Skip to main content
sharethis


                                


1.


สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง


 


สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง


มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


ไม่มีอะไรคงทนถาวร เป็นอนิจจัง อยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์


ยุคสมัยก็มีความเป็นอนิจจัง มียุคอารยธรรมกรีก ยุคอารยธรรมโรมัน ยุคจักรวรรดิอังกฤษ แล้วก็ต่างหมดยุคไป


การเมืองก็เป็นอนิจจัง เราเคยมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรามีระบบที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองแล้วก็หมดยุคสมัยไป เสร็จแล้วเราก็มาถึงยุคที่ทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ที่เรียกกันว่า "ธนกิจการเมือง" (Money Politics) หรือการเมืองธนกิจ แต่ก็เช่นเดียวกับยุคต่างๆ ยุคการเมืองธนกิจก็จะต้องปิดตัวลง และมียุคอื่นเข้ามาแทนที่


พวกเราทั้งปวงควรจะเรียนรู้ให้เข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ แม้วิกฤตก็ขอให้วิกฤตนำไปสู่ปัญญาของมวลชน ไม่เป็นเพียงอารมณ์ ปัญญาจะทำให้วิกฤตเป็นโอกาส โอกาสกำลังอยู่ต่อหน้าสังคมไทยแล้วที่จะสร้างการเมืองยุคใหม่


 


2.


บาปกรรม 1o ประการ


ของการเมืองธนกิจ


 


แม้มีการใช้เงินกันมาในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แต่ต้องถือว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมกราคม 2544 มีการรวมตัวกันของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง เพราะธรรมชาติของการใช้ทุนขนาดใหญ่ และนิสัยความเคยชินจากการหากินกับธุรกิจการเงินแบบสีเทา เช่นให้สินบาทคาดสินบนกันมาก่อน เมื่อเข้ามายึดอำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมือง จึงหนีไม่พ้นที่จะเกิดบาปกรรมต่างๆ


ที่จริงบาปกรรมที่ธนกิจการเมืองก่อให้เกิดขึ้นมีเป็นเอนกอนันต์ ขอให้ไปนับกันเอาเอง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงบาปกรรมเพียง 1o ประการ ของการเมืองธนกิจ คือ


 


(1) คอร์รัปชั่นมโหฬาร เพราะต้องลงทุนไปมาก ก็ต้องถอนทุนมากและหากำไรมาก มีผู้กล่าวถึงคอร์รัปชั่นนานาชนิด เช่น คอร์รัปชั่นครบวงจรบ้าง คอร์รัปชั่นบูรณาการบ้าง คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายบ้าง คอร์รัปชั่นอันวิจิตรบ้าง คอร์รัปชั่นถูกกฎหมายบ้าง โกงทั้งโคตรบ้าง ฯลฯ การจะหวังให้เสือกินมังสวิรัติไม่ได้ ฉันใด การจะหวังให้ธนกิจการเมืองเว้นขาดจากคอร์รัปชั่นย่อมเป็นไม่ได้ ฉันนั้น


(2) คบมิตรผู้นำบาปมาให้ (บาปมิตร) ความอาภัพของการมีอำนาจอย่างหนึ่งคือคนดีจะหนีห่าง คนชั่วจะเข้ามาแวดล้อม ที่เรียกว่าเกิดขันทีซิย์นโดรมขึ้น พวกขันทีจะกันผู้มีอำนาจจากความจริง ให้ข้อมูลที่ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้ความจริงก็เสื่อมจากปัญญา คนได้อำนาจมาแบบนี้ลึกๆ แล้วขาดความมั่นคงในจิตใจ มีความกลัว จึงเล่นพรรคเล่นพวกสูง เอาวงศาคณาญาติ เพื่อนร่วมรุ่น คนรับใช้ ลูกจ้าง ข้าเก่าเต่าเลี้ยง เข้าสู่ตำแหน่งหรือรับผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งล้วนทำให้เกิดความเสื่อม


(3) สร้างความมืดให้สังคม-แทรกแซงการสื่อสาร ความไม่ถูกต้องจะกลัวความจริง ผู้เผด็จการทุกรูปแบบไม่ต้องการให้สังคมรู้ความจริง จึงชอบแทรกแซงการสื่อสาร ที่จริงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่พวกธนกิจการเมืองก็มาจากวงการธุรกิจการสื่อสาร ควรรู้ว่าหากมีการสื่อสารที่ดีให้คนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง ประเทศจะเจริญอย่างรวดเร็ว แทนที่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 4o ที่จะทำให้การสื่อสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด กลับปล่อยให้มีการแย่งผลประโยชน์กันจนเละ


การพยายามปิดปากสื่อกลับให้ผลร้าย เพราะประชาชนจะไปใช้การสื่อสารจากปากต่อปากที่เรียกว่า words of mouth ก่อความเสียหายอย่างแก้ไขไม่ได้เลย บุคคลสำคัญบางคนสื่อไม่เคยลงทางร้ายเลย ก็มีการเล่าลือในทางเสียหายโดยจับมือใครดมไม่ได้เลย ใครมาเป็นรัฐบาลต่อไปควรจะรู้ว่า "ไม่มีฝ่ามือใดใหญ่พอที่จะปิดฟ้าและดินได้" ควรส่งเสริมการสื่อสารให้คนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง


(4) ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่หวังจะปฏิรูปการเมือง ได้บัญญัติองค์กรอิสระต่างๆ เป็นอันมาก เพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจ เพื่อให้การเมืองมีความบริสุทธิ์ขึ้น ได้บัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐในหมวดที่ 5 อันเป็นเรื่องดีๆ เป็นอันมาก เช่น


ม.76 "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ"


ม.77 "รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง..."


ม.79 รัฐต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม


คำถามก็คือว่า ธนกิจการเมืองได้พยายามทำสิ่งดีๆ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือทำตรงกันข้าม เช่น เข้าแทรกแซงองค์กรอิสระจนหมดสภาพ ทำให้การปฏิรูปการเมืองเป็นหมัน เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น


(5) ไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการเมืองของพลเมือง เพราะผู้เขียนรู้ดีว่าลำพังการเมืองของนักการเมืองไปไม่รอด สิ่งที่จะช่วยให้การเมืองมีคุณภาพคือการเมืองของพลเมือง จึงได้บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนบ้าง เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบอำนาจรัฐ (มาตรา 76 ข้างบน) ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (มาตรา 79 ข้างบน) ธนกิจการเมืองต้องการรวบอำนาจ มากกว่าต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน


(6) ขาดความเคารพและความจริงใจต่อประชาชน ธุรกิจการเมืองจะเก่งในการสร้างภาพ ในการใช้การตลาด การสร้างภาพและการตลาดถ้าปราศจากความสุจริตใจจะเป็นการหลอกให้งง หรือทำให้หลงทาง หรือเกิดโมหคติได้


(7) มีความโน้มเอียงไปในการใช้ความรุนแรง คนมีเงินมากจะรู้สึกมีอำนาจมาก ถ้าใครขัดใจก็จะโกรธ พระจึงว่าโลภะนำมาซึ่งโทสะ เมื่อโทสะแล้วก็จะใช้ความรุนแรง ดังที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไปประท้วงโครงการขนาดใหญ่ถูกฆาตกรรมไปหลายคนแล้วโดยจับตัวฆาตกรไม่ได้ มีการอุ้มฆ่า จนไฟใต้ลุกลาม การใช้ความรุนแรงถ้าไม่ยุติจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ


(8) ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นไปในทาง "เงินใหญ่" หรือ Big Money ไม่ใช่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ธนกิจการเมืองชอบทางวัตถุนิยมหรูหราฟุ่มเฟือย เมกะโปรเจ็คต์ เอฟทีเอ เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเสียงติฉินนินทากันทั่วไปว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ จะได้กินคำใหญ่ๆ และโดยที่วงศาคณาญาติของธนกิจการเมืองเป็นผู้ประกอบธุรกิจและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ๆ จึงเกิดความไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองทำโครงการใดหรือมีการปั่นหุ้น ปั่นธุรกิจตัวใดเพื่อญาติวงศ์หรือบริษัทบริวารในเครือหรือไม่เพียงใด มีพ่อค้ารายเล็กกล่าวว่า "มันไปทำเอฟทีเอ การค้าของพวกมันได้ประโยชน์ แต่ผลเสียตกอยู่แก่พวกเรารายเล็กรายน้อย"


พวก "เงินใหญ่" ยากที่จะเข้าใจหรือต้องการเศรษฐกิจพอเพียงอันจะนำมาซึ่งความพอเพียง ความพอดี ความสมดุล และความยั่งยืน ข้อเสียของเศรษฐกิจพอเพียงคือ พวกธนกิจการเมืองหากินได้ยาก


(9) ขาดความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญยิ่งนักและเป็นเป้าหมายของการพัฒนา เพราะความเป็นธรรมทางสังคมก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข การพัฒนาแบบ "เงินใหญ่" จะไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม แก้ความยากจนไม่ได้ เพราะความยากจนเกิดจากการขาดความเป็นธรรมทางสังคม


การพัฒนาแบบ "เงินใหญ่" ยิ่งพัฒนาไปช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยจะถ่างมากขึ้น คนที่อยู่ในฐานะได้เปรียบจะยิ่งเอาเปรียบมากขึ้นและรวยมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่มีถ่างมากขึ้นจะนำไปสู่ปัญหานานาประการ รวมทั้งความรุนแรง เพราะการขาดความสมดุลทางอำนาจ เช่นคนที่มีเงิน 1oo,ooo ล้านบาท กับคนที่เงินบาทเดียวหรือติดลบ มีอำนาจต่างกันมากที่จะเข้าถึงการใช้ทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งรวมถึงกฎหมาย   การขาดความเป็นธรรมทางสังคมจะนำไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคต


(1o) มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิด "โรคอาร์เจนตินา - มาร์กอส" อันทำให้ประเทศล้มละลายไม่มีทางฟื้น "โรคอาเจนตินา - มาร์กอส" เป็นไฉน


ประเทศอาร์เจนตินา มีทรัพยากรธรรมชาติมากและเคยรุ่งเรือง ต่อมานักการเมืองได้ขายสมบัติของชาติไปให้ต่างชาติทำให้ประชาชนยากจนลง ต้องใช้บริการสาธารณูปโภคด้วยราคาแพง เพราะต่างชาติเป็นเจ้าของที่ขูดรีดกำไรไปจากประชาชนชาวอาร์เจนตินา  ที่ประเทศฟิลิปินส์ เมื่อมาร์กอส เป็นประธานาธิบดี นอกจากจะทำการฉ้อราษฏร์บังหลวงยักยอกเอาเงินหลวงไปเป็นของส่วนตัวด้วยจำนวนมากแล้ว ยังสร้างวัฒนธรรมโกงกินไว้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งแม้มาร์กอสจะไปแล้ว วัฒนธรรมการโกงกินนี้ก็ยังสืบต่อมา  ซึ่งเกาะกินประเทศฟิลิปปินส์เสียจนหมดแรง ไม่ฟื้นตัวจนกระทั่งบัดนี้ แม้ประธานธิบดีคอราซอน อะคีโน จะเป็นคนดี และมีประชาชนสนับสนุนมาก แต่ประเทศอ่อนแอจาก "โรคมาร์กอส" มากเกินไป จนยังฟื้นตัวไม่ได้


ประเทศใดเป็น "โรคอาร์เจนตินา - มาร์กอส" จะเป็นความซวยของประเทศอย่างยิ่ง เพราะจะล้มละลายฟื้นตัวไม่ได้ไปนาน คนไทยทั้งปวงจะต้องช่วยกันระวังระไว เอาใจใส่ดูแล อย่าให้ประเทศไทยหลุดเข้าไปเป็น "โรคอาร์เจนตินา - มาร์กอส" เป็นอันขาด


บาปกรรม  1o ประการ นี้ อาจเกิดขึ้นกับประเทศใดๆ ก็ได้ที่ระบบการเมืองเป็นธนกิจการเมือง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำลายอนาคตของประเทศลงอย่างรุนแรง จึงควรที่คนไทยทั้งปวงจะต้องเอาใจใส่ทำความเข้าใจ  ตรวจสอบ ป้องกัน และรักษา เพื่อยุติระบบที่จะสร้างบาปกรรม 1o ประการดังกล่าว


 


3.


"การยึดอำนาจนั้นไม่ยาก แต่หลังจากยึดแล้ว ยากฉิบหาย"


 


ผมมีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมอุดมศึกษาคนหนึ่ง ขณะที่เขาเป็น ผบ.ทบ. วันหนึ่งมาร่วมในงานเลี้ยง


ศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษา ผมได้ยินเขาพูดว่า  "การยึดอำนาจนั้นไม่ยาก แต่หลังจากยึดแล้ว ยากฉิบหาย ผมไม่มีวันทำเด็ดขาด" ผู้กล่าววาทะนี้ชื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ


เมื่อก่อนเมื่อการเมืองไม่ดี ประชาชนที่เกลียดนักการเมืองก็อยากให้กองทัพทำรัฐประหาร เรามีรัฐบาลทหารมานานพอสมควรก็ปรากฏว่าแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้  นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง  กองทัพและสังคมก็ได้เรียนรู้ว่าการยึดอำนาจไม่ยาก แต่การปกครองหรือการบริหารประเทศหลังยึดอำนาจ ยากลำบากมาก จนกระทั่งบัดนี้กองทัพและสังคมก็ไม่มีใครต้องการให้มีการยึดอำนาจโดยกองทัพอีกต่อไป หมดยุคกองทัพยึดอำนาจการเมืองไปแล้ว


ขณะนี้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง กำลังประสบปัญหาอย่างเดียวกัน 


คือ "ยึดอำนาจนั้นไม่ยาก แต่หลังจากยึดแล้ว ยากฉิบหาย" 


ทั้งๆ ที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น แต่ก็จะไม่มีศักยภาพในการแก้ปัญหายาก ๆ เผชิญความขัดแย้งอยู่ทั่วไป หน้าดำคร่ำเครียดเศร้าหมองไปตามๆ กันอย่างน่าสงสาร  เพราะกำลังเผชิญ "ความยากฉิบหาย" หลังการยึดอำนาจ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากๆ แก้ไขไม่ได้ด้วยอำนาจนั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง บาปกรรม 1o ประการของธนกิจการเมืองซึ่งเกิดตามมา ประดุจเงาที่ตามเจ้าของไป ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดสภาวะวิฤต


ผลดีอย่างหนึ่งของสภาวะวิกฤติก็คือ ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทุกฝ่าย เรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องเรียนรู้ได้ยาก ถ้าไม่เกิดขึ้นจริงก็ไม่เข้าใจ สังคมได้เรียนรู้มาก่อนแล้วว่า การที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ ขณะนี้สังคมก็กำลังเรียนรู้ว่า การที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจก็แก้ปัญหาของบ้านเมืองไม่ได้เช่นเดียวกัน


กองทัพเกิดความเบื่อหน่ายและเข็ดหลาบที่จะเข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ฉันใด กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง แล้วต้องประสบความยากลำบากแทบเลือดตากระเด็นและประสบกับความเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ก็น่าจะเกิดความเบื่อหน่ายและเข็ดหลาบได้เช่นเดียวกัน


การแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ การได้เรียนรู้ของทุกฝ่าย ความเบื่อหน่าย และความเข็ดหลาบการดิ้นรนต่อสู้ของประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ จะนำไปสู่การสิ้นสุดของยุคการเมืองธนกิจ


 


 


 


4.


เปิดยุคการเมืองของพลเมือง


 


ในสภาพวิกฤตการเมืองธนกิจในปัจจุบัน มีเสียงเรียกร้องและเคลื่อนไหวต่างๆ มีข่าวว่ามีขบวนการโค่นล้มรัฐบาลบ้าง ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าทำอย่างไร มีการเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจบ้าง มีการเสนอแนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง เพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เปิดช่องให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองได้


การมีการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์และหาทางออกต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี เพราะการเมืองไม่ได้มีแต่การเมืองของนักการเมืองเท่านั้น แต่มีการเมืองของพลเมืองด้วย ยิ่งพลเมืองกัมมันตะ (active) มากเพียงใด ยิ่งช่วยให้การเมืองมีคุณภาพดีขึ้น จึงควรมีการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์และแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์การเมืองธนกิจให้มากขั้นและต่อเนื่อง


ควรมี "กลุ่มรัฐธรรมนูญ" ที่ระดมความคิดกันอย่างจริงจังว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องอย่างไร โดยเฉพาะช่องโหว่ที่เปิดให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเขียนขึ้นใหม่มีประเด็นที่สำคัญๆ อะไร แล้วนำข้อค้นพบมาเปิดเวทีนโยบายสาธารณะให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็น "การเตรียมพร้อมทางรัฐธรรมนูญ" แต่ต้องคิดต่อไปด้วยว่าลำพังรัฐธรรมนูญดีอย่างเดียวถ้านักการเมืองไม่ปฏิบัติจะทำอย่างไร ผู้มีอำนาจมักไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ติดตามดูแลและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตรงนี้แหละที่การเมืองของพลเมืองมีความสำคัญยิ่งนัก


ควรมี "กลุ่มสืบสวนคอร์รัปชั่น" อย่าไปเชื่อว่ารัฐบาลจะสอบสวนตัวเอง ขบวนการประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่นจะมีพลังต่อเมื่อมีกลุ่มสืบสวนคอร์รัปชั่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสืบสวนคอร์รัปชั่น เช่นคุณกล้าณรงค์ จันทิก คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานสืบสวนเช่นคุณประสงค์ วิสุทธิ์และคณะ ควรจะรวมตัวกันเป็น "กลุ่มสืบสวนคอร์รัปชั่น" แล้วเอาผลการสืบสวนมาสู่การเคลื่อนไหวสังคม การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นจึงจะได้ผล


ทั้งหมดนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ เมื่อนักการเมืองไม่ยอมทำตามมาตรานี้ การเมืองของพลเมืองก็ทำกันเอง การเคลื่อนไหวทำตามรัฐธรรมนูญไม่มีความผิดแต่อย่างใด


มหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ ควรจัดเวทีนโยบายสาธารณะ ให้ทุกภาคส่วนได้นำเอาประเด็นนโยบายมาอภิปรายกัน ควรมีเวทีนโยบายสาธารณะให้เต็มแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 76 ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนด้วยสันติวิธี และด้วยการใช้ความรู้ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือการเมืองของพลเมือง จะเปิดทางออกจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองธนกิจ อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน และเป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย


 


5.


อย่าคิดเฉพาะเรื่องตัวบุคคล


ต้องคิดถึงโครงสร้างด้วย


 


ในการทำงานของ กอส. อาจารย์ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ จะบอกพวกเราเสมอๆ ว่าทำอะไรต้องคิดถึง 3 ระดับคือ


·         ระดับบุคคล


·         ระดับโครงการ


·         ระดับวัฒนธรรม


 


ระดับบุคคลนั้น มีผลเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ยั่งยืน ระดับโครงสร้างจะทำให้เกิดความ


ยั่งยืน วัฒนธรรมหมายถึงการเข้าไปสู่ความเคยชิน มีวิถีคิดและวิถีปฏิบัติเป็นอัตโนมัติ การคิดหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองธนกิจ แน่นอนมีเรื่องตัวบุคคลเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์  แต่อย่าคิดแค่ตัวบุคคลเท่านั้น ต้องคิดถึงโครงสร้างพร้อมกันไปด้วย เพราะโครงสร้างกำหนดพฤติกรรมทางสังคม


โครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดคือ "โครงสร้างอันมีองค์สาม" หรือไตรยางค์ อันได้แก่ รัฐ - ธนกิจ - สังคม ซึ่งเขียนเป็นรูปได้ดังนี้








รัฐ







สังคม







ธนกิจ

 

 


 


 


 


 


 


 


 



"โครงสร้างอันมีองค์สาม" หรือไตรยางค์


 


ถ้าโครงสร้างทั้งสามเป็นอิสระ ถ่วงดุล ตรวจสอบ และส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะเกิดความเป็นธรรมทางสังคม


แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบัน กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปยึดอำนาจรัฐ สังคมอ่อนแอและถูกสะกดไม่ให้เติบโต จึงเกิดความพิการทางโครงสร้างซึ่งแสดงเป็นรูปดังข้างล่างนี้


 








   ธนกิจ







สังคม







รัฐ

 

 


 


 


 


 


 



"โครงสร้างพิการ ที่ธนกิจเข้ายึดอำนาจรัฐ สังคมเล็กและถูกทอนกำลัง"


ในโครงสร้างพิการแบบนี้ ความเป็นธรรมทางสังคมเกิดไม่ได้ ในระดับบุคคล อาจจะมีคนดีๆ อยู่ทั้งในภาครัฐ ภาคธนกิจ และภาคสังคม แต่ถ้าโครงสร้างยังพิการแบบนี้ ความเป็นธรรมทางสังคมเกิดไม่ได้ เพราะพลานุภาพแห่งรัฐและพลานุภาพแห่งธนกิจจะดึงดูดทรัพยากรต่างๆ เข้าตัวเองหมด ฉะนั้น ถ้าต้องการเห็นความถูกต้องเป็นธรรม งานเชิงโครงสร้างโดยรวมที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้าง สังคมเข้มแข็ง


หรือสร้างพลานุภาพทางสังคม การเมืองของพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกับสังคมเข้มแข็ง


สังคมเข้มแข็งไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐ หรือศัตรูกับธนกิจ แต่จะช่วยให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมในสัมพันธภาพระหว่างโครงสร้างทั้งสาม ทุกคนและทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในโครงสร้างใด ถ้าต้องการเห็นความถูกต้องเป็นธรรม ควรเข้ามาทำความเข้าใจและสนับสนุนสังคมเข้มแข็ง


ทุนนิยมไม่จำเป็นต้องเป็น ทุนนิยมอนาริยะ (Uncivilized Capitalism) แต่สามารถเป็น ทุนนิยมอาริยะ (Civilized Capitalism) โดยสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ธนกิจไม่ควรเข้าไปยึดอำนาจทางการเมือง เพราะจะทำให้ "โครงสร้างอันมีองค์สาม" เสียดุล ทำให้เกิดบาปกรรมดังกล่าวในตอนที่ 2 และทำให้ทุนนิยมตกอยู่ในสภาพอนาริยะ


สังคมเข้มแข็งประกอบด้วยอะไรบ้าง?


 


6.


ประชาชน + สื่อมวลชน + ความรู้ = สังคมเข้มแข็ง


 


            อำนาจเงินหรือธนานุภาพ ทรงพลานุภาพอย่างยากที่จะมีอะไรต้านทานได้ ทุนนิยมอนาริยะ ชอบไป "เด็ดยอด" สิ่งดีๆ ที่ผู้คนสร้างไว้ ไปเป็นของตนเองโดยใช้อำนาจเงินที่เหนือกว่า ขอยกตัวอย่างซัก 2 ตัวอย่าง ดังต่อไปนี้


ตัวอย่างที่ 1 อาจารย์ระพี สาคริก กับชาวสวนไทยหลายหมื่นคน ได้ใช้เวลาประมาณ 3o ปีที่ผ่านไป พัฒนาการผสมพันธุ์และปลูกกล้วยไม้ จนได้กล้วยไม้ที่สวยงามมีชื่อเสียงระบือไปทั่วโลก เป็นสัมมาชีพของคนไทยจำนวนมากพอสมควร วันหนึ่งมีนายทุนจากต่างชาติว่าจะเอาเงิน 3o,ooo ล้านบาท มาตั้งโรงงานผลิตกล้วยไม้ไทย การที่ท่านอาจารย์ระพี กับชาวสวนพยายามทำกันมานั้นเป็นความวิริยะ อุตสาหะ พากเพียรทำการวิจัย ซึ่งเป็นการสะสมความดี แต่ทุนไม่ต้องมีความดีอะไร แต่เป็นเพราะมีทุนขนาดใหญ่ สามารถที่จะมา "เด็ดยอด" สิ่งดีๆ ที่มีผู้คนสร้างไว้ เรื่องแบบนี้ผู้มีอำนาจมีความโน้มเอียงจะเต็มใจขาย "สมบัติของชาติ" เพราะขนาดเงินมันใหญ่ ประชาชนและสื่อมวลชนต้องรวมตัวกันต่อสู้เท่านั้นจึงจะหยุดยั้งได้ 


ตัวอย่างที่ 2 เมื่อเร็วๆนี้ทุนขนาดใหญ่ที่ผู้คนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับธนกิจการเมือง จะเข้ามาเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์มติชนกว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์อย่างนี้ได้มีผู้คนร่วมสร้างสรรค์กันมามาก จนถือได้ว่าเป็นสมบัติของประชาชน แต่จู่ๆก็มีทุนขนาดใหญ่เข้ามา "เด็ดยอด" แต่ประชาชนก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ป้องกัน ทำให้การเทคโอเวอร์ต้องหยุดยั้งลง


ตัวอย่างทั้งสองนั้นแสดงว่า แม้ทุนจะมีอำนาจมาก แต่สังคมเข้มแข็งมีอำนาจมากกว่า เราอาจเขียนเป็นสมการว่า


ประชาชน + สื่อมวลชน + ความรู้ = สถาบันสังคม


 


กระบวนการประชาชนจะเข้มแข็งต้องเชื่อมโยงกับสื่อมวลชน และต้องเชื่อมโยงกับความรู้ในการทำประเด็นให้ชัดเจน ฉะนั้นความเข้มแข็งทางวิชาการที่จะสนับสนุนกระบวนการทางสังคมจึงมีความสำคัญยิ่ง ทั้งสามประกอบกัน จะทำให้สังคมเข้มแข็ง สังคมควรมีความเป็นสถาบัน สถาบันสังคมควรจะมีเกียรติ มีความรู้ เป็นที่นับถือ สามารถเข้ามากำหนดนโยบายและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ (ตามมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญ)


นักวิชาการน่าจะศึกษารัฐธรรมนูญหมวดที่ 5 ที่ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในนั้นมีแนวนโยบายที่ดีๆ มากทีเดียว แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร นักวิชาการควรจะทำประเด็นนโยบายให้ชัดเจน แล้วนำประเด็นนโยบายไปสู่เวทีนโยบายสาธารณะ


เวทีนโยบายสาธารณะ


จึงเป็นรูปธรรมที่จะเขยื้อนสมการ "ประชาชน+สื่อมวลชน+ความรู้" หรือการเมืองของพลเมือง เพราะจะเป็นที่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจัดเวทีนโยบายสาธารณะให้มากที่สุด สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นสภาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ควรจะจัดเวทีนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและองค์กรอื่นๆ ในการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ


หากเวทีนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดินและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย สังคมก็จะเข้มแข็ง และเป็นเครื่องปรับพฤติกรรมของสังคมให้ไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรม


การเมืองของพลเมืองคือกระบวนการสังคมเข้มแข็ง เป็นกระบวนการทางสันติวิธี เป็นกระบวนการทางปัญญา เป็นกระบวนการทางสังคม เป็นกระบวนการทางศีลธรรมและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาที่จะปิดยุคการเมืองธนกิจ และเปิดยุคการเมืองของพลเมือง


ในขณะที่ภาครัฐมีทรัพยากรใช้มากมาย แต่กระบวนการทางสังคมเกือบไม่มีอะไรสนับสนุนเลย ที่พอมีอยู่บ้าง ก็มักจะถูกรัฐบาลที่นิยมในการที่จะรวมศูนย์อำนาจพยายามลิดรอน


ฉะนั้น ในการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ต้องคำนึงถึงกลไกที่จะสนับสนุนการเมืองของพลเมืองด้วย ควรจะมีสักหมวดหนึ่งโดยเฉพาะที่ว่าด้วยการเมืองของพลเมือง "กลุ่มรัฐธรรมนูญ" ควรลงมือศึกษาตั้งแต่บัดนี้ว่า รัฐธรรมนูญควรบัญญัติอย่างไรในการทำให้การเมืองของพลเมืองเข้มแข็ง ควรจะมีการตั้งกองทุนอิสระเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยใช้งบประมาณประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน กองทุนนี้ใช้เพื่อสนับสนุนการเมืองของพลเมืองตามสมควร


ประชาชน + สื่อมวลชน + ความรู้  


เพื่อเคลื่อนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามหมวด 5  ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ๆ แต่ทำได้ยากโดยปราศจาการเมืองของพลเมืองที่สร้างสรรค์


รัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการเมืองของพลเมืองก็อาจออกพระราชบัญญัติตั้งกองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้


คนมีเงินที่อยากเห็นกระบวนการทางสังคมเข้มแข็ง ก็อาจตั้งกองทุนหรือตั้งมูลนิธิสนับสนุนสังคมเข้มแข็งได้


ต่อเมื่อสังคมเข้มแข็ง หรือมีความเป็นสถาบันของภาคสังคมเท่านั้น บ้านเมืองจึงจะเข้ารูปเข้ารอย เกิดความถูกต้องเป็นธรรมและสันติสุข


 


7.


สรุป


 


การเมืองมีความเป็นอนิจจัง เช่นเดียวกับสรรพสิ่ง


มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพื่อหาความลงตัวในยุคสมัยต่างๆ จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้ามช่วงสั้นๆ ของคณะราษฏร์มาเป็นกองทัพเข้ามายึดอำนาจการเมือง และเข้ามาสู่ยุคกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองที่เรียกกันว่า ธนกิจการเมือง (Money Politics) แม้มีข้อดีบางอย่าง แต่เทียบกันไม่ได้เลยกับความไม่ถูกต้องที่ธนกิจการเมืองสร้างขึ้น


ในสังคมที่ซับซ้อนเยี่ยงปัจจุบันมีปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยอำนาจไม่ว่าอำนาจของกองทัพ หรืออำนาจของธนกิจ การยึดอำนาจนั้นไม่ยาก  แต่หลังจากยึดแล้ว การที่จะบริหารประเทศเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้นั้นยากจนเลือดตาแทบกระเด็น กองทัพได้เรียนรู้จนเข็ดหลาบไม่อยากทำรัฐประหารอีก สังคมก็ได้เรียนรู้เช่นเดียวกัน จึงไม่เรียกร้องให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจอีก


เมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามายึดอำนาจการเมือง ก็กำลังประสบปัญหาความยากลำบาก เช่นเดียวกับที่กองทัพประสบและกำลังเกิดวิกฤตอยู่ทั่วไป


การเมืองไม่ได้มีแต่การเมืองของนักการเมืองเท่านั้น แต่มีการเมืองของพลเมืองด้วย รัฐธรรมนูญปัจจุบันสนับสนุนการเมืองของพลเมือง หากการเมืองของพลเมืองเข้มแข็งจะทำให้การเมืองของนักการเมืองดีขั้น


ภาคประชาชนร่วมกับสื่อมวลชนร่วมกับนักวิชาการควรจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวในการกำหนดนโยบายและในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญ


การจัดให้มีเวทีนโยบายสาธารณะเป็นรูปธรรมที่ประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานโยบายและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากมีเวทีนโยบายสาธารณะในเรื่องต่างๆ และระดับต่างๆ ให้เต็มแผ่นดิน และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ก็จะเป็นกระบวนการสังคมเข้มแข็ง ต่อเมื่อสังคมเข้มแข็งเท่านั้น บ้านเมืองจึงจะเข้ารูปเข้าร้อย เกิดความถูกต้อง เป็นธรรม และสันติสุข


ในวิกฤตการณ์การเมืองธนกิจในปัจจุบัน หากการเมืองของพลเมืองเข้มแข็ง จะพบทางออกอย่างน่าอัศจรรย์ ภายใต้กรอบประชาธิปไตย


ทุกฝ่ายจึงควรสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน+สื่อมวลชน+ความรู้ เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ปัจจุบัน และสร้างสรรค์การเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต บัดนี้ถึงเวลา


ปิดยุคการเมืองธนกิจ


เปิดยุคการเมืองของพลเมือง          


  กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net