Skip to main content
sharethis

ประชาไทคัดสรร-16 ธ.ค. 48           ผลศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ไทยได้มากกว่าเสีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และไทยควรกำหนดท่าทีในการเจรจาบนพื้นฐานของการเจรจาในระดับอาเซียน+1


 


ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการศึกษาผลกระทบและการกำหนดท่าทีไทยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก หรือ (เขตการค้าเสรีอาเซียน+3 คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) โดยได้นำออกเผยแพร่ต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


 


ผลการศึกษาพบว่า ผลกระทบต่อประเทศไทยในภาพรวมต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรเปิดเสรีสินค้าทั้งหมดพร้อมกัน เว้นแต่สินค้าที่ได้เจรจากับแต่ละประเทศในกลุ่ม+ 3 จนบรรลุข้อตกลงแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงที่การเจรจาข้อตกลงดังกล่าว อาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากมีแนวโน้มการเกิดข้อขัดแย้งเชิงผลประโยชน์


 


จากการศึกษาระบุอีกว่า หากมีการทำการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ภาพรวมในระดับมหภาคผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของไทย จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวของค่าใช้จ่ายในการบริโภคของภาคเอกชน


 


ด้านดุลการค้า ไทยจะมีแนวโน้มในการได้ดุลการค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ยกเว้นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี


 


สำหรับมูลค่าสินค้าของประเทศไทยทั้งนำเข้าและส่งออก จะมีแนวโน้มระดับราคาสูงขึ้นด้วย และเมื่อพิจารณาในระดับของหน่วยเศรษฐกิจ จะพบว่ามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของภาคอุตสาหกรรม และระดับราคาของสินค้าสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม


 


นายสมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า ท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาควรพิจารณาบนพื้นฐานของการเจรจาในระดับอาเซียน+1 ซึ่งหมายความถึงการเจรจาบนพื้นฐานของการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ และไทยไม่ควรกำหนดท่าทีที่จะดำเนินการในเชิงรุก แต่ควรเป็นในลักษณะรับ หรือ Defensive Strtegy โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียระหว่างการเปิดเสรี และผลกระทบที่จะตามมาจากการเปิดเสรี เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยมีทิศทางการพัฒนาไปสู่ระบบการแข่งขันเสรีในอนาคตอยู่แล้ว การเจรจาควรทำเป็นรายอุตสาหกรรมไป และพิจารณาเป็นรายกรณี


 


ส่วนข้อสรุปการศึกษานี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำเสนอให้กับกรมเจรจาการค้าภายในเดือนนี้ (ธ.ค.) หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะได้ใช้เป็นคู่มือในการเจรจาต่อไป


 


นายจารึก สิงหปรีชา ผู้วิจัยโครงการศึกษาผลกระทบและการกำหนดท่าทีไทยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก


 


แต่ในภาพรวมแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้รับจะเฉลี่ยในประเทศสมาชิก ในส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในแง่ลบ รัฐบาลต้องชดเชย ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยกำลังมีปัญหาอยู่คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ ที่มีอยู่ สำหรับอุตสาหกรรมที่จะต้องระมัดระวังมากคือ อุตสาหกรรมที่ต้องแข่งขันกับประเทศจีน เพราะจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net