Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดว่านักวิชาการเรามักจะเข้าใจว่าหมายถึงคนที่มีความรู้และจะต้องเป็นความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากการศึกษาในระบบหรือมาจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการจึงเป็นผู้ที่อ้างว่าตนเองมีความรู้ และสังคมก็เชื่อว่ามีความรู้ และความรู้ที่ว่านั้นก็ต้องเป็นความรู้ที่อ้างกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้นักวิชาการมีอิทธิพลมากทั้งในด้านบวกและในด้านลบ


 


แท้ที่จริงแล้วคำว่า "นักวิชาการ" นั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้แต่เพียงว่า "นักวิชาการ น. ผู้เชี่ยวชาญในวิชาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา" เท่านั้น


 


คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่านักวิชาการจะมีอยู่มากที่สุดในมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงแล้วจะอยู่ในระบบราชการเสียมากกว่าอาทิกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มีนักวิชาการของตนเองทั้งสิ้น รวมทั้งนักวิชาการที่อยู่ในสายของนักวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ที่เราเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา


 


ความเป็นมาของนักวิชาการนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะเราเริ่มมีนักวิชาการไปเรียนเมืองนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศตะวันตกและคนกลุ่มนั้นก็มียศ มีศักดิ์รองรับสถานะเดิมอยู่แล้ว เมื่อจบการศึกษาจากเมืองนอกเมืองนามาเวลาพูดจาอะไรก็น่าเชื่อว่าจะเป็นที่เชื่อถือได้


 


นักวิชาการไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกแต่เป็นตะวันตกที่คับแคบ เพราะเราไปเรียนเฉพาะเรื่องเฉพาะราวมาและผูกติดกับคำที่เรียกว่าระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ใครจะมาเป็นนักวิชาการจะพูดให้คนอื่นเชื่อถือ มีความศักดิ์สิทธิ์ก็จะต้องกล่าวอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์โดยมีความเชื่อตามแบบฝรั่งว่า วิทยาศาสตร์ต้องเป็นตัวนำ ซึ่งความเป็นจริงแล้วความเป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นได้ทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ทางสังคม แต่เรามักไปเน้นที่เอาวิทยาศาสตร์มาใช้ทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เท่านั้น


 


เมื่อนำมาไม่ครบ หรือนำมาเป็นส่วนๆจึงเกิดลักษณะที่นิยมชมชอบวิชาของตัวเอง เอาหรือยึดวิชาของตนเป็นใหญ่และในการยึดวิทยาศาสตร์เป็นหลักนั้นจริงๆ แล้วในตัวของวิทยาศาสตร์เองก็มีปัญหาหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์เองตอบไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ความเจ็บปวด ความเศร้า ความรัก ความทะเยอทะยาน ความหวัง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้หรือใช้ระบบการทดลองไม่ได้


 


ฉะนั้น จึงมีปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า การแสวงหาภูมิปัญญาความรู้อื่นๆ ที่เป็นภูมิปัญญาความรู้นอกวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ได้ใช้ระบบคิดและระบบวิธีทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกี่ยวกับสมุนไพร การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพยากร ฯลฯ เกิดขึ้น


 


การที่เราตามแบบอย่างตะวันตก ทำให้เราต้องมีโรงเรียน ต้องมีมหาวิทยาลัย จึงทำให้ชาวประมง ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการประมงอย่างแท้จริงหรือชาวป่าชาวดอยที่เชี่ยวชาญด้านป่าไม้จึงมิได้เป็นนักวิชาการตามความหมายที่เราเข้าใจกัน ฯลฯเพราะเราไปมองว่าคนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย คือคนที่ไม่ใช่นักวิชาการ              


 


ปัญหามันเกิดขึ้นก็เพราะว่าเราไปยอมจำนนต่อความรู้ความคิดของฝรั่ง เราไปหลงเชื่อฝรั่งว่าประเทศเราด้อยพัฒนา แต่ก็อย่างว่ามันก็น่าเชื่ออยู่หรอกเพราะเมื่อมองไปที่ฝรั่งก็พบว่าฝรั่งมีอำนาจไปทั่วโลก ฉะนั้น เมื่อเขาบอกว่าถ้าเราอยากเป็นอย่างเขา เราต้องทำตัวเหมือนกับเขา เช่น จะต้องมีการวางแผนการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานเสียก่อนซึ่งก็ได้แก่ ถนน เขื่อน โรงไฟฟ้า ระบบการสื่อสารคมนาคมทั้งหลาย ฯลฯ คุณจะต้องมีน้ำ คุณจะต้องมีไฟฟ้า ฉะนั้นคุณจะต้องสร้างเขื่อน เราจึงมีเขื่อนเกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศโดยไม่จำเป็น


 


อย่างไรก็ตามการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่นักวิชาการสรรค์สร้างขึ้นจะไปยุติที่การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วน่าจะนำเอาข้อมูลมาประมวลแล้วตัดสินใจ แต่บังเอิญที่ผ่านๆ มาการตัดสินใจมันเป็นไปในทิศทาง "ขาดทุน/กำไร" ที่สำคัญก็คือโครงการต่างๆ มักจะมีการตัดสินใจล่วงหน้ามาก่อนแล้ว แล้วจึงได้มาศึกษาความเป็นไปได้หรือทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการทำกันลวกๆ เพราะเหตุว่าทำไปก็ไม่มีผลอะไร เพราะว่ามันได้มีการตัดสินใจไปแล้ว


 


จากผลพวงดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ธรรมชาติถูกทำลาย สังคมพังพินาศ ชนบทล่มสลาย ป่าไม้ก็ถูกกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯเข้าไปถือครอง น้ำก็ถูกกรมชลประทานเอาไป ที่ดินก็ถูกกรมที่ดินหรือกรมพัฒนาที่ดินเอาไป ทุกอย่างถูกแยกออกไปหมด ประชาชนจึงเหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา คนจะจนหรือไม่จนก็ต้องเอาเส้นแห่งความยากจนมาขีดเส้น แล้วทุกคนต้องตะเกียกตะกายทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อเอาเงินอย่างเดียวซึ่งก็รวมถึงนักวิชาการด้วย               


 


แต่เดิมวิชาการของไทยเราสมัยก่อนจะเรียนอะไรต้องไหว้ครู ต้องรู้ว่าทำอันนี้เพื่อจะเป็นประโยชน์ ซึ่งตัวนี้ก็คือจรรยาบรรณ แต่นักวิชาการสมัยใหม่ขาดสิ่งเหล่านี้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเงินเราถูกกำหนดด้วยระบบทุนนิยม จึงไม่แปลกใจที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งจะขายความรู้ ขายเทคนิค ขายแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า "การขายตัว"


 


ดังที่กล่าวมาแล้วว่าบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในระบบราชการ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเองก็ตามก็ยังคงความเป็นราชการหรือความเป็นหน่วยงานของรัฐแม้ว่าจะออกนอกระบบไปแล้วก็ตามและบรรดานักวิชาการต่างๆเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วก็มักไปเป็นมือปืนรับจ้างให้แก่บริษัทที่ปรึกษาของเอกชนเป็นการหารายได้เพิ่มเติมหรือแม้แต่การเข้าไปสนองอำนาจทางการเมือง


 


การหารายได้หรือการเสาะแสวงหาอำนาจทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะต้องถูกตำหนิแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการนำความรู้ไปใช้แล้วก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อสังคมต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมจะต้องตั้งคำถามต่อนักวิชาการเหล่านั้น


 


ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการกดดันให้นักวิชาการทบทวนสิ่งที่ตัวเรียนมาว่ามันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไร ประเด็นก็คือว่า เราจะควบคุมเรื่องของศีลธรรม จริยธรรมของนักวิชาการได้อย่างไร สภาพที่เห็นว่าน่ายินดีก็คือปัจจุบันนี้เรามีความเคลื่อนไหวของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งและประชาชนข้างล่าง ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกระทบมาโดยตลอด เขาเริ่มจะลุกขึ้นมาถามว่าเขื่อนไม่ดี โครงการขายโรงไฟฟ้าไม่เป็นธรรม จนแม้ล่าสุดมีการเดิน "ธรรมชาติยาตรา" ส นับสนุนร่าง พรบ.ป่าชุมชนฯที่เสนอโดยภาคประชาชนจากเชียงใหม่จนถึงกรุงเทพฯ


 


เราต้องนำเรื่องที่เคยถกเถียงกัน เรื่องที่เคยปิดลับ โครงการต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยนักวิชาการจะต้องถูกทำให้เป็นเรื่องที่เปิดเผย เป็นเรื่องโปร่งใส สว่าง และเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาโต้แย้งกับข้อมูลของทางราชการ ซึ่งจะเป็นตัวที่คอยควบคุมจริยธรรมของนักวิชาการได้ดีที่สุด


 


การเป็นนักวิชาการที่แท้จริงนั้นมิใช่การมีตำแหน่งทางวิชาการ ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โต หรือเก่งเฉพาะในเรื่องเทคนิคซึ่งหมายความรวมถึงทั้งเทคนิคทางวิทยาศาสตร์แท้ๆ(pure science)และวิทยาศาสตร์ทางสังคม (social science)ซึ่งครอบคลุมถึงเทคนิคทางกฎหมายหรือเทคนิคทางการเมืองด้วย แต่จะต้องเก่งในเรื่องการสร้างสรรค์ความร่มเย็นให้แก่มวลมนุษยชาติ เพราะแท้จริงแล้ววิชาการทุกสาขาล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์สังคมมนุษย์


 


ฉะนั้น การสรรค์สร้างผลงานที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเป็นธรรมของสังคมจึงควรเป็นมาตรวัดผลงานของผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการที่แท้จริงหรือเป็นนักวิชาการแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net