึกษา ที่ขณะนี้ยังมีนักเรียนที่ประสบภัย ยังไม่ได้รับทุนการศึกษาอีกมาก รวมถึงปัญหายาเสพติดที่ถูกปล่อยปละละเลย ปัญหาเรื่องสิทธิเด็ก เป็นต้น


 


นางปรีดา คงเเป้น เลขาธิการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า หลังจากเครือข่ายต่างๆ นำเสนอปัญหาที่ตัวเองยังคงประสบอยู่แล้วเสร็จ จะมีการจัดทำปฏิญญาร่วมเพื่อแสดงให้ประชาชนทั้งประเทศ รับรู้ว่า ปัญหาต่างๆ ของผู้ประสบภัยสึนามิยังไม่จบ รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ จากนั้นทางเครือข่ายผู้ประสบภัยทั้ง 6 จังหวัด จะเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ลุล่วงต่อไป


 


นางปรีดา กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในการนำเสนอข้อมูล แยกเป็น การนำเสนอปัญหาและการฟื้นฟูในระดับชุมชน จากนั้น นำเสนอปัญหาและการฟื้นฟูในระดับจังหวัด ตามด้วยนำเสนอภาพรวมของปัญหาและการฟื้นฟูของทั้ง 6 จังหวัด ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพื้นที่ และนิทรรศการ


 


 กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net